โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีชื่อเดิมว่า “โรงพยาบาลตาก” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตาก หลักกิโลเมตรที่ 420 เลขที่ 16/2 ถนนพหลโยธิน ตำบลระแหง อำเภอเมืองจังหวัดตาก มีพื้นที่ขนาด 30 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา และขึ้นทะเบียนเป็นราชพัสดุ เลขที่ 23793
ในปีพ.ศ.2482 นายหมัง สายชุมอินทร์ ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎร์จังหวัดตากใน
ขณะนั้น มีความริเริ่มที่จะให้มีโรงพยาบาลขึ้นในจังหวัดตาก และทางกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เห็นชอบในหลักการ และให้หาที่ดินไว้เพื่อดำเนินการ เริ่มต้นจึงได้รับบริจาคที่ดินจากนายหมัง สายชุ่มอินทร์ จำนวน 12 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา และจากพระครูรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดตากในขณะนั้น จำนวน 6 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการนายหมัง สายชุมอินทร์ จึงได้บริจาคเงินซื้อที่ดินอีกจำนวนหนึ่งจนรวมได้ทั้งสิ้น 55 ไร่ ซึ่งต่อมาถนนพหลโยธินได้ตัดผ่านที่ดินทางด้านหน้าของโรงพยาบาล จึงทำให้พื้นที่ลดลงคงเหลือพื้นที่เพียง 30 ไร่เศษ เท่าที่มีในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2484 กองโรงพยาบาลภูมิภาค กรมสาธารณสุข ได้อนุมัติเงินก่อสร้างโรงพยาบาลจำนวน 48125 บาท (สี่หมื่นแปดพันหนึ่งร้อยยี่สิบห้าบาทถ้วน) ประกอบด้วย ตึกอำนวยการ 1 หลัง เรือนคนไข้สามัญขนาด 25 เตียง 1 หลัง บ้านพักแพทย์ 1 หลัง บ้านพักพยาบาล 3 หลัง โรงเก็บศพ 1 หลัง โดยได้ลงมือก่อสร้าง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้นเอง ซึ่งในขณะนั้นการก่อสร้างมีความล่าช้าเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมามีผู้บริจาคเงินสร้างเรือนไข้พิเศษขนาด 5 เตียง 1 หลัง และมีผู้บริจาควัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ อีกหลายรายประกอบกันได้รับอนุมัติเงินสร้างหอถังเก็บน้ำฝนเพิ่มเติม จึงสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2487 โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัด (หลวงสกล ผดุงเขตต์) เป็นประธาน และมีนายแพทย์ยรรยง เลาหะจินดา ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี
เรือนคนไข้สามัญหลังแรก ปี พ.ศ.2484
ตึกอำนวยการหลังแรก (เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2485 – สิงหาคม พ.ศ.2502)
โรงพยาบาลตากในขณะนั้น สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียง คือ กำแพงเพชร สุโขทัย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงอำเภอเถิน จังหวัดลำปางด้วย จึงทำให้ต้องมีการขยายและปรับปรุงอาคารเรือนไข้ให้เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของประชาชนผู้มารับบริการ ในปี พ.ศ.2502 ได้ต่อเติมตึกอำนวยการเป็นสองชั้นพร้อมทั้งขยายให้กว้างขึ้น โดยใช้เงินงบประมาณและเงินบริจาค เป็นเงินประมาณ 47,000 บาท (สี่หมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) ขณะนั้นโรงพยาบาลสามารถรับผู้ป่วยได้ 100 เตียง
ตึกอำนวยการหลังที่สอง (ปี พ.ศ.2527)
โรงพยาบาลตาก…มองจากถนนพหลโยธินด้านหน้าโรงพยาบาล เมื่อปี พ.ศ.2510
ความทรงจำ…ในโอกาสเลี้ยงส่ง นพ.ธงชัย – คุณโอปอ เดชกำแหง ที่หน้าตึกอำนวยการราวปี พ.ศ.2505
ส่วนหนึ่งของบุคลากรโรงพยาบาลตาก
ในระยะบุกเบิกประกอบด้วย
– นพ.ปรีชา ตันติเวส ผู้อำนวยการฯ
(แถวล่าง ยืนกลาง)
– นพ.ธงชัย เดชกำแหง
(แถวล่าง ยืนขวา)
– นพ.ถนอม เหล่ารักพงศ์
(แถวล่าง ยืนซ้าย)
– คุณพิศวาส วงษ์เสรี (ตันติเสส)
(แถวบน ขวาสุด)
– คุณสาลี่ สายเปีย (หล้อแหลม)
(แถวบน ซ้ายสุด)
บรรยากาศตึกอำนวยการในอดีต…ผ่านมุมมองต่างวันเวลา
นอกจากจะขยายตึกอำนวยการให้กว้างขวางขึ้นแล้ว ต่อมาโรงพยาบาลตากยังได้รับงบประมาณและเงินบริจาค เพื่อก่อสร้างอาคารสถานที่เพิ่มมากขึ้น ดังลำดับต่อไปนี้
พ.ศ.2509
– ทำการก่อสร้างบ้านพักพยาบาลขนาด 6 ห้อง 1 หลัง, ตึกเก็บศพ 1 หลัง ด้วยเงิน งบประมาณ จำนวน 200,000 บาท
– บริษัท ป่าไม้จังหวัดตาก จำกัด บริจาคเงินก่อสร้างตึกศูนย์จ่ายกลาง 1 หลัง ด้วยเงินงบประมาณ 150,000 บาท
พ.ศ.2510
– ทำการก่อสร้างตึกสูติกรรม 1 หลัง, ตึกพยาธิวิทยา 1 หลัง ด้วยเงินงบประมาณ จำนวน 750,000 บาท และเงินบริจาค จำนวน 211,100 บาท
– ซื้อเครื่องปรับอากาศสำหรับตึกสูติกรรม 2 เครื่อง เป็นเงิน 20,000 บาท
ตึกพยาธิวิทยาเมื่อปี พ.ศ.2510-2535 ภายหลังปรับปรุงเป็นงานแพทย์แผนไทยฯ เมื่อปี พ.ศ.2545-2556 และต่อมารื้อถอนในปี พ.ศ.2556 เพื่อก่อสร้างอาคารผ่าตัด ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ 7 ชั้น
พ.ศ.2511
– ก่อสร้างบ้านพักชั้นโท 1 หลัง ด้วยเงินงบประมาณ 60,000 บาท
– ซ่อมแซมอาคารบำบัดรักษาและบ้านพัก เจ้าหน้าที่ด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาลประมาณ 100,000 บาท
พ.ศ.2512
– รื้อตึกบัวผัด ก่อสร้างตึกผ่าตัดใหม่ 1 หลัง, โรงครัวและโรงอาหาร 1 หลัง โรงซักฟอก 1 หลัง ด้วยเงินงบประมาณ เป็นเงิน 400,000 บาท
– สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริจาคเงินสมทบในการก่อสร้างตึกผ่าตัดและจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นเงิน 110,000 บาท
ก่อสร้างโรงช่าง ซึ่งรวมทั้งช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ชั้นบนทำเป็นที่พักคนงาน 4 ห้อง ด้วยเงินบำรุง 60,000 บาท
ตึกผ่าตัดหลังแรก ก่อนปี พ.ศ.2512 หลังจากนั้นได้ใช้เป็นอาคารรับบริจาคโลหิตและคลังโลหิตต่อจนถึงปี พ.ศ.2528
ตึกผ่าตัดหลังที่สอง เมื่อปี พ.ศ.2512 – 2530 ต่อมาปรับปรุงเป็นงานห้องผู้ป่วยหนัก ระหว่างปี พ.ศ.2533 – 2541 ก่อนรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารเภสัชกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2541
เรือนบัวผัด ธิยะใจ
ปี พ.ศ.2484 – พ.ศ.2512
(ภาพที่เห็นเป็นอาคารที่ได้รับการ
ดัดแปลงและตกแต่งใหม่แล้ว)
ตึกอ่ำ ธิยะใจ
(ปี พ.ศ.2500 – พ.ศ.2532)
พ.ศ.2513
– ก่อสร้างตึกคนไข้สามัญ ขนาด 50 เตียง 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง ด้วยเงินงบประมาณ 550,000บาท
พ.ศ.2512 – 2516
– นพ.ปรีชา ตันติเวสส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาก ได้หารือกับนายอุดร ตันติสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตากในขณะนั้น ให้ช่วยหางบประมาณจากรัฐบาลเพื่อก่อสร้างตึกคนไข้พิเศษ นายอุดร ตันติสุนทร จึงได้ขอสนับสนุนเงินบริจาคจากสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดตาก จำนวน 70,000 บาท เงินบริจาคจากบริษัท ห้างร้าน ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดตากผู้มีจิตศรัทธาอีกส่วนหนึ่ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,932,360 บาท ก่อสร้างอาคาร ขนาด 33 เตียง 2 ชั้น 1 หลัง โดยใช้แบบของกองสุขาภิบาล กรมอนามัย แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2516 และใช้ชื่อว่า “ตึกพิเศษสลาก”
ตึกพิเศษสลาก (ปี พ.ศ.2516 – ปัจจุบัน)
ในปี พ.ศ.2522 มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีความประสงค์จะสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดตากอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแต่กระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นว่า ไม่ควรจัดสร้างขึ้น เพราะมีโรงพยาบาลตาก โรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลบ้านตาก ซึ่งสามารถเปิดให้บริการประชาชนเพียงพอแล้ว จึงเสนอให้มูลนิธิฯ ปรับปรุงโรงพยาบาลตาก พร้อมทั้งยินดีให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตามวัตถุประสงค์ และทางมูลนิธิฯ เห็นชอบด้วย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2522 โรงพยาบาลจึงได้เสนอโครงการปรับปรุงดังนี้
1. สร้างตึกผู้ป่วยนอก 1 หลัง
2. สร้างตึกอุบัติเหตุ 1 หลัง
3. สร้างตึกผู้ป่วยขนาด 250 เตียง 1 หลัง
4. จัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ที่จำเป็น
การก่อสร้างตึกอำนวยการหลังใหม่เมื่อปี พ.ศ.2527 แทนที่ตึกอำนวยการเดิม
มูลนิธิฯ ร่วมกับโรงพยาบาลได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 โดย ฯพณฯ พลเอกสิทธิ จิโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยนั้นและเป็นประธานคณะ กรรมการมูลนิธิฯ เป็นประธานประกอบพิธี พร้อมทั้งได้รับบริจาคเงินเพื่อการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกเป็นเงิน 3,332,676.50 บาท (สามล้านสามแสนสามหมื่นสองพันหกร้อยเจ็ดสิบหกบาทห้าสิบสตางค์) และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2528 พร้อมกันนั้นยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อจาก “โรงพยาบาลตาก” เป็น “โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2528
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกอำนวยการ
เมื่อวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเยี่ยมผู้ป่วยตึกหญิง
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นสักทอง ณ บริเวณด้านข้างตึกอำนวยการ
ตึกอำนวยการ เมื่อปี พ.ศ.2528
โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อปี พ.ศ.2530
ทางด้านงานบริการรักษาพยาบาลแต่เดิมขณะเปิดโรงพยาบาลเมื่อปี พ.ศ.2487 มีจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานน้อยมาก คือ แพทย์ 1 คน พยาบาล 4 คน คนงานบนตึก 3 คน คนงานสนาม 5 คน ไม่มีผู้ช่วยพยาบาล ต้องฝึกหัดคนงานประจำตึกแทน ส่วนพยาบาลต้องทำหน้าที่หลายอย่างตั้งแต่พยาบาลประจำการ พยาบาลดมยาจนกระทั่งเป็นเจ้าหน้าที่ชันสูตร คนงานในสมันนั้นสามารถช่วยให้น้ำเกลือและฉีดยาได้ แพทย์ต้องทำหน้าที่ทันตแพทย์ในบางครั้ง จนต่อมามีการส่งพยาบาลไปศึกษาต่อทางด้านทันตานามัย และเริ่มมีเภสัชกรมาปฏิบัติงาน ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการผลิตและจ่ายยา
พ.ศ.2526 โรงพยาบาลเริ่มมีแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม และในปี พ.ศ.2527 มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาดูแลงานด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งในระยะนี้เริ่มมีการแยกแผนกชัดเจนขึ้นโดยแบ่งเป็น แผนกสูติ – นรีเวชกรรม แผนกศัลยกรรม แผนกอายุรกรรม และกุมารเวชกรรม
พ.ศ.2528 โรงพยาบาลเริ่มเปิดหน่วยงานห้องผู้ป่วยหนัก โดยปรับปรุงใช้สถานที่ห้องพิเศษตึกพิเศษสลากล่าง สามารถรับผู้ป่วยระยะวิกฤติได้ 6 เตียง พร้อมทั้งได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตในระยะวิกฤติหลายชนิด เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้งานด้านการบริการรักษาพยาบาลก้าวหน้ายิ่งขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.2533 – 2541 จึงได้ย้ายงานห้องผู้ป่วยหนักไปอยู่ ณ ตึกผ่าตัดเก่า (หลังที่ 2) และเมื่อถูกรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารเภสัชกรรมในปี พ.ศ.2541 จึงย้ายงานห้องผู้ป่วยหนักกลับมาอยู่ ณ บริเวณตึกพิเศษสลากล่างเช่นเดิมโดยปรับปรุงขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น จนสามารถรับผู้ป่วยระยะวิกฤติเพิ่มเป็น 8 เตียง
พ.ศ.2528 – 2529 ได้ก่อสร้างตึกผ่าตัดใหม่ โดยใช้เงินบำรุงเป้นจำนวน 7 ล้าน 8 แสน บาท ประกอบ ด้วย ห้องผ่าตัด 4ห้อง และชั้นบนจัดทำเป็นห้องสมุดและธนาคารเลือด สามารถให้บริการผู้ป่วยทางด้านศัลยกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2530
พ.ศ.2532 โรงพยาบาลได้รื้อตึกอ่ำ ธิยะใจ ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เพื่อก่อสร้างตึกผู้ป่วย 4 ชั้น จำนวน 120 เตียง โดยใช้ทั้งเงินงบประมาณ เงินมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเงินบริจาค เป็นจำนวน 13 ล้านบาท ภายหลังก่อสร้างแล้วได้ตั้งชื่อว่า “อาคารรวมน้ำใจ” ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยทั้งด้านอายุกรรมและศัลยกรรม ซึ่งแยกเป็นหอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย อายุรกรรมหญิง ศัลยกรรมชาย และศัลยกรรมหญิง โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2534 เป็นต้นมา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2535
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน
ในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเปิดอาคารรวมน้ำใจ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2535
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน
ในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเปิดอาคารรวมน้ำใจ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2535
พ.ศ.2536 มีการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เป็นอาคารขนาด2 ชั้น โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 12,000,000 บาท เพื่อตอบสนองการพัฒนางานบริการอุบัติเหตุและฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ โดยอาคารชั้นล่างเป็นห้องตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องสังเกตอาการและห้องตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา ส่วนชั้นบนเป็นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ธนาคารเลือด และสำนักงานแพทย์ และในปีเดียวกันนี้โรงพยาบาลได้ทำการก่อสร้างอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 970,000 บาท
อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ในปี พ.ศ.2536 (ชั้นบนเป็นสำนักงานแพทย์ และกลุ่มงานพยาธิวิทยาฯ)
ตึกสงฆ์อาพาธ ก่อนปี พ.ศ.2536… ในมุมเงียบสงบ สง่างาม (ก่อนรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
นับจากปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา โรงพยาบาลมีการพัฒนางานบริการเพิ่มมากขึ้นในหลายๆด้านเพื่อให้ครอบคลุมระบบบริการสุขภาพมากขึ้น หน่วยงานสนับสนุนจึงต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาตามไปด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ.2537 จึงมีการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 3 ชั้น คือ “อาคารหน่วยจ่ายกลางและโรงซักฟอก” ด้วยเงินงบประมาณทั้งสิ้น 14,250,000 บาท โดยดัดแปลงพื้นที่ใต้ถุนอาคารเป็นที่จอดรถจักรยานยนต์ และที่ตั้งเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ 2 เครื่อง, ชั้น 2 เป็นหน่วยจ่ายกลาง และหน่วยซักฟอก ส่วนชั้น 3 เป็นหน่วยตัดเย็บ หน่วยจัดเตรียมเสื้อผ้าผู้ป่วยและผ้าสำหรับใช้ภายในโรงพยาบาล เช่น ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ฯลฯ แต่ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนสถานที่โดยงานซักฟอกทั้งหมดย้ายไปอยู่ที่ชั้นใต้ถุน, ชั้น 2 เป็นหน่วยจ่ายกลาง ห้องเวชระเบียนผู้ป่วยใน และงานพัสดุ, ชั้น 3 เป็นสำนักงานแพทย์ กลุ่มการพยาบาล ศูนย์คุณภาพ กลุ่มพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร เวชระเบียนผู้ป่วยในหน่วยจัดเก็บรายได้ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม ส่วนชั้นดาดฟ้าเป็นที่ตากผ้าบางส่วน
ปี พ.ศ.2540 สร้างอาคารพักพยาบาลขนาด 20 ห้อง 3 ชั้น 1 หลัง โดยเงินนอกงบประมาณ จำนวน 4,398,000 บาท เพื่อให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้มีที่พักนอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบผลิตน้ำประปาเพื่อใช้เองภายในโรงพยาบาล โดยสร้างโรงสูบน้ำเพื่อใช้สูบน้ำดิบจากแม่น้ำปิง ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 120,000 บาท พร้อมกับสร้างหอถังเก็บน้ำขนาด 45 ลบ.เมตร เพื่อใช้บรรจุน้ำซึ่งใช้เงินงบประมาณ 380,000 บาท และถังกรองน้ำผิวดิน เพื่อใช้กรองน้ำดิบที่สูบขึ้นมาจากแม่น้ำโดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,600,000 บาท
ปี พ.ศ.2540 สร้างอาคารพักพยาบาลขนาด 20 ห้อง 3 ชั้น 1 หลัง โดยเงินนอกงบประมาณ จำนวน 4,398,000 บาท เพื่อให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้มีที่พักนอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบผลิตน้ำประปาเพื่อใช้เองภายในโรงพยาบาล โดยสร้างโรงสูบน้ำเพื่อใช้สูบน้ำดิบจากแม่น้ำปิง ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 120,000 บาท พร้อมกับสร้างหอถังเก็บน้ำขนาด 45 ลบ.เมตร เพื่อใช้บรรจุน้ำซึ่งใช้เงินงบประมาณ 380,000 บาท และถังกรองน้ำผิวดิน เพื่อใช้กรองน้ำดิบที่สูบขึ้นมาจากแม่น้ำโดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,600,000 บาท
ปี พ.ศ.2541 สร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ชั้น 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารพักผู้ป่วยใน 90 เตียง และห้องคลอด เมื่อแล้วเสร็จตั้งชื่อว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ”โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 51,600,000 บาท ภายในอาคารแบ่งเป็น หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม ศัลยกรรม กระดูกชาย สูติ – นรีเวชกรรม งานห้องคลอด งานฝากครรภ์และวางแผนครอบครัว โดยชั้นใต้ถุนได้ดัดแปลงยกสูงขึ้นจากพื้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ และที่เก็บวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นหน่วยงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก รวมทั้งหน่วยงานบริการสุขภาพชุมชน
อาคารรวมน้ำใจ (พ.ศ.2535)…ข้างไหล่เคียงบ่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ (พ.ศ.2541)
ในปีเดียวกันนี้ ได้มีการก่อสร้างอาคารเภสัชกรรมขนาด 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง แทนที่อาคารหลังเก่าซึ่งใช้เป็นหน่วยงานห้องผู้ป่วยหนัก ด้วยเงินงบประมาณ 18,630,000 บาท นอกจากนี้ได้ก่อสร้างอาคารพักพยาบาลขนาด 32 ยูนิต 5 ชั้น จำนวน 1 หลัง ใช้เงินงบประมาณไปทั้งสิ้น 26,699,000 บาท
นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2541 ยังได้ก่อสร้างเพื่อปรับปรุงหน่วยงานสนับสนุนอีกครั้งหนึ่งคือ ปรับปรุงห้องควบคุมเตาเผาขยะซึ่งเดิมสร้างไว้ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อใช้เก็บควบคุมและเผาขยะโดยใช้งบประมาณ 2,680,000 บาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2541 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2542 แต่ต่อมาได้งดใช้เตาเผาขยะตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เนื่องจากก่อมลพิษส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยในบ้านพักเจ้าหน้าที่และโรงเรียนบริเวณใกล้เคียง
ปี พ.ศ.2542 โรงพยาบาลได้เปิดให้บริการหน่วยไตเทียม โดยปรับปรุงใช้พื้นที่ห้องคลอดเก่า สามารถให้บริการเครื่องไตเทียมที่ทันสมัยจำนวน 2 เครื่อง และมีพยาบาลที่ผ่านการอบรมเป็นพิเศษประจำหน่วย 2 ท่าน
ปี พ.ศ.2543 ก่อสร้างอาคารพักศพ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ซึ่งกว้างขวางและเป็นสัดส่วนสวยงามมากขึ้น เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2543 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2543 โดยใช้เงินงบประมาณ 1,346,000 บาท
ปี พ.ศ.2544 ก่อสร้างอาคารพักอาศัยเพิ่มเติมอีกจำนวน หลายหลังดังนี้
– อาคารพักอาศัย คอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ซึ่งได้รับเงินบริจาค จำนวน 279,066
บาท จากคุณมารศรี ปานดี
– บ้านพักข้าราชการระดับ 7 – 8 จำนวน 2 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น
โดยใช้เงินงบประมาณ 1,000,000 บาท
หลังจากปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในการก่อสร้างอาคารให้บริการ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งประเทศ จึงมีเพียงการซ่อมแซมปรับปรุง ต่อเติมตามความจำเป็นเพื่อขยายบริการและรองรับผู้มารับบริการที่เพิ่มมากขึ้นโดยใช้งบประมาณเงินบำรุงของโรงพยาบาล และด้วยพื้นที่ของโรงพยาบาลที่มีอย่างจำกัด ทำให้แออัดคับแคบมากไม่สามารถขยายออกไปได้มากกว่านี้ ดังนั้นในปี พ.ศ.2546 โรงพยาบาลจำดำเนินการขอใช้ที่ราชพัสดุ คือที่ดินบริเวณสนามบินเก่าบางส่วน มีเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา ณ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลโดยมีถนนพหลโยธินคั่นกลาง เพื่อใช้ในการก่อสร้างบ้านพักและอาคารที่พักอาศัยสำหรับเจ้าหน้าที่ ตลอดจนก่อสร้างอาคารสนับสนุนบางส่วนในอนาคตต่อไป และได้มีการก่อสร้างอาคารบ้านพักเพิ่มมากขึ้นทั้งการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เดิมภายในโรงพยาบาล และบริเวณที่ดินราชพัสดุ เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนบุคลากรที่มีความจำเป็นต้องพักอาศัย หลายรายการดังนี้
ปี พ.ศ.2546 – บ้านพักข้าราชการระดับ 7 – 8 จำนวน 2 หลัง
ปี พ.ศ.2547 – บ้านพักข้าราชการระดับ 3 – 4 จำนวน 1 หลัง
– บ้านพักข้าราชการระดับ 7 – 8 จำนวน 8 หลัง
ปี พ.ศ.2548 – บ้านพักข้าราชการระดับ 7 – 8 จำนวน 4 หลัง
– บ้านพักพยาบาล 20 ห้อง จำนวน 1 หลัง
ปี พ.ศ.2556 – บ้านพักพยาบาล 32 หน่วย จำนวน 1 หลัง
นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2549 โรงพยาบาลได้เริ่มก่อสร้างอาคารศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 4 ชั้น พร้อมอาคารที่พักนิสิตแพทย์ จำนวน 64 ห้อง 5 ชั้น แล้วเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ.2553 เปิดใช้งานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 และพิธีเปิดอาคารศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
ปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดตากขนาด 310 เตียง มีผู้รับบริการแผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 1,082 ราย ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 261 ราย แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินเฉลี่ยปีละ 2,600 ราย สำหรับหน่วยงานที่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลและดูแลผู้ป่วย ดังนี้
1. อาคารรวมน้ำใจ สามารถให้บริการผู้ป่วยอายุรกรรมและศัลยกรรม
ทั้งผู้ป่วยสามัญและพิเศษ โดยแบ่งเป็นสามัญ 115 เตียง และพิเศษ 24 ห้อง ประกอบด้วย หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย สามัญ 35 เตียง พิเศษ 5 ห้อง, หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง สามัญ 35 เตียง พิเศษ 5 ห้อง, หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย สามัญ 30 เตียง พิเศษ 5 ห้อง, หอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง สามัญ 39 เตียง พิเศษ 6 ห้อง
2. อาคารเฉลิมพระเกียรติ สามารถให้บริการหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก
สามัญ 25 เตียง พิเศษ 5 ห้อง, หอผู้ป่วยสูติ – นรีเวชกรรม สามัญ 25 เตียง และพิเศษ 5 ห้อง, หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม สามัญ 37 เตียง และพิเศษ 3 ห้อง
3. หอผู้ป่วยพิเศษสลาก สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ 25 ห้อง
4. หอผู้ป่วยตา หู คอ จมูก สามารถให้บริการผู้ป่วยสามัญ 21 เตียง
พิเศษ 4 เตียง
5. หน่วยงานพิเศษที่สามารถเปิดให้บริการ มีดังนี้
5.1 ห้องผู้ป่วยหนัก ให้บริการผู้ป่วยภาวะวิกฤติทุกแผนก อายุ 1
เดือนขึ้นไป จำนวน 8 เตียง
5.2 ห้องคลอด จำนวน 6 เตียง
5.3 ห้องผ่าตัด จำนวน 5 ห้อง
5.4 ห้องผ่าตา จำนวน 1 ห้อง
5.5 หออภิบาลทารกแรกเกิด จำนวน 8 เตียง
5.6 ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน จำนวน 7 เตียง
5.7 ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก (OPD) ทั่วไป จำนวน 5 ห้อง, คลินิก
พิเศษ 10 ห้อง
5.8 ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก (ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง) จำนวน 3
ห้อง
5.9 ห้องตรวจนรีเวช / ฝากครรภ์และวางแผนครอบครัว 3 ห้อง
5.10 หน่วยไตเทียม จำนวน 11 เตียง (14 เครื่อง)
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 – 2558 โรงพยาบาลได้รับงบประมาณจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 179,990,000 บาท (หนึ่งร้อยเจ็ดสิบเก้าแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) เพื่อก่อสร้างอาคารผ่าตัด ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ 7 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 13,536 ตารางเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 750 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2556 สิ้นสุดวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2558 ซึ่งโรงพยาบาลมีความตั้งใจในการจัดพื้นที่ชั้นที่ 7 ของอาคารดังกล่าวเป็นสถานที่พักของพระภิกษุสงฆ์และสามเณรอาพาธให้เป็นสัดส่วน เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกในฐานะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระสังฆราชยาวนานที่สุดของประเทศไทย และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระกุศล โดยได้ขอประทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “อาคาร 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช” และได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 หากอาคารดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุสงฆ์อาพาธและประชาชนผู้เจ็บป่วยที่จะได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ลดปัญหาความแออัดและขยายบริการให้แก่ผู้มารับบริการได้มากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยหน่วยบริการดังนี้
ชั้นใต้ดิน ห้องเอกซเรย์
ชั้นที่ 1 ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน, ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกแผนกศัลยกรรม
ชั้นที่ 2 ห้องผ่าตัดใหญ่ จำนวน 8 ห้อง
ชั้นที่ 3 ห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) อายุรกรรม 8 เตียง ศัลยกรรม 8 เตียง
ชั้นที่ 4 หอผู้ป่วยในสามัญ 54 เตียง ห้องพิเศษ 6 ห้อง
ชั้นที่ 5 หอผู้ป่วยในสามัญ 54 เตียง ห้องพิเศษ 6 ห้อง
ชั้นที่ 6 ห้องพิเศษ 16 ห้อง
ชั้นที่ 7 หอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธ 14 ห้อง