จากเอริส สู่ GK และ HK.3
นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าโควิดมีเคล็ดลับใหม่ (New trick) ช่วยให้ไวรัสยึดจับกับผิวเซลล์ได้ดีขึ้น เรียกว่า “Flip หรือ พลิก” กล่าวคือมีการกลายพันธุ์ สองตำแหน่งติดกัน (double mutation) คือ L455F และ F456L ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกรดอะมิโน “ฟีนิลอะลานีน (F)” และ “ลิวซีน (L)” โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์แรกเปลี่ยนจาก L เป็น F และตำแหน่งถัดมาพลิกเปลี่ยนจาก F เป็น L เมื่อรวมการเปลี่ยนแปลงทั้งสองเข้าด้วยกันจะทำให้ส่วนหนามของไวรัสจับกับผิวเซลล์ (ACE2) ได้แน่นขึ้น ทำให้ไวรัสแทรกเข้าสู่เซลล์ได้ดียิ่งขึ้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า “พลิก (Flip)”
ปรากฏการณ์ “พลิก (Flip)” นี้ทำให้เกิด XBB สองสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
1. XBB.1.5.70 (GK) มีต้นตระกูลมาจาก XBB.1.15 เกิดกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L และ
2. XBB.1.9.2.5.1.1.3 (HK.3) เกิดจากรุ่นพ่อ EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L
โอมิครอน GK (XBB.1.5.70) ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์บนฐานข้อมูลจีเสส (GISAID) แล้วทั้งสิ้น 410 ตัวอย่าง
ส่วนโอมิครอน HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์บนฐานข้อมูลจีเสสเพียง 2 ตัวอย่าง ซึ่งต้องเฝ้าติดตามทั้งสองสายพันธุ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ยังไม่พบโอมิครอน “GK” และ HK.3 ในประเทศไทย
การวิวัฒนาการจาก XBB.1.15 มาเป็น XBB.1.5.70 (GK) และการวิวัฒนาการจาก EG.5.1 มาเป็น XBB.1.9.2.5.1.1.3 (HK.3) เป็นวิวัฒนาการ “เบนเข้าหรือวิวัฒนาการเชิงบรรจบ (convergent evolution)” เป็นตัวอย่างของธรรมชาติในการกำหนดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต แสดงให้เห็นว่าแม้ไวรัสจากต่างสายพันธุ์ย่อย XBB.1.15 และ XBB.1.9.2.5.1.1.3 กลับมีวิวัฒนาการในลักษณะคล้ายคลึงกันคือมีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกัน(double mutation) คือ L455F และ F456L เหมือนกัน เนื่องจากไวรัสทั้งสองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันหรือเหมือนกัน
โอมิครอน XBB.1.5.70 (GK) มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)สูงกว่า EG.5.1 ประมาณ 27 %
ตัวอย่างเช่น
- ปีกของค้างคาว นก และแมลงวิวัฒนาการมาอย่างอิสระ แต่ทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เดียวกันคือช่วยให้สิ่งมีชีวิตบินได้
- ฉลาม (ปลา) และโลมา (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ต่างมีรูปร่างคล้ายกันที่ช่วยให้ว่ายผ่านน้ำได้ดี นี่เป็นเพราะทั้งฉลามและโลมาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางน้ำและจำเป็นต้องสามารถว่ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- XBB.1.15 และ EG.5.1 เกิดการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L เหมือนกัน เกิดเป็น XBB สายพันธุ์ใหม่ GK (XBB.1.5.70) และ HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) อาจเป็นเพราะได้รับแรงกดดันจากวัคซีนเช่นเดียวกัน