ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรงพยาบาลสระใคร

Sakhrai Hospital

Logo Thumb preview

ที่อยู่/ติดต่อ
232 ม.3 ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย 43100
Fax. 0-4241-9241

*ข้อมูลรวบรวมโดย Healthserv.net เพื่ออำนวยความสะดวกเบื้องต้นให้กับผู้ชมที่ต้องการข้อมูลสถานพยาบาล ไม่ใช่เว็บทางการของรพ./สถานพยาบาลแต่อย่างใด แนะนำให้ไปยังเว็บไซต์/เฟซบุ๊ค หรือช่องทางติดต่อของรพ./สถานพยาบาลนั้นๆ โดยตรง

ข้อมูล/ประกาศ/บริการ โรงพยาบาลสระใคร

ตารางการให้บริการ

extended content image
extended content image
 
 

Facebook โรงพยาบาลสระใคร

 

 ประวัติโรงพยาบาลสระใคร

 
           โรงพยาบาลสระใครเริ่มเปิดดำเนินการตามกฎหมายในฐานะศูนย์สุขภาพชุมชนสระใคร (อาคารผู้ป่วยนอก)  เมื่อปี 2547 ด้วยบุคลากรข้าราชการ  8  คน  ลูกจ้าง  6  คน  มีข้าราชการย้ายมาเพิ่มและบรรจุใหม่ทุกปี  สามารถขยายประเภทบริการสุขภาพแก่ประชาชนชาวอำเภอสระใครมากขึ้น ข้าราชการที่ย้ายมาปฏิบัติงานจะย้ายเลขที่ตำแหน่งมาด้วย จนยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด  10 เตียง  เมื่อปี 2547 แต่ยังขาดกรอบอัตรากำลังในบางตำแหน่ง จึงต้องเปิดรับสมัครพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงโรงพยาบาล  ปัจจุบันมีจำนวนบุคลากรทั้งสิ้น  80  คน
 
 ประวัติอำเภอสระใคร
 
          อำเภอสระใครได้แยกจากอำเภอเมืองหนองคาย เมื่อวันที่  30  เมษายน  2537    ยกฐานะเป็นอำเภอสระใครเมื่อปี  2550   ประกอบด้วย  3  ตำบล ได้แก่  สระใคร  คอกช้างและบ้านฝาง  รวมทั้งสิ้น  41 หมู่บ้าน   ศูนย์ราชการระดับอำเภอตั้งอยู่ที่บ้านสระใคร  ตำบลสระใคร         การปกครองส่วนท้องถิ่น  ประกอบด้วย   องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  3  แห่ง   ทุกหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้  ส่วนใหญ่ดื่มน้ำฝน  ใช้น้ำจากประปาหมู่บ้าน  หรือน้ำบาดาลในพื้นที่ที่ขาดแคลนแหล่งน้ำดิบสำหรับทำน้ำประปา  
 
คำขวัญอำเภอสระใคร
 
       สระใครเมืองน่าอยู่   ประตูสู่หนองคาย   นบไหว้พระศรีอารย์   ข้าวสารหอมมะลิชั้นดีมีหลวงพ่อใหญ่คู่เมือง  ลือเลื่องในคุณธรรม
 
ลักษณะภูมิประเทศ
 
          ทิศเหนือ          ติดกับ   ตำบลพระธาตุบังพวน  ตำบลหนองสองห้อง  อำเภอเมือง
 
          ทิศตะวันออก     ติดกับ   ตำบลบ้านธาตุ  อำเภอเพ็ญอุดรธานี
 
          ทิศใต้             ติดกับ   ตำบลนาพู่  อำเภอเพ็ญ  จังหวัดอุดรธานี
 
          ทิศตะวันตก      ติดกับ   ตำบลบ้านเทื่อม  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี
 
          สภาพพื้นดินเป็นที่ราบลุ่ม    ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่ทำกิน  คือ ทุ่งนา    ที่ดอนใช้ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ  มีที่ดินสาธารณะเป็นโคกเป็นดงบ้าง  ส่วนริมถนนที่รกร้างมักมีหญ้าขึ้นสูง
 
   
 
 ลักษณะภูมิอากาศ 
 
อำเภอสระใครมี   3  ฤดู  ฝนตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม  ที่ลุ่มน้ำท่วมซ้ำซาก  ได้แก่ 
 
-    บ้านสมสะอาด  บ้านดงมุข   ตำบลคอกช้าง 
 
-    บ้านฝางน้อย  บ้านฝางใหญ่  บ้านเดื่อ  บ้านทุ่งสวรรค์  บ้านขี้เหล็ก  บ้านตอแก  ตำบลบ้านฝาง
 
 แหล่งน้ำธรรมชาติ
 
          มีลำน้ำสวยไหลผ่านจากจังหวัดอุดรธานีผ่านพื้นที่อำเภอสระใคร      และมีการชลประทานกั้นห้วยดงหลี่เป็นฝายดงหลี่  บ้านดงหลี่  ตำบลคอกช้าง  สำหรับใช้น้ำทำการเกษตร  พื้นที่นาบางส่วนแบ่งขุดเป็นสระน้ำเลี้ยงปลาและใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ
 
 การคมนาคม
 
หากเดินทางออกจากอำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย  มุ่งหน้าลงทิศใต้ไปตามถนนมิตรภาพถึงหลักกิโลเมตรที่   24  มองด้านซ้ายจะเห็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสระใครและสถานีอนามัยตำบลสระใคร  เมื่อผ่านบ้านน้ำสวย  ตำบลสระใคร  ข้ามสะพานเหนือลำน้ำสวย  เลี้ยวกลับรถไปอีกด้านของถนนมิตรภาพ  เลี้ยวซ้ายเข้าถนนทางเข้าอำเภอสระใคร  ในระยะทางประมาณ  5  กิโลเมตร      จะถึงโรงพยาบาลสระใคร    รวมระยะทางจากจังหวัดหนองคาย 30  กิโลเมตร    ตำบลที่ไกลจากตัวอำเภอมากที่สุด  คือ ตำบลบ้านฝางซึ่งมีเส้นทางรถโดยสารไปอำเภอบ้านผือ   จังหวัดอุดรธานี  ไปอำเภอท่าบ่อหรือเข้าอำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย  ผ่านทางวัดพระธาตุบังพวน ถนนลาดยางสายหลักแยกจากถนนมิตรภาพถึงตำบลสระใครและตำบลคอกช้าง  สภาพค่อนข้างดี  ไม่มีไหล่ทาง ถนนไปมาหมู่บ้านที่อยู่ลึก ๆ ส่วนใหญ่เป็นทางลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อ  เช่น บ้านห้วยทรายถึงบ้านตอแก  บ้านตอแกถึงบ้านโนนดู่  บ้านไชยาถึงบ้านโพนสวรรค์  บ้านดงนาเทาถึงบ้านโพนสวรรค์ เป็นต้น  ชาวบ้านใช้จักรยานยนต์  รถสามล้อเครื่อง  รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะสัญจรไปมา   ช่วงเช้าและค่ำจะพบรถทางการเกษตรวิ่งช้า ๆ ขนข้าวของพืชผลไปมาระหว่างบ้านและนา    ถนนลาดยางหลักทั้ง  2  เส้น   ที่แยกจากถนนมิตรภาพถึงตัวอำเภอสระใครและบ้านโพนสวรรค์มีเส้นทางรถไฟตัด   โดยไม่มีไม้กั้นหรือสัญญาณไฟแสดงให้รถยนต์หยุด  มีเพียงไฟกระพริบสีส้ม  ค่ารถโดยสารประจำทางจากบ้านฝางไปถึงจังหวัดหนองคาย  40  บาท  ส่วนรถโดยสารสองแถวเส้นทางบ้านฝางถึงอำเภอสระใครทิ้งช่วงห่างมาก  ถ้ามีความจำเป็นชาวบ้านนิยมเดินทางจากบ้านฝางถึงอำเภอสระใครด้วยสามล้อเครื่อง ค่าโดยสาร  50  บาท   ค่ารถโดยสารสามล้อเครื่องจากตัวอำเภอสระใครไปยังถนนมิตรภาพบ้านน้ำสวย  ตำบล            สระใคร  40 บาท   เท่ากับค่ารถจักรยานยนต์รับจ้าง   ค่ารถโดยสารสองแถวจากบ้านน้ำสวยไปตัวจังหวัดหนองคาย  20  บาท  ค่ารถโดยสารประจำทางจากสระใครไปหนองคายเท่ากับไปจังหวัดอุดรธานี   25  บาท
 
 ช่องทางการรับรู้ข่าวสาร
 
          แทบทุกหลังคาเรือนจะมีโทรทัศน์/วิทยุ   ทั้ง  41  หมู่บ้านมีหอกระข่าวครบ   กำนัน  ผู้ใหญ่บ้านประชุม ณ ที่ว่าการอำเภอเป็นประจำทุกเดือน    การประชุมหมู่บ้าน  อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) นำข่าวสารด้านสุขภาพเผยแพร่ให้ประชาชนในพื้นที่  สื่อต่าง ๆ เช่น แผ่นพับ ใบปลิว นอกจากนั้นการติดต่อระหว่างเครือญาติเพื่อนบ้านภายในหมู่บ้านหรือการไปมาหาสู่กับญาติหมู่บ้านอื่น  การเข้าไปติดต่อซื้อสินค้า ขายผลผลิตในตัวจังหวัดหรืออำเภออื่นก็เป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนข่าวสารอย่างหนึ่ง  โทรศัพท์เดินคู่สายถึงทุกตำบล  โทรศัพท์เคลื่อนที่สัญญาณชัดเจนเป็นบางระบบ
 
วัฒนธรรม  ประเพณี
 
          การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับนอกพื้นที่  โดยมีวัด  18  แห่ง สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน องค์กรด้านสุขภาพ สถาบันอื่น ๆ เป็นสื่อส่งผ่านความเชื่อต่าง ๆผสมผสานกับวิถีปฏิบัติตามประเพณีทางศาสนาพุทธ ฮีต 12 ของชาวอีสาน ชาวสระใครส่วนใหญ่ยังคงมีวัฒนธรรมข้าวเป็นวัฒนธรรมหลัก ผสมกลมกลืนกันเป็นวัฒนธรรม  ประเพณีเฉพาะของชาวสระใครที่แตกต่างไปอีกระหว่างหมู่บ้าน  ขึ้นกับความเชื่อ  ผู้นำและความสะดวกในการปฏิบัติ  สรุปย่อปฏิทินชุมชน  ดังนี้
 
วัน /เดือน
 
กิจกรรมทางวัฒนธรรม  ประเพณี
 
1   มกราคม 
 
ตักบาตรส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
 
เดือน 3 - 4 
 
บุญข้าวจี่  บุญมหาชาติ
 
13 - 15  เมษายน 
 
ประเพณีสงกรานต์  รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่  ประกวดเทพีสงกรานต์ผู้สูงอายุตำบลคอกช้าง ประกวดนางสงกรานต์ที่วัดมฤคทายวัน (วัดดงแขม)
 
13  พฤษภาคม 
 
ครบรอบวันเกิดท่านเจ้าคุณใหญ่  ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด  (เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย)  พิธีมอบทุนการศึกษาและสาธารณประโยชน์ที่โรงเรียนสระใครไชยานุเคราะห์   เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของท่าน  
 
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  
 
พิธีสรงน้ำวัดโพนงาม  จุดบั้งไฟ  สรงน้ำพระ  รดน้ำดำหัว  การแสดงหมอลำ
 
เดือน 6 - 7 
 
บุญบั้งไฟ  มีทุกตำบลแต่จัดเป็นบางหมู่บ้าน  ขึ้นอยู่กับความเชื่อและความพร้อมเพรียงของชาวบ้าน
 
ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 1  ค่ำ เดือน 8
 
ทำบุญวันอาสาฬหบูชา   ทำบุญวันเข้าพรรษา
 
ขึ้น  15  ค่ำ เดือน 9
 
บุญข้าวสารท ประมาณ 3 - 4 นาฬิกา ทำห่อข้าว  9  ห่อ วางในบริเวณวัด  เชื่อว่าจะสามารถส่งให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
 
ช่วงเช้าจึงไปวัดถวายภัตตาหาร
 
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
 
บุญข้าวประดับดิน  หลังถวายภัตตาหารช่วงเพลนำข้าว 10 ห่อ  วางในบริเวณที่วัด  เชื่อว่าทำทานถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ
 
ขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 11
 
ทำบุญออกพรรษา
 
ภายใน 1 เดือนหลังช่วงออกพรรษา / ตลอดปี
 
ทำบุญทอดกฐิน  / ทำบุญทอดผ้าป่า
 
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 
 
ประเพณีลอยกระทง  ที่วัดบ้านหนองบัวเงิน  บ่ายมีการแข่งขังเรือพาย ฝีพาย 3 - 4 คน  ช่วงกลางคืนประกวดนางนพมาศ
 
เครือข่ายผู้นำและองค์กรท้องถิ่น
 
          ได้แก่ นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล   ข้าราชการ  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อสม. ครู-อาจารย์   สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลตัวแทนของทุกหมู่บ้าน (ส.อบต.)  ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด พระสงฆ์  เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ  มัคทายก  ผู้รู้  ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านนับถือ  กรรมการมูลนิธิวัดโพธิ์ชัย  ชมรมต่าง ๆ เป็นต้น  ผู้นำเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น  และบางส่วนไม่ได้อาศัยอยู่ประจำที่สระใคร  แต่ก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน  และร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอำเภอสระใครเสมอมา
 
การประกอบอาชีพ/เศรษฐกิจ 
 
          ชาวสระใครส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ วัว ควาย ไก่ ในครัวเรือน  ทำสวนยาสูบ  ไร่อ้อย และมีการทำฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู โรงงานไวน์ หนุ่มสาวบางส่วนเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานที่โรงงานตัดเย็บผ้าเขตอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี  หรือเดินทางไปทำงานในตัวจังหวัดหนองคาย และต่างจังหวัด  เช่น  กรุงเทพมหานคร  อุดรธานี  ภาคตะวันออก ศูนย์กลางร้านค้าและตลาดถาวรอยู่ที่บ้านน้ำสวย ตำบลสระใคร  1  แห่ง คือ ตลาดเช้าและเย็น  รับผิดชอบโดย อบต.สระใคร   ตลาดนัดเคลื่อนที่หรือตลาดนัดคลองถมทุกวันที่  2  และ  16  ของเดือน  ตลาดนัดทุกวันพฤหัสบดี  ซึ่งสถานที่ตั้งบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลสระใคร
 
          ตำบลบ้านฝาง  มีการติดต่อค้าขายและซื้อสินค้ามาขายในหมู่บ้านจากตลาดบ้านเทื่อม  ตำบลเขือน้ำ  อำเภอบ้านผือ และจากตลาดบ้านเก่าน้อย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ตลาดนัดที่ตำบลบ้านฝาง ตอนเย็นวันพุธ และวันเสาร์ ทุกตำบลมีการรวมกลุ่มส่งออกสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  เช่น กลุ่มเย็บผ้า  หมู่ 12 ตำบลสระใครทำผลิตภัณฑ์แจ่วบองขาย  บ้านโนนดู่ตำบลบ้านฝางจัดตั้งกลุ่มทำข้าวกล้อง  ตำบลคอกช้างจัดตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านพลายงาม       
 
ระบบการดูแลสุขภาพ
 
          ชาวอำเภอสระใครมีการสั่งสมและถ่ายทอดการดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว  มีหมอเป่า  หมอยาพื้นบ้าน  หมอน้ำมนต์  หมอมอคอยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บทางกาย  ทางใจ  มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งทางใจ  เป็นที่ปรึกษาของชุมชน  ระบบเครือข่ายสุขภาพของรัฐครอบคลุมทุกตำบล  มีโรงพยาบาล  สถานีอนามัยและเจ้าหน้าที่ดูแลจัดการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม  นอกจากนั้น ยังมีชมรมสร้างสุขภาพ  ชมรมผู้สูงอายุ  และชมรมต่าง ๆ ที่ประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิกและร่วมกันดูแลจัดการสุขภาพในพื้นที่ของตน  มีร้านขายยาและสถานพยาบาลเข้ามาช่วยดูแลประชาชนอีกทางหนึ่ง  การดูแลสุขภาพปัจจุบันเน้นในเชิงรุก คือ การสร้างสุขภาพในชุมชนมากกว่าเชิงรับ  และสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม  โดยการจัดทำประชาคมสุขภาพเป็นประจำ   เปิดเวทีให้ผู้นำชุมชน  อสม.  องค์กรชุมชนต่าง ๆ ผู้เป็นเจ้าของสุขภาพเป็นผู้ปลดปล่อยศักยภาพออกมาทำกิจกรรมสุขภาพเพื่อชุมชนเอง