ส่วนของประเทศไทย ดร.นพ.เจตน์ ได้มีการศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อ ในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล ซึ่งพบว่า องค์กรขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องทางการเงิน จะให้ความสำคัญต่อสุขภาพพนักงาน เพราะทำให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น โดยจัดเป็นรูปแบบของสวัสดิการรักษาพยาบาล การตรวจคัดกรองสุขภาพ กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย แข่งกีฬา รวมถึงการกำหนดเรื่องสุขภาพเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จ หรือให้แรงจูงใจผ่านกลไก เช่น สะสมแต้มแลกรางวัล เป็นต้น
ในขณะที่องค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็ก พบว่า มักมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ไม่มีงบประมาณดำเนินการ หรือในบางสถานประกอบการอาจมีลักษณะงาน หรือระบบนิเวศที่ไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สถานประกอบการที่มีที่ตั้งหลายแห่ง จะยากต่อการทำกิจกรรม มีลักษณะงานไม่เอื้อ ทำงานไม่เป็นเวลาเดียวกัน หรือโรงงานที่ต้องเดินสายการผลิตตลอด หยุดไม่ได้ รวมไปถึงการที่ไม่ได้สร้างความตระหนักด้านสุขภาพให้กับพนักงานตั้งแต่แรกเข้า ตลอดจนระบบนิเวศโดยรอบสถานประกอบการที่ไม่เอื้อ เป็นต้น
“จากข้อมูลและผลวิจัยสามารถสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น โดยจัดทำเป็นข้อเสนอมาตรการต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน สำหรับมาตรการตัวเงิน ภาครัฐอาจต้องมีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับสถานประกอบการ อาทิ ให้งบสนับสนุนการทำกิจกรรม หรือลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรที่มีกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับสถานประกอบการที่ดูแลสุขภาพของพนักงานได้ดี มีสวัสดิการการตรวจสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจสุขภาพตา เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพ กรณีผู้ประกันตนไม่เจ็บป่วย ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ควรจัดทำแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานให้ชัดเจน มีการให้ความรู้/คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมหรือดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ควรมีการจัดแบ่งพื้นที่ให้มีพื้นที่ของการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และส่งเสริมให้พนักงานใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรม รวมถึงการออกเป็นกฎหมายให้สถานประกอบการกำหนดเวลาให้พนักงานทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น” ดร.นพ.เจตน์ ให้ข้อมูล
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ปัจจุบันการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสุขภาวะของคนทำงาน ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคลให้ความสนใจมากขึ้น และพนักงานเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น และเป็นสุขภาพที่ต้องครอบคลุม 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา และสุขภาพทางสังคม
ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวว่า หากมองจากสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน ที่ผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคลหลายแห่งสะท้อนว่าต้องเผชิญกับอัตราการลาออกที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสุขภาพจิต ความเครียด ทำให้หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ โดยมีการบริหารจัดการเชิงระบบในรูปแบบของสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับพนักงาน ซึ่งเปรียบเสมือน Soft Power ในการช่วยดึงดูดคนทำงานให้อยู่ในองค์กรได้ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อค้นหาบทบาทที่เหมาะสม และมาตรการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะในภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การป้องกันโรคไม่ติดต่อของคนทำงานที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศ ตลอดจนเป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายในระดับองค์กรต่อไป
ข้อมูลจาก
- โครงการวิจัย การศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อ ในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- เสวนาวิชาการ “Chula Health and Well-being at Work Forum 2023: การสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรสู่ความยั่งยืน