ทั้งนี้ อีกกลุ่มวัยที่ไม่ควรละเลย คือ กลุ่มวัยเด็ก เพราะจากรายงานผลของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 6 - 14 ปี มีปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินมีสัดส่วนมากถึง 13.3% และเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.07%” คุณหมอแอมป์กล่าว
เพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอ้วน คุณหมอแอมป์จึงได้หยิบยก 5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโรคอ้วน ขึ้นมาถ่ายทอดให้กับทุกคนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดี
เรื่องที่ 1: ภาวะอ้วนจัดเป็นโรคชนิดหนึ่ง
“บางท่านอาจยังไม่ทราบว่า โรคอ้วนก็จัดเป็นโรคเรื้อรังเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคความดันโลหิตสูง” คุณหมอแอมป์กล่าวถึงความเข้าใจผิดเรื่องโรคอ้วน
โรคอ้วนคือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนส่งผลให้การทำงานของระบบต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง รวมไปถึงความผิดปกติทางเมตาบอลิก อย่างระดับน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้น ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น การอักเสบในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น
โรคอ้วน มีระยะของโรค เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ โดย American Association of Clinical Endocrinologists (AACE) ได้กำหนดให้มี 3 ระยะหลักด้วยกัน ได้แก่ ‘ระยะ 0’ หรือภาวะที่มีเนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) แต่ไม่ยังพบภาวะแทรกซ้อนใด, ‘ระยะที่ 1’ หรือระยะที่มีภาวะแทรกซ้อนระดับน้อยถึงปานกลางที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างน้อย 1 อาการ และ ‘ระยะที่ 2’ หรือระยะที่มีภาวะแทรกซ้อนระดับรุนแรงที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างน้อย 1 อาการ
“ภาวะอ้วน ไม่ใช่แค่ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค หรือผลของการเลือกใช้ชีวิต แต่ภาวะอ้วนเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากมาย” คุณหมอแอมป์เน้นถึงอันตรายของโรคอ้วน
เรื่องที่ 2: น้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบ่งบอกภาวะอ้วนได้
โดยทั่วไปค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มักจะถูกใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาภาวะอ้วน โดยคนที่มีน้ำหนักเกินจะมี BMI ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป และคนอ้วนจะมี BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป แต่แท้จริงแล้ว BMI อาจไม่ใช่เครื่องมือที่แม่นยำมากนัก ในการประเมินภาวะอ้วน เพราะไม่สามารถประเมินองค์ประกอบของร่างกายได้ เช่น บุคคลที่มี BMI เท่ากัน อาจมีสัดส่วนกล้ามเนื้อและไขมันไม่เท่ากัน เช่น นักเพาะกายมีกล้ามเนื้อมากกว่าคนที่ขาดการออกกำลังกาย
คุณหมอแอมป์แนะนำว่า ไม่ควรใช้ BMI ในการวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว ควรใช้เครื่องมืออื่นประกอบ ไม่ว่าจะเป็น การวัดเส้นรอบเอว หรือ การวัดองค์ประกอบร่างกายด้วยเครื่อง DEXA (Dual-Energy X-ray Absorptiometry) เพื่อประเมินสัดส่วนไขมันทั้งหมดของร่างกาย โดยในกลุ่มวัยกลางคน (อายุ 20 – 50 ปี) ผู้หญิงไม่ควรมีสัดส่วนไขมันเกิน 32% และผู้ชายไม่ควรเกิน 28%
เรื่องที่ 3: โรคอ้วนเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่การกินอาหารมากเกินไปเท่านั้น
ผู้คนมักเข้าใจว่า หากเรารับประทานอาหารในปริมาณมากจะทำให้เราน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เพราะพลังงานแคลอรีนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณอาหาร แต่อย่าลืมว่า อาหารที่มีปริมาณเท่ากัน อาจให้พลังงานที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น แอปเปิล 100 กรัม ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี ในขณะที่ช็อกโกแลตแท่ง 100 กรัม ให้พลังงาน 400 กิโลแคลอรี ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นพลังงานของอาหาร ตามสัดส่วนของสารอาหาร คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม และไขมันอยู่ที่ 9 กิโลแคลอรีต่อกรัม
ดังนั้น การรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันและรักษาโรคอ้วน ไม่ใช่แค่เพียงการจำกัดปริมาณเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม อาหารที่มีใยอาหาร หรือ ไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสี มักให้พลังงานน้อยกว่าอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รวมถึงมีสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามิน แร่ธาตุ รวมไปถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ
การเกิดโรคอ้วน ยังมีสาเหตุหลายอย่างรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การนอนหลับ การทำงานของฮอร์โมน ไปจนถึงรหัสพันธุกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ดังนั้น ต้องคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่าง ๆ (Lifestyle Modification) ไปพร้อมกัน
เรื่องที่ 4: ยิ่งอ้วนจะควบคุมการกินได้ยากยิ่งขึ้น
โรคอ้วนเกิดจากความไม่สมดุลในการควบคุมความหิวและความอิ่มของร่างกาย ซึ่งถูกควบคุมด้วยระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ (Neuroendocrine) ต่อมไร้ท่อจะสร้างฮอร์โมนที่สามารถส่งสัญญาณไปที่สมอง เพื่อบอกว่า เราควรรับประทานอาหารต่อหรือไม่
ฮอร์โมนที่สำคัญคือ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ฮอร์โมนนี้หลั่งจากเซลล์ไขมัน และจะหลั่งมากขึ้นตามจำนวนเซลล์ไขมันในร่างกาย หากเรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมนเลปตินลดลง ความอยากรับประทานอาหารก็จะเพิ่มมากขึ้น
“ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน (Leptin resistance) คือ ร่างกายไม่ตอบสนองต่อสัญญาณอิ่มของฮอร์โมนเลปติน ทำให้ไม่รู้สึกอิ่ม และไม่หยุดรับประทานอาหาร” คุณหมอแอมป์อธิบายถึงสาเหตุของความอยากอาหารที่มากขึ้น
ส่วนฮอร์โมนที่ทำงานตรงกันข้ามกันคือ ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) หรือฮอร์โมนกระตุ้นความหิว จะหลั่งมากในช่วงก่อนมื้ออาหาร และจะหลั่งลดลงเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน การหลั่งของฮอร์โมนเกรลินจะมีความผิดปกติคือ แม้จะรับประทานอาหารไปแล้วแต่ระดับของฮอร์โมนเกรลินก็ไม่ลดลง ทำให้ความอยากอาหารไม่ลดลง
ฉะนั้นโรคอ้วน จึงไม่ใช่เพียงแค่การขาดความยับยั้งชั่งใจ (Willpower) ในการหยุดรับประทาน แต่เป็นเรื่องของความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกายด้วย
เรื่องที่ 5: โรคอ้วนเป็นผลจากทั้งพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างเข้าใจว่า โรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะมักพบว่าหากบุคคลในครอบครัวมีภาวะอ้วนก็จะสืบทอดต่อไปจนถึงรุ่นลูกหลาน รหัสพันธุกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น FTO หรือ Fat Mass and Obesity-Associated Gene เป็นต้น แต่รหัสพันธุกรรมไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวของการเกิดโรคอ้วน ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle)
คุณหมอแอมป์อธิบายว่า พฤติกรรมการบริโภค การเลือกซื้ออาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง หรืออาหารผ่านกระบวนการแปรรูป (Processed Foods) ก็มีส่วนสำคัญ รวมถึงวัฒนธรรมในครอบครัวและสังคมแวดล้อมอีกด้วย
แม้ว่าปัจจัยภายในอย่างเรื่องของพันธุกรรมหรือยีนเป็นสิ่งที่ติดตัวกับเรามาตั้งแต่เกิดและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อีกมากที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคอ้วนนั้น เราสามารถควบคุมและเปลี่ยนแปลงได้หากเราปรับพฤติกรรม ดูแลสุขภาพของเรา เราก็จะสามารถหลีกหนีจากโรคอ้วนได้