ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2565 คาดการณ์ว่าปีนี้อุณหภูมิจะลดลงมากกว่าปีที่ผ่านมา และจะหนาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถือได้ว่าอาจหนาวยาวนานกว่าปีก่อน ซึ่งอากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และเชื้อโรคบางชนิดอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย กรมควบคุมโรคจึงได้ออกประกาศเตือนเรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ)
2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง)
3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด)
4.ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว)
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 สามารถติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อ หากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการไข้ ไอแห้ง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เยี่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ และ โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดที่ถุงลมปอดจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการดังกล่าวมักเป็นเฉียบพลัน และพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีอาการรุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว โดยทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค จะมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด
กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ อาการจะมีไข้ ไอ ตาแดงและแฉะ และมีผื่นขึ้นหลังมีอาการ 3-4 วัน ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องฉีดเข็มแรก ตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสอง ตอนอายุ 1 ปีครึ่ง
กลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ ได้แก่ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือผ้าห่มกันหนาวที่เพียงพอ จากการเฝ้าระวังการเสียชีวิตที่มาจากสภาวะอากาศหนาว ระหว่างวันที่ 2 พ.ย. 64 - 1 มี.ค. 65 พบว่า มีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวัง 10 ราย เสียชีวิตภายนอกบ้าน 6 ราย (เป็นสถานที่ที่ไม่สามารถป้องกันความหนาวได้ เช่น กระท่อม ทุ่งนา ใต้ถุนบ้าน) เสียชีวิตในบ้าน 4 ราย เดือนธันวาคมเป็นช่วงที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุด 5 ราย
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำประชาชนในช่วง หน้าหนาวนี้เตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เพียงพอ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้พิการ ควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวหากป่วยจะมีอาการหนักกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงภาวะอากาศหนาว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422