7 กลยุทธ์
แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์ ซึ่งมีมาตรการหรือกิจกรรมหลักที่อ้างอิงและปรับปรุงจากมาตรการแนะนำสำหรับการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ที่ควรดำเนินการและมีความคุ้มค่าที่สุด (SAFER) องค์การอนามัยโลก ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
มาตรการ SAFER ประกอบด้วย
(1) ควบคุมการเข้าถึง (Strengthen restrictions on alcohol availability)
(2) ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม (Advance and enforce drink driving counter measures)
(3) อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการบำบัดรักษา (Facilitate access to screening, brief interventions and treatment)
(4) ควบคุมการโฆษณา ส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ (Enforce bans or comprehensive restrictions on alcohol advertising, sponsorship, and promotion)
(5) ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี และนโยบายด้านราคา (Raise prices on alcohol through excise taxes and pricing policies)
แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 จำนวน 7 กลยุทธ์ ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 339.30 ล้านบาท
กลยุทธ์ที่ 1 ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง
งบประมาณ 96.70 ล้านบาท
เป้าหมายกลยุทธ์ เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมและในประชากรกลุ่มเสี่ยงผ่านกลไกการควบคุมให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าราคาแพง หาซื้อยาก และเพิ่มสัดส่วนจำนวนประชากรต่อใบอนุญาตในการเข้าถุงจุดจำหน่ายของประชาชนขึ้นจากปี 2562
ตัวชี้วัดหลัก สัดส่วนจำนวนประชากรต่อใบอนุญาตจำหน่ายสุราเพิ่มขึ้น
ค่าเป้าหมายรายปี
2565 138 (คน/ใบอนุญาต)
2566 152 (คน/ใบอนุญาต)
2567 167 (คน/ใบอนุญาต)
2568 184 (คน/ใบอนุญาต)
2569 202 (คน/ใบอนุญาต)
2570 245 (คน/ใบอนุญาต)
ตัวอย่างโครงการสำคัญ
โครงการควบคุมจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังการจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (51.68 ล้านบาท) และการพัฒนาระบบ GIS เพื่อการจัดการข้อมูลร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร [ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร (กทม.)]
- หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนและ กทม.
โครงการพัฒนาระบบและกลไกการบังคับใช้กฎหมาย (45 ล้านบาท) โดยดำเนินการผ่านกิจกรรม เช่น (1) การประชาสัมพันธ์และการลงพื้นที่ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการ รวมถึงบริเวณรอบสถานศึกษา (2) การทบทวนและพัฒนากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. กรมสรรพสามิต
กลยุทธ์ที่ 2 ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม
งบประมาณ 15 ล้านบาท
เป้าหมายกลยุทธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะภายหลังการดื่มแอลกอฮอล์
ตัวชี้วัดหลัก
(1) ร้อยละของผู้ขับขี่/ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนอันเกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง
(2) จำนวนการสุ่มตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจเพิ่มขึ้น
(3) ร้อยละของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้รับการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มขึ้น
ค่าเป้าหมายรายปี
ปี 2565 2566 2567 2568 2569 2570
(1) (ร้อยละ) 15.5 15 14.5 14 13.5 13
(2) (ครั้ง) 98,000 99,000 100,000 101,000 102,000 103,000
(3) (ร้อยละ) 50 60 70 80 90 100
ตัวอย่างโครงการสำคัญ
โครงการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม โดยมีกิจกรรม เช่น (1) การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการตั้งด่านตรวจระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจอย่างสุ่ม (1 ล้านบาท) และ (2) การฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติเนื่องจากขับรถขณะเมาสุราแบบเข้มข้น (13.5 ล้านบาท)
- หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค กรมคุมประพฤติ ตช.
โครงการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล กรณีเมาแล้วขับ โดยการจัดการข้อมูลวิชาการและกระบวนการขับเคลื่อนการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (5 แสนบาท)
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค
กลยุทธ์ที่ 3 คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา
งบประมาณ 22.20 ล้านบาท
เป้าหมายกลยุทธ์ เพื่อจัดการให้ผู้มีปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการดูแลรักษา ตามมาตรฐานที่เหมาะสม
ตัวชี้วัดหลัก (1) ร้อยละของผู้มารับการบริการในสถานบริการสุขภาพ อายุ 15 ปีขึ้นไป ได้รับการคัดกรองพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น
(2) ร้อยละของผู้ที่มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูงได้รับบริการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างโครงการสำคัญ
โครงการพัฒนาหลักเกณฑ์และระบบติดตามผลการบำบัด ฟื้นฟูสภาพ โดยมีกิจกรรม เช่น (1) จัดทำหลักเกณฑ์การบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา (4.30 ล้านบาท) และ (2) พัฒนาระบบการเข้าถึงบริการตามสิทธิการรักษาพยาบาล (2.40 ล้านบาท)
- หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการบำบัดและผู้ดูแลรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา ผ่านการดำเนินกิจกรรม เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเรื่องการคัดกรอง ให้คำปรึกษาเทคนิคการบำบัดแบบสั้น (2.1 ล้านบาท) เป็นต้น
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต
โครงการพัฒนาและสนับสนุนการจัดบริการบำบัดรักษานอกระบบบริการสุขภาพ ผ่านกิจกรรม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (สายด่วน 1413) (12 ล้านบาท) เป็นต้น
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ: ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด