นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ในช่วง 7 วัน เทศกาลสงกรานต์ปี 2566 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 2,203 ครั้ง เสียชีวิต 264 ราย และบาดเจ็บรุนแรง 2,208 ราย สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะลดลงให้ได้เกินครึ่งหนึ่งจากมาตรการที่เข้มข้นของทุกฝ่าย สำหรับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถตรวจวัดโดยวิธีเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ พบผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดถึง ร้อยละ 33.53 ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.46 ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิต ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย เกือบร้อยละ 90 เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ ขอให้สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ส่วนผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ รถรับจ้าง รถโดยสารสาธารณะ ให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และหากเป็นเด็กเล็กควรจัดหาที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ให้เด็กด้วย
“หวังว่าพี่น้องประชาชนจะเดินทางไปกลับและท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย สุขกาย สุขใจ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนแล้ว หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงชีวิต สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งของรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัด “ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน” พร้อมฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน ลงพื้นที่ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกัน, เตรียมความพร้อมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับ รวมทั้งทางอากาศและทางเรือ สำหรับโรงพยาบาล ให้เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ ให้พร้อมรับผู้บาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหมู่หรือมีความรุนแรง, เตรียมการรับ/ส่งต่อ ของสถานพยาบาลในเครือข่าย, ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ให้ติดต่อประสานงานส่วนกลางกับจังหวัดและเครือข่ายสถานบริการตลอด 24 ชั่วโมง, เจาะเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบูรณาการการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ถูกคุมประพฤติฐานขับรถในขณะเมาสุรากับหน่วยบริการของโรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยคัดกรองหรือประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ที่คุมประพฤติจังหวัดส่งมาให้ ประเมินปัญหาการดื่มสุราและช่วยเหลือตามแนวทางที่กำหนด
“ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของปีที่ผ่านมา มาวิเคราะห์หาสาเหตุ พฤติกรรมเสี่ยง จุดเสี่ยง และสะท้อนปัญหาให้กับ ศปถ.จังหวัด/อำเภอ เพื่อวางแผนแก้ไขและออกมาตรการระดับพื้นที่ ทั้งนี้ ช่วงสงกรานต์แต่ละปีมีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปกติ เฉลี่ยวันละกว่า 3,500 ราย คาดว่าสงกรานต์ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น จึงขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุด้วยการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีเวลาดูแลผู้ป่วยอื่นๆ อย่างเต็มที่” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.ดิเรก กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง พบการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย จึงเน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์บังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 เขต สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย สำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย และให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายให้โทรศัพท์แจ้งศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร. 0-2590-3342 หรือ สายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง