นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในระหว่างการเปิดประชุมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ว่ากิจการการดูแลผู้สูงอายุฯ หรือที่เรามักเรียกกันว่า Nursing Home จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ มีประชากรสูงอายุนับเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ผู้ประกอบการจึงต้องมาช่วยกันพัฒนาคุณภาพ และรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อพร้อมรองรับผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ติดเชื้อเร็ว แพร่เชื้อง่าย ทำให้กรม สบส. ห่วงใยผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานดูแลต่างๆ หากเกิดการติดเชื้อและไม่ได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน อาจทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ประกาศกรม
กรม สบส. จึงออกประกาศกรม เรื่อง กำหนดสถานที่อื่นเป็นสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ประเภท Community Isolation พ.ศ.2565 โดยกำหนดให้ สถานประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 เป็นสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ประเภท Community Isolation ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาก่อนหน้านี้
กิจการการดูแลผู้สูงอายุฯที่ประสงค์จะเป็นสถานพยาบาล (เป็นการชั่วคราว) ตามประกาศดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
เพื่อเป็นการรองรับ ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 ไม่ว่าจะด้วยจากการตรวจ ATK หรือ RT-PCR ต้องมีการแยกกักตัวอย่างเหมาะสม มีความปลอดภัยในสถานดูแล (Nursing Home Isolation) ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ระหว่างรอการส่งตัวไปยังโรงพยาบาล ในกรณีที่เตียงโรงพยาบาลเหลือน้อยหรือไม่เพียงพอ หรือดูแลจนกว่าอาการทุเลาหรือหายขาดจากโรค
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี กรม สบส. กล่าวว่า กรณีพบว่ามีผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด 19 ในสถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการต้องรายงานผลการติดเชื้อต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทันที และประสานส่งต่อผู้สูงอายุที่ติดเชื้อไปยังสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยนั้นมีสิทธิการรักษา ในระหว่างรอการส่งต่อหรือจำเป็นต้องพักรักษาตัวในสถานดูแลเนื่องจากเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ
การจัดโซนสถานดูแล
กรมสบส.ได้กำหนดรูปแบบที่จะต้องจัดทำ ดังนี้
- สถานดูแลจะต้องจัดแยกโซนการดูแลออกเป็น 3 โซน คือ ผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง(PUI) และผู้สูงอายุปกติ
- กำหนดให้มีการเข้าออกคนละทาง
- ต้องเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเท ระบายอากาศได้ดี
- เป็นระบบปรับอากาศแยกส่วน
- ต้องตั้งทีมดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกิจแยกจากทีมที่ดูแลผู้สูงอายุปกติ
- เตรียมระบบสื่อสารกับคนไข้ เช่น Line หรือ Telemedicine
- ประสานงานโรงพยาบาลคู่สัญญาให้จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว ยาหรือเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ
- แจ้งญาติงดเยี่ยมผู้สูงอายุที่ติดเชื้อทุกกรณี ให้เยี่ยมผ่านระบบออนไลน์แทน
- ต้องมีการประเมินอาการรายวัน และรายงานอาการของผู้ป่วยให้โรงพยาบาลหรือแพทย์เจ้าของไข้ทราบ
- พร้อมประสานส่งต่อเร่งด่วน กรณีผู้สูงอายุมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง หรือเกิดอันตรายต่อชีวิต