ประวัติโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
การก่อสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดนี้ได้เริ่มดำริขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 ในสมัยที่หลวงสฤษฎิสาราลักษณ์ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ขุนทิพยวรเสพเป็นสาธารณสุขจังหวัด และขุนพิศาลสัมมารักษ์เป็นนายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ได้ดำริจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น ณ ที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบันนี้ โดยที่ดินว่างเปล่าอันเป็นวัดร้างอยู่เดิม จังหวัดจึงได้เจรจากับ เจ้าของที่ดินบริเวณข้างเคียง ปรากฎว่านางแดง อภิชาตกุล มีใจศรัทธาในการสร้างสถานกุศลสาธารณประโยชน์ ยอมยกที่ดิน ให้ทางราชการสร้างโรงพยาบาล 2 แปลง โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด คือ แปลงที่ 1 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา 2 ตารางศอก คิดราคาในขณะนั้น ไร่ละ 120 บาท เป็นเงิน 685.54 บาท แปลงที่ 2 เนื้อที่ 4 ไร่ คิดราคาไร่ละ 100 บาท เป็นเงิน 400 บาท รวมเป็นเงิน 1,085.54 บาท ทั้งนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่นายจิต อภิชาตกุล สามีผู้วายชนม์ นอกจากนี้ได้ซื้อที่ดินจากเอกชนอีก 5 ราย คือ
- ที่ดินนายแจ้ง 6 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา ไร่ละ 25 บาท เป็นเงิน 167.75 บาท
- ที่ดินนายน่วม 3 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา ไร่ละ 70 บาท เป็นเงิน 237.50 บาท
- ที่ดินนางนวม 1 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา 1 ตารางศอก ไร่ละ 70 บาท เป็นเงิน 116 บาท แต่เจ้าของขอเพิ่มอีก 16 บาท เพื่อให้สมกับที่ต้องเสียดอกเบี้ยตามหนังสือ สัญญาซื้อขายที่อำเภอ จึงรวมเป็นเงิน 132 บาท
- ที่ดินนายสังข์ 1 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา 1 ตารางศอก ไร่ละ 70 บาท เป็นเงิน 116.50 บาท
- ที่ดินนายขำ 3 ไร่ 8 ตารางวา 2 ตารางศอก ไร่ละ 70 บาท เป็นเงิน 211.50 บาท
รวมค่าที่ดินที่ต้องซื้อจากเอกชน เป็นเงิน 865.25 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ ขุนเศรษฐภักดี ได้มีใจศรัทธาบริจาคให้ ทั้งสิ้น ได้เสนอเรื่องรวมไปยังกรมสาธารณสุข และทำหนังสือซื้อขายกัน ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เสร็จเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดนี้ ตำรวจ ข้าราชการ ลูกเสือ นักเรียน และประชาชนชาวสุราษฎร์ธานี ได้ทำการต่อสู้ต้านทาน จนกระทั่งศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีถูกไฟไหม้ หลักฐานต่าง ๆ ในเรื่องนี้ถูกไฟไหม้หมด ต่อจากนั้นก็อยู่ในสถานการณ์สงคราม การสร้างโรงพยาบาลจังหวัดก็ต้อง หยุดชะงักเรื่อยมา
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 ในสมัยที่นายแม้น อรจันทร์ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขุนอุปรักษ์คณานนท์ เป็นสาธารณสุขจังหวัด และนายชิต รัศมิทัต เป็นนายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการต่อไป และขอเงินงบประมาณการก่อสร้างไปยังกรมการสาธารณสุข และจัดตั้งองค์การกุศลสาธารณสุขขึ้นหาเงินมาสมทบ รวมกับเงินบำรุงท้องที่ส่วนของจังหวัดซึ่งมีอยู่แล้วเป็นจำนวน 20,196.01 บาท ครั้นนายแม้น อรจันทร์ ย้ายไปและขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ย้ายมาเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดแทนก็ได้รับการดำเนินการต่อไป แต่เห็นว่าสถานที่ที่ดำริจะสร้างเดิม (ที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบัน) ไม่เหมาะ ควรจะสร้างขึ้น ณ ที่ตั้งสุขศาลา หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี (สนามเทนนิสจังหวัดในปัจจุบัน) เนื่อง จากที่เดิมไม่เหมาะเพราะ
- ไกลที่ชุมชน คนเจ็บป่วยเล็กน้อยมีความอิดหนาระอาใจที่จะไปโรงพยาบาล
- เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลต้องเดือดร้อนในเรื่องความเป็นอยู่ เช่น การจ่ายตลาด และเด็กไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน
- ต้องใช้จ่ายค่าปราบที่ ตกแต่งสถานที่อีกมาก
- ต้องสิ้นเปลืองค่าขนส่ง
- เครื่องสาธารณูปโภค เช่น น้ำและไฟฟ้าไม่สะดวก
แต่กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าที่นั้นคับแคบเกินไป ไม่สะดวกแก่การขยายให้ครบรูปในภายหน้าจังหวัดก็ได้เสนอ ให้จัดสร้างขึ้นที่บริเวณสนามบินเก่า ต.มะขามเตี้ย แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ ไม่เห็นด้วยและยืนยันให้สร้างในที่ดำริไว้เดิม คือ ที่ซึ่งโรงพยาบาลตั้งอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้โดยเห็นว่า ที่ดินแปลงนี้ได้มีผู้มีจิตศรัทธาสละเงินซื้อและอุทิศให้เพื่อสร้างโรงพยาบาลเป็นเวลานานปีมาแล้ว หากจะเลิกล้มเสียก็เป็นการเสียน้ำใจของผู้บริจาคนั้น ระยะทางจากที่ดินแปลงนี้ถึงที่ชุมชน (ตลาด) มีระยะทางประมาณเพียงไม่ถึง 3 กม. ถ้าจะคิดระยะห่างจากสุขศาลาเทศบาลในขณะนั้นก็มีระยะเพียง 1 กม. เท่านั้นระยะใกล้เคียงกันกับระยะไปสนามบินเก่า เชื่อแน่ว่าคงไม่ขัดข้องในการติดตั้งและส่งกระแสไฟฟ้าไปให้ถึงโรงพยาบาลได กรมทางกำลังบูรณะถนนสายบ้านดอน-ท่าข้าม (ถนนสุราษฎร์ - พุนพิน ในปัจจุบัน) และคาดว่าคงจะทำเสร็จเร็วๆ เมื่อทำถนนนั้นเสร็จแล้ว ก็จะมีรถยนต์และรถอื่นๆ ตลอดจนรถประจำทางผ่านไปมาอยู่เสมอ ไม่เป็นแหล่งที่เปลี่ยวเช่นสนามบินเก่าซึ่งเป็นทางตัน ถ้าไม่มีธุระจริงแล้ว ประชาชนก็ไม่ใช้สัญจร ที่ดินแห่งนี้ติดถนนใหญ่สายสำคัญ และติดคลอง สะดวกแก่ผู้ป่วยซึ่งจะมาโดยรถไฟ รถยนต์ และเรือจากตำบลและอำเภออื่นๆ ทั้งจังหวัดผิดกันกับที่สนามบินเก่าซึ่งจะไปมาติดต่อได้โดยทางรถยนต์เท่านั้น น้ำอุปโภคและบริโภคสำหรับใช้ในโรงพยาบาลจัดหาได้ง่ายกว่าที่สนามบินเก่าซึ่งปรากฎว่า ในบริเวณตอนนั้นขุดหาน้ำได้ยากและไม่จืดสนิท เนื้อที่ที่จะขยายต่อไปที่บริเวณสร้างโรงพยาบาลขณะนั้นทำได้ง่ายกว่าที่สนามบินเก่า ซึ่งจะขยายออกได้ แต่ทางข้างหน้า ส่วนทางด้านหลังติดที่สงวนของสถานีวิทยุ บริเวณสนามบินเก่า มีอาคารอยู่แล้วซึ่งเป็นของกรมราชทัณฑ์ ขอใช้เป็นโรงพยาบาลต้องสิ้นเปลืองค่าดัดแปลงเป็นจำนวนเงินมิใช่น้อย และกรมราชทัณฑ์คงไม่ให้เปล่า อย่างน้อยก็ต้องสร้างชดเชยให้ เป็นการเสียสองต่อ และได้ผังบริเวณทั่วไปของโรงพยาบาล ตลอดจนอาคารไม่เหมาะสม ด้วยจำต้องดัดแปลงเข้าหาสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ครั้นเมื่อปี 2491 กรมการแพทย์ ได้โอนเงินงบประมาณสมทบทุนสร้าง เป็นเงิน 120,000.- บาท เมื่อสมทบกับเงินบำรุงท้องถิ่นซึ่งมีอยู่แล้วเพียง 20,196.01 บาท จังหวัดได้เรียกประมูลเพื่อทำการก่อสร้างตึกอำนวยการ แต่มีผู้เข้ายื่นประมูลราคาสูงกว่าเงินที่มีอยู่ จะเรี่ยไรก็ขัดกับระเบียบของราชการ ซึ่งขณะนั้นห้ามทำการเรี่ยไรอย่างเด็ดขาด จึงได้ดำริที่จะขออนุญาตทำไม้เอง ส่วนเงินจะใช้เป็นค่าแรงและค่าวัสดุอย่างอื่น ได้ติดต่อขอไปทางป่าไม้แล้ว แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ การสร้างจึงต้องระงับ รอเงินงบประมาณซึ่งขอเพิ่มเติมเรื่อยมา
เมื่อนายเลื่อน ไขแสง ดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงประจำจังหวัด และนายแพทย์ชัยศิริ เขตตานุรักษ์ เป็นสาธารณ สุขจังหวัด นายล้วน สุระกุล เป็นนายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ก็ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาอีก เพื่อดำเนินการต่อไป โดยจัดตั้งองค์การกุศลสาธารณสุขขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง และวางโครงการหาเงิน ดังนี้
1. ขออนุญาตทำการเรี่ยไรทั่วราชอาณาจักร
2. ขออนุญาตออกสลาก แต่ถูกระงับ
3. จัดงานชุมนุมเพื่อหารายได้สมทบทุน
4. จัดทำหนังสือจำหน่ายหาเงินสมทบทุน
และในขณะนั้นการสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างอยู่แล้ว แต่การก่อสร้างนี้ยังประสบอุปสรรคในเรื่องกำลังเงินที่จะเป็นทุนสำหรับก่อสร้างให้เต็มตามโครงการได้ ฉะนั้น คณะกรรมการองค์การกุศลสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดหาทุนเพิ่มเติมโดยจัดพิมพ์หนังสือขึ้นจำหน่ายตามหลักการข้อ 4 โดยให้ชื่อว่า "สุราษฎร์อนุสรณ์ 2494 " และนำรายได้จากการจำหน่ายหนังสือเข้าสมทบทุนสร้างโรงพยาบาล
การก่อสร้างได้ดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2495 ในเนื้อที่ 24 ไร่เศษ เริ่มเปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ในวันที่ 13 เมษายน 2496 ด้วยจำนวนเตียง 25 เตียง และจำนวนเตียงได้เพิ่มขึ้นตามลำดับดังนี้
เนื่องจากปริมาณผู้ป่วยและปริมาณงานของโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น จำนวนพยาบาลที่มีอยู่ ไม่เพียงพอที่จะบริการผู้ป่วยได้ทั่วถึง ทางโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องอบรมพนักงานผู้ช่วยขึ้น เพื่อช่วยเหลือปฏิบัติงานของพยาบาล ต่อมาทางกรมการแพทย์ได้มีนโยบายที่จะสร้างโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล เพื่อผลิตผู้ช่วยพยาบาลออกมาปฏิบัติงานตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และได้พิจารณาเห็นว่า
โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเป็นโรงพยาบาลใหญ่ มีจำนวนผู้ป่วยเพียงพอที่จะให้เป็นสถานที่ฝึกสอน ภาคปฏิบัติของนักเรียนได้ จึงได้วางโครงการตั้งโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลขึ้น และได้ของบประมาณเพื่อก่อสร้าง ซึ่งได้อนุมัติให้ก่อสร้าง เมื่อปี พ . ศ . 2512สถานที่ตั้งโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล อยู่บริเวณด้านหลังของโรงพยาบาล มีเนื้อที่ 24 ไร่เศษ เป็นที่ดินที่ได้รับบริจาคจากประชาชน โรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลได้รับอนุมัติให้เปิดทำการสอน เมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคม 2513 มีจำนวนนักเรียน 50 คน หลักสูตร 1 ปี 6 เดือน โดยมีผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล
ปัจจุบัน
ปัจจุบันโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี มีฐานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ได้ยกฐานะเป็น 800 เตียง ใน ปี พ . ศ . 2535 มีความสามารถในการรักษาเกือบเท่าเทียมกับโรงพยาบาลในกรุงเทพ มีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา มีเครื่องมือตรวจรักษาที่ค่อนข้างทันสมัย มีอาคารพักรักษาที่สะอาดและสะดวกสบาย