ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่งของไทย สวัสดิการรัฐดูแลคนแก่ ยุค Aging society

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่งของไทย สวัสดิการรัฐดูแลคนแก่ ยุค Aging society Thumb HealthServ.net
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่งของไทย สวัสดิการรัฐดูแลคนแก่ ยุค Aging society ThumbMobile HealthServ.net

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) เป็นสถาบันของรัฐ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบการสงเคราะห์ ปัจจุบันมี ศพส.เปิดบริการ 12 แห่งทั่วประเทศ แบบสงเคราะห์ฟรี และเสียค่าบริการ

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่งของไทย สวัสดิการรัฐดูแลคนแก่ ยุค Aging society HealthServ
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) เป็นสถาบันของรัฐ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบการสงเคราะห์ 
 
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) มีด้วยกัน 12 แห่งทั่วประเทศ ดังนี้
 
  1. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค กรุงเทพ
  2. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี
  3. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  4. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางละมุง จังหวัดชลบุรี
  5. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ (เชียงใหม่)
  6. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดลำปาง
  7. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขอนแก่น
  8. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม
  9. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์
  10. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุภูเก็ต
  11. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา
  12. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ จังหวัดยะลา
 
 
การให้บริการ ของ ศพส. ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 แผนยุทธศาสตร์กรมกิจการผู้สูงอายุ 20 ปี และระเบียบกรมกิจการผู้สูงอายุว่าด้วยการให้บริการผู้สูงอายุ พ.ศ. 2558 


 
การให้บริการมี 2 ลักษณะคือ 
1. ผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการประเภทสามัญ คือ ได้รับการสงเคราะห์ 
2. ผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการประเภทเสียค่าบริการ
 
 
ผู้สูงอายุในศูนย์ ที่จะเข้าอยู่ในศูนย์ ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ที่ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวของตนได้หรือไม่มีผู้อุปการะ รวมถึง ผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ฯ แบบเสีย ค่าบริการด้วย
 
ผู้สูงอายุในศูนย์จะได้รับการดูแลในกิจวัตรประจำวัน มีกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละช่วงของกิจวัตรประจำวันเพื่อให้ผู้สูงอายุผ่อนคลายและได้ทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ ซึ่งผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ

 
 

จำนวนผู้สูงอายุ ใน ศพส. ปี 2563

 
จากการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ใน ศพส. จำนวน 12 แห่ง ในปี 2563 มีผู้สูงอายุรวมทั้งสิ้น 1,285 ราย แบ่งเป็น
 
1. ผู้สูงอายุเข้ารับบริการประเภทสามัญ คือ ได้รับการสงเคราะห์ จำนวน 1,212 ราย มีผู้สูงอายุที่รอใช้บริการ จำนวน 272 ราย
 
2. ผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการประเภทเสียค่าบริการ จำนวน 73 ราย และมีผู้สูงอายุที่รอใช้บริการ จำนวน 3,873 ราย


 

ข้อมูลอ้างอิง 

สถิติผู้ใช้บริการของศูนย์พัฒนาการฯ ทั้ง 12 ศูนย์ (ปี 2563)

 
 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค กรุงเทพ

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค
813 ถ.เพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
เบอร์โทรศัพท์ 0-24131141 เบอร์แฟกซ์: 0-2455-1590
Website : http://banbangkhae.go.th/
 
   บ้านบางแค เดิมใช้ชื่อว่า  สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2496 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งสถานสงเคราะห์แห่งนี้นับเป็นสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุตามนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐ โดยเริ่มเปิดดำเนินการในสมัยของนายปกรณ์ อังศุสิงห์ เป็นอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์  จนกระทั่งเมื่อวันที่  30 ธันวาคม 2546 บ้านบางแค ได้ปรับบทบาทจากหน่วยงานปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุ มาเป็นงานส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ และในวันที่  2  พฤศจิกายน  2548  ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค
 
ภารกิจ 4 ด้าน

1.ภารกิจการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุแบบสถาบัน
ภารกิจการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุแบบสถาบัน หมายถึง การจัดบริการสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุในรูปแบบของสถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นการจัดบริการให้แก่ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทางสังคม ทุกข์ยากเดือดร้อน ขาดผู้อุปการะดูแล ไม่มีที่อยู่อาศัย รวมถึงการให้บริการแก่ผู้สูงอายุทั่วไป โดยมีการจัดบริการใน 2 รูปแบบ ได้แก่
 
- การจัดบริการสวัสดิการสังคมและคุ้มครองผู้สูงอายุแบบเต็มเวลา
  เป็นการให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับบริการ การเข้ารับบริการ หน้าที่ของผู้รับบริการตามระเบียบกรมกิจการผู้สูงอายุ ว่าด้วยการให้บริการผู้สูงอายุ พ.ศ. 2558 หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานที่ให้บริการ 
 
- การจัดบริการสวัสดิการสังคมและคุ้มครองผู้สูงอายุแบบบริการทางสังคม
  เป็นการให้บริการดูแลผู้สูงอายุในตอนกลางวัน แบบเช้าไป-เย็นกลับ โดยการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุใน 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี และนวัตกรรม
 
2.ภารกิจการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในชุมชน
ภารกิจการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในชุมชน หมายถึง การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน การส่งเสริมสนับสนุนให้อาสาสมัคร ชุมชน และท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ การส่งเสริมสนับสนุนองค์ความรู้ การจัดกิจกรรม การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่  และนวัตกรรมทางภูมิปัญญามาใช้ในการดูแล ช่วยเหลือ และพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกกลุ่มวัย รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนและสังคมมีทัศนคติเชิงบวกกับผู้สูงอายุ
 
3.ภารกิจให้บริการศูนย์การเรียนรู้ด้านผู้สูงอายุ
ภารกิจให้บริการศูนย์การเรียนรู้ด้านผู้สูงอายุ หมายถึง การให้บริการ ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาดูงาน ฝึกอบรม สัมมนา จัดกิจกรรม พัฒนาหลักสูตรการอบรม วิธีการฝึกอบรม  การนิเทศติดตามและประเมินผล       การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในพื้นที่ การจัดการความรู้ พัฒนาคู่มือ หลักสูตร   องค์ความรู้ ภูมิปัญญาด้านผู้สูงอายุ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทั้งการดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพ การถ่ายทอดความรู้เสริมสร้างรายได้ อาชีพ และภูมิปัญญาผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร และองค์กรเครือข่ายด้านการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 
 
4.ภารกิจให้บริการด้านข้อมูลและให้คำปรึกษาด้านผู้สูงอายุ
ภารกิจให้บริการด้านข้อมูลและให้คำปรึกษาด้านผู้สูงอายุ หมายถึง การให้บริการด้านข้อมูลสารสนเทศด้านผู้สูงอายุในพื้นที่บริการ การรวบรวมจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านผู้สูงอายุ การรวบรวมข้อมูลทำเนียบเครือข่ายดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในพื้นที่บริการ ทำเนียบคลังปัญญาผู้สูงอายุ สถานการณ์สถิติข้อมูล องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ ข้อมูลผู้รับบริการ ข้อมูลการให้บริการ หรือผลการดำเนินงานของหน่วยงาน การพัฒนาระบบการให้บริการข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการให้บริการให้คำปรึกษาแนะนำ      ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุและประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ประสานงานและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบปัญหา
 
 
คุณสมบัติของผู้รับบริการ
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ให้ความอุปการะผู้สูงอายุชายหญิง สัญชาติไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีความสมัครใจ ประสบปัญหาความเดือดร้อน เช่น ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ไม่มีที่อยู่อาศัย ฐานะยากจนที่ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ไม่มีความพิการทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือนและ ต้องไม่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญา
 
การสมัครเข้ารับบริการ
1. ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการกรุงเทพ (หรือสำนักงานประชาสงเคราะห์เขตพื้นที่เดิมทุกเขต)
2. ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัดให้ยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่ตนอยู่(หรือสำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัดเดิม)
 
ประเภทของผู้รับบริการ
1. ประเภทสามัญ ให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้สูงอายุโดยไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น 
2. ประเภทเสียค่าบริการแบบหอพัก แบ่งออกเป็นห้องเดี่ยว เสียค่าบริการคนละ 1,500 บาทต่อเดือน และห้องคู่เดือนละ 2,000 บาท มีบริการทั้งหมด 40 ห้อง 
3. ประเภทพิเศษ (บังกะโล) เป็นบ้านเดี่ยวที่ปลูกสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดในที่ดินของศูนย์พัฒนาฯ โดยผู้ปลูกสร้างสามารถพักอาศัยอยู่ได้จนถึงแก่กรรม
 
- ค่าบำรุงแรกเข้า เป็นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) เพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมบังกะโลที่จะเข้าพัก
- ค่าบริการรายเดือนกรณีพักคนเดียว  เดือนละ 1,500 บาท  และในกรณีเข้าพัก 2 คน เช่น คู่สามีภรรยา  หรือพี่น้องเพศเดียวกัน  เดือนละ 2,000 บาท
- ค่าน้ำประปา  เดือนละ 100 บาทต่อคน  และค่าไฟฟ้าคิดค่าใฃ้จ่ายตามจริง
 
 
**สอบถามรายละเอียด ที่นักสังคมสงเคราะห์ 0 2455 1593**
 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี (ศพส.ปทุมธานี) / บ้านผู้สูงอายุ (ปทุมธานี)/ มูลนิธิผู้สูงอายุบ้านปทุมธานี (ม.ผ.ส.)   
เลขที่ 9/1 หมู่ 2 ถนนรังสิต - นครนายก ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12110
โทรศัพท์ : 0-2577-1958  โทรสาร : 0-2577-1815
Website: http://pathumthani.dop.go.th/
 
 "ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี" จัดตั้งขึ้นในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548 มีเนื้อที่ 32 ไร่ ก่อสร้างแล้วเสร็จ วันที่ 28 กันยายน 2549 และใช้ชื่อว่า "ศูนย์สาธิตการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี" เปิดให้บริการผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทางสังคม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549
     ปัจจุบันศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2558)
 
พื้นที่รับผิดชอบ
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี ให้บริการในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ 6 จังหวัด ดังต่อไปนี้
1. จังหวัดปทุมธานี                 
2. จังหวัดนนทบุรี 
3. จังหวัดนครปฐม
4. จังหวัดสุพรรณบุรี
5. จังหวัดกาญจนบุรี
6. จังหวัดนครนายก
 
ภารกิจ
1. ศูนย์ข้อมูล : ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านผู้สูงอายุ โดยจัดทำทำเนียบเครือข่ายดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในพื้นที่บริการ/ จัดทำทำเนียบคลังปัญญา/ จัดทำสถานการณ์สถิติข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุ/ รวบรวมข้อมูลการให้บริการหรือการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาการจัด/สวัสดิการ/ สังคมผู้สูงอายุ  รวมทั้งข้อมูลของผู้ใช้บริการ
2.  ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนา : สนับสนุนการจัดประชุมและอบรมการให้ความรู้งานด้านผู้สูงอายุ
3. ศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในสถาบัน : ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือ อุปการะเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน 
4. ศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในชุมชน : จัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายในชุมชนเพื่อจัดสวัสดิการและช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน 
 
 
การให้บริการ
ระเบียบกรมกิจการผู้สูงอายุ ว่าด้วยการให้บริการผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ใช้บริการไว้ ... ข้อ ๗ ผู้สูงอายุที่มีความประสงค์เข้าใช้บริการในศูนย์ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 
(๑) มีอายุเกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย
(๒) ไม่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทําผิดอาญา และอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล 
(๓) ไม่เป็นโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ (ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๘)
(๔) มีความสมัครใจ
(๕) สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในกิจวัตรประจําวัน
(๖) ไม่มีอาการทางจิตที่รุนแรง หรือมีพฤติกรรมด้านลบที่จะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น 
(๗) ไม่ติดสารเสพติด หรือติดสุรา 
(๘) กรณีคนเร่ร่อน ถูกทอดทิ้ง หรือไร้ที่พึ่ง ต้องผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ๒๕๕๗ ก่อน เช่น การเยี่ยมครอบครัว/ชุมชน การหาอาชีพที่เหมาะสม เป็นต้น ข้อ ๘ ผู้สูงอายุที่มีความประสงค์เข้าอยู่ในศูนย์ ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๗ และต้องเป็น ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ (๑) ฐานะยากจน (๒) ไม่มีที่อยู่อาศัย (๓) ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ให้ความช่วยเหลือดูแล เมื่อพิจารณาแล้ว ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนด ทางศูนย์จะลงลำดับคิวการเข้าอยู่ไว้ให้ และแจ้งให้เข้าอยู่ ตามลำดับคิว ในการเข้าอยู่จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ผู้เข้าอยู่จะถูกตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นผู้ใช้บริการที่ได้รับสวัสดิการอื่น (ปัจจัยสี่) จากภาครัฐแล้ว
 
 
 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ฯ จ.พระนครศรีอยุธยา

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ฯ จ.พระนครศรีอยุธยา
ที่อยู่ 200/11 ม.2 ต.บ่อโพง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 13260
โทร 035-743277,035-743077
website:  www.watsanawet.go.th/
 
สนใจติดต่อบริจาค
ร่วมบริจาคทำบุญได้ที่ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ 
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  200/11 ม.2 ต.บ่อโพง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 13260
โทร 035-743277,035-743077

จองเลี้ยงอาหารและทำกิจกรรม โทร. 062-6160880
 
เกี่ยวกับศูนย์
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ฯ จ.พระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า "สถานสงเคราะห์คนชราวาสนะเวศม์" และได้ย้ายมาสังกัดกรม กิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน
 
  ประวัติความเป็นมาของศูนย์วาสนะเวศม์ฯ สืบเนื่องจากครั้งที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อครั้งยังมีพระชนม์ได้ทรงหายประชวร ในปีพุทธศักราช 2528 คณะศิษยานุศิษย์ถือ เป็นสิริมงคลและพระบารมีธรรม จึงได้ดำเนินการจัดสร้างสถานสงเคราะห์คนชราวาสนะเวศม์ขึ้นเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์คนชรา ที่ได้รับความยากลำบาก และประสบปัญหาทางสังคมให้ได้มีที่อยู่อาศัยที่ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตำบลและอำเภอที่ประสูติของพระองค์ เป็นการสร้างความเจริญและตอบแทนชาติภูมิของพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ และได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2530 โดยสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธาน และสมเด็จพระสังฆราช ทรงโปรดประทานชื่อสถานสงเคราะห์แห่งนี้ว่า "วาสนะเวศม์" ซึ่งมีความหมายว่า "ที่อยู่ของผู้มีบุญ" รวมพื้นที่ประมาณ 26 ไร่ ค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 30 ล้านบาทเศษ
 
      ต่อมาในปี พ.ศ.2531 และ พ.ศ.2536 คณะศิษยานุศิษย์และคุณทองใบ เร่งเพียร ได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมให้อีก 25 ไร่ เพื่อขยายการ บริการให้สงเคราะห์คนชราประเภทพิเศษ (ปลูกบ้านอยู่เอง) ในการนี้ได้มีผู้ยื่นคำร้องขออนุมัติและจัดสร้างบ้านพักอยู่เอง จำนวน 5 ราย มีผู้บริจาคบ้านพักชนิดทาวน์เฮ้าส์ 4 ห้องนอน จำนวน 1 ราย โครงการนี้เป็นโครงการร่วมมือระหว่างมูลนิธิสมเด็จ พระสังฆราช(วาสนะเวศม์ฯ) และกรมประชาสงเคราะห์เดิม และเมื่อ พ.ศ.2545 ได้มีการปรับโครงสร้างส่วนราชการจึงได้มาอยู่สังกัด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ ให้บริการผู้สูงอายุซึ่งมาอายุ 60 ปี ขึ้นไปโดยศูนย์ฯได้จัดบริการด้านต่างๆให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุข อยู่ดีกินดี ตามควรแก้อัตภาพ ซึ่งบริการของศูนย์ฯ แบ่งออกเป็น งานสงคราะห์ผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนา และ งานสวัสดิการผู้สูงอายุและด้อยโอกาสในชุมชน โดยทางศูนย์ ได้มีตั้งภารกิจของศูนย์ ฯไว้ดังนี้
 
ภารกิจศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ :
       1. ศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศงานสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
       2. ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนา
       3. ศูนย์การเรียนรู้
       4. ศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุแบบสถาบัน
       5. ศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในชุมชน
       6. ศูนย์ให้บริการคำแนะนำปรึกษา
 
 
 
 

 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ (เชียงใหม่)

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ (เชียงใหม่)
เลขที่ 1 ถ.มูลเมือง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 0-5327-8573 โทรสาร : 0-5328-1206
website: http://thammapakorn.dop.go.th
 
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ เชียงใหม่ เดิมใช้ชื่อว่า "สถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์ เชียงใหม่" ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2498 นับเป็นสถานสงคราะห์คนชราแห่งที่ สองของประเทศไทยถัดจากสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค เริ่มแรกมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เพื่อรับอุปการะเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดภาคเหนือรวม 12 จังหวัด ซึ่งประสบปัญหาความเดือดร้อน ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ได้ปรับบทบาทจากหน่วยงานที่ให้การดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบสถานสงเคราะห์ แต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นงานส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ เชียงใหม่" เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ “ จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และเมื่อมีการปรับโครงสร้างกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ เชียงใหม่ จึงเปลี่ยนลังกัดจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มาลังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558
 
เป้าประสงค์
1. ผู้สูงอายุได้รับการจัดสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุทั้งประเทศ
3. สร้างกลไกประชารัฐเพื่อสังคมผู้สูงอายุ
4. ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้
5. ยกระดับประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ 
 
 
รูปแบบการดำเนินงาน
1. ศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุแบบสถาบัน (Social welfare services for older persons under institutional care center)
หมายถึง การจัดบริการสวัสดิการสังคมและคุ้มครองผู้สูงอายุแบบเต็มเวลา การจัดบริการสวัสดิการสังคมและคุ้มครองผู้สูงอายุแบบบริการทางสังคม รวมทั้งการจัดบริการสวัสดิการสังคมและคุ้มครองผู้สูงอายุในกรณีฉุกเฉิน
 
2. ศูนย์การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน (Social welfare services for older persons within communities center)
หมายถึง การส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้และกิจกรรม การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ การส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนและสังคมมีทัศนคติเชิงบวกกับผู้สูงอายุ
 
3.ศูนย์การเรียนรู้และให้คำปรึกษาด้านผู้สูงอายุ (Learning and Counseling Center)
หมายถึง การบริการและสนับสนุนการศึกษาดูงาน การฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ การศึกษาวิจัย และการจัดการความรู้ด้านผู้สูงอายุ การสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ด้านอาชีพและภูมิปัญญาผู้สูงอายุ รวมถึงการบริการให้คำปรึกษาแนะนำผ่านช่องทางต่าง ๆ
 
4. ศูนย์บริการข้อมูลด้านผู้สูงอายุ (Data Center)
หมายถึง การจัดเก็บข้อมูลสถิติการให้บริการหรือการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ในพื้นที่บริการ การจัดเก็บรวบรวมสถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในพื้นที่บริการ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลทำเนียบเครือข่ายการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ
 
 
ผู้สูงอายุที่มีความประสงค์เข้าใช้บริการในศูนย์ฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
 
มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย
ไม่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดอาญา และอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรืออยูระหว่างการพิจารณา ของศาล
ไม่เป็นโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523
มีความสมัครใจ
สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในกิจวัตรประจำวัน
ไม่มีอาการทางจิตที่รุนแรง หรือมีพฤติกรรมด้านลบที่จะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
ไม่ติดสารเสพติด หรือติดสุรา
กรณีคนเร่รอน ถูกทอดทิ้ง หรือไร้ทีพึ่ง ต้องผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ก่อน เช่น การเยี่ยมครอบครัว/ชุมชน การหาอาชีพที่เหมาะสม เป็นต้น
ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. ฐานะยากจน
2. ไม่มีที่อยู่อาศัย
3. ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ให้การช่วยเหลือดูแล
 
 
ข้อมูลผู้สูงอายุใช้บริการในศูนย์ฯ (ล่าสุดมิถุนายน 2565)
จำนวนผู้สูงอายุในการดูแล 123 คน ชาย 60 คน หญิง 63 คน
แบ่งตามช่วงอายุ ได้ดังนี้ 
ช่วงอายุ 60-69 ปี 29 คน  
ช่วงอายุ 70-79 ปี 57 คน
ช่วงอายุ 80-89 ปี 33 คน 
ช่วงอายุ 90 ปีขึ้นไป 4 คน (อายุ 94 ปี)
ศักยภาพการช่วยเหลือตนเองได้ แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
ช่วยเหลือตนเองได้มาก 51 คน  ช่วยเหลือตนเองได้บางส่วน 53 คน ช่วยเหลือตนเองได้น้อย 19 คน 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม (ศพส.นพ.)
1.01. หมู่ 1.3 ถนนสายนครพนม-ท่าอุเทน กม.ที่ 20
ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม 481.20
โทรศัพท์ 0-4205-0055-6 โทรสาร 0-4205-00564
Website : www.nkpolder.dop.go.th
 
กิจการดูแลผู้สูงอายุในจ.นครพนม เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2540 เมื่อแรกตั้งกรมประชาสงเคราะห์ในจังหวัด ต่อมากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์สาธิตการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจาก ศูนย์สาธิตการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม เป็น ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม และได้เปิดรับผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง เข้ารับบริการประเภทอยู่ประจำ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2550 จำนวน 20 คน โดยมีเป้าหมายรับผู้สูงอายุ จำนวน 100 คน
 
ปัจจุบันพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม (ศพส.นพ.) สังกัด กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 1.4) พ.ศ.2558 ให้การอุปการะผู้รับบริการประเภทสามัญทั้งชายและหญิง โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ปัจจุบันมีอาคารเรือนนอน จำนวน 4 หลัง และมีเป้าหมายรับบริการผู้สูงอายุจำนวน 100 คน
 
 
รูปแบบการจัดสวัสดิการ
 รูปแบบของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จะดำเนินการในรูปแบบของกลุ่มงาน (Job) และศูนย์ (Center) ซึ่งมีทั้งหมด 2 กลุ่มงาน และ 6 ศูนย์ ดังนี้
1. ศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศงานสวัสดิการผู้สูงอายุ
2. ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนา 
3. ศูนย์การเรียนรู้
4. ศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุแบบสถาบัน
5. ศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในชุมชน
6. ศูนย์บริการให้คำแนะนำปรึกษาและส่งต่อ
 
การบริการ
การรับผู้สูงอายุเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ในรูปแบบสถานสงเคราะห์ ประเภทสามัญ
รูปแบบการช่วยเหลือ ผู้สูงอายุซึ่งประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน เช่น ถูกทอดทิ้ง ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู ซึ่งมีความสมัครใจเข้าอุปการะในสถานสงเคราะห์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
 
คุณสมบัติของผู้ขอรับบริการ
1. อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและมีสัญชาติไทย
2. ไม่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดอาญา และอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
3. ไม่เป็นโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523
4. มีความสมัครใจ
5. สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในกิจวัตรประจำวัน
6. ไม่มีอาการทางจิตที่รุนแรง หรือมีพฤติกรรมด้านลบที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
7. ไม่ติดสารเสพติด หรือติดสุรา
8. กรณีเร่ร่อน ถูกทอดทิ้ง หรือไร้ที่พึ่ง ต้องผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองคน ไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ก่อน เช่น การเยี่ยมครอบครัว/ชุมชน การหาอาชีพที่เหมาะสม เป็นต้น
9. ฐานะยากจน/ไม่มีที่อยู่อาศัย/ขาดผู้อุปการะหรือผู้ให้ความช่วยเหลืออยู่กับครอบครัวไม่มีความสุข
10. ต้องไม่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญา
 
 การสมัครเข้ารับบริการ
 1. ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ให้ยื่นใบสมัครได้ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม กลุ่มงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
 2.ผู้ที่มีภูิมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัดให้ยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่ตนอยู่
 
บริการที่พักอาศัยรูปแบบสถานสงเคราะห์
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม ให้บริการที่พักอาศัยในรูปแบบสถานสงเคราะห์ประเภทสามัญทั้งชายและหญิง โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ซึ่งจัดให้มีบริการต่างๆ ดังนี้
1. การบริการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ  โดยจัดให้มีปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อชีวิตเพื่อให้มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจในบั้นปลายชีวิตตามสมควรแก่อัตภาพ
2. บริการทางการแพทย์และอนามัย  จัดให้มีเจ้าหน้าที่พยาบาลดูแลรักษาพยาบาลตามคำสั่งแพทย์โดยอยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่เจ็บป่วยเฉพาะโรคหรือประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล จัดให้มีเจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรงตามสภาพร่างกาย เช่น กีฬาเปตอง , กายบริหาร ฯลฯ
3. บริการกายภาพบำบัด  มีเจ้าหน้าที่พยาบาล จัดบริการกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้สูงอายุตามคำแนะนำของแพทย์
4. บริการนันทนาการ  เป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้แสดงออกได้รับความบันเทิงสนุกสนานคลายความวิตกกังวล และความเครียด มีการจัดงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์
5. บริการด้านศาสนา  ให้ผู้สูงอายุประกอบพิธีกรรมทางศาสนาประเพณีนิยมในวันสำคัญ
6. บริการด้านฌาปนกิจ  ผู้สูงอายุที่ถึงแก่กรรม และไม่มีญาติจัดการศพ ศูนย์พัฒนาการพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม จะดำเนินการตามประเพณีทางศาสนา หากมีญาติต้องการนำศพไปบำเพ็ญกุศล ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม (ศพส.นพ.) จะอำนวยความสะดวกตามความประสงค์
 
 เอกสารประกอบการรับ Case เข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม (ศพส.นพ.)
1. ประวัติของผู้ใช้บริการ/ครอบครัว/เอกสารการสอบข้อเท็จจริง/รูปถ่ายปัจจุบัน
2. หลักฐานประจำตัว สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน
3. สิทธิในการรักษาพยาบาล/ประวัติการรักษา
4. ใบรับรองแพทย์/ใบ refer
5. หลักฐานการเยี่ยมบ้าน พร้อมภาพถ่าย
6. กรณีผู้สูงอายุมีทรัพย์สินต้องแจ้งรายละเอียดให้ทราบ
7. หนังสือประสานส่ง Case
8. เอกสารการประชุมประชาคมในพื้นที่ หมู่บ้าน ครอบครัว เครือญาติ
9. กรณีมีญาติหรือบุตรหลาน ต้องมีบันทึกแสดงความจำนง พร้อมรายละเอียดเอกสารต่างๆ ที่อยู่พร้อมเบอร์โทร ที่สามารถติดต่อได้สะดวกและเป็นปัจจุบัน
 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดลำปาง

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดลำปาง
เลขที่ 120 หมู่ 1 ถนนลำปาง-แจ้ห่ม ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52000
หมายเลขโทรศัพท์ 054-825576 - 7 ต่อ 303,311   โทรสาร 054-825577
Website : www.olderlampang.dop.go.th
Facebook : ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดลำปาง
 
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดลำปาง เดิมสังกัดสำนักบริการสวัสดิการสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับอนุมัติให้ดำเนิน การก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 เป็นหน่วยงานที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คัดเลือกเข้าร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี" พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2558 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารราชการภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกำหนดให้ หน่วยงานศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดลำปางไป สังกัดกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุขอนแก่น

 ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุขอนแก่น
เลขที่ 223 หมู่ 3 ถนนมิตรภาพ ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
โทรศัพท์ : 0-4339-3457 ถึง 9  FAX : 0-4339-3458
Website : http://khonkaen.dop.go.th
 
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขอนแก่น เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค สังกัดกรมกิจการ ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 โดยนางอนงค์ วงศ์วานิช ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน จำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) เพื่อสมทบการก่อสร้างอาคารร่วมกับ งบประมาณจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ชื่อเดิมกรมประชาสงเคราะห์) เพื่อก่อสร้างเป็นศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุขอนแก่น บนที่ดินราชพัสดุจำนวน 130 ตารางวาเป็นอาคารอเนกประสงค์ขนาด 3 ชั้น (หน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น) ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขอนแก่น โดยเปิดให้ บริการกิจกรรมประเภทมาเช้า - เย็นกลับ (Day Center) และ เมื่อปี 2555 ศูนย์ฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารศูนย์เรียนรู้การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น (ตำบลสำราญ) โดยขอใช้ ที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ จำนวน 5 ไร่ และเปิดให้บริการ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ศูนย์พัฒนาการ จัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุได้เปลี่ยนมาอยู่ในความรับผิดชอบภาย ใต้สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน
 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์
229 หมู่ 3 ตำบลชุมเห็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ 31000
หมายเลขโทรศัพท์ 044-182560-1  โทรสาร 044-182560
Website : www.banburitam.dop.go.th
 
สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2537 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ได้ตระหนักว่าผู้สูงอายุในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ยังประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อนฐานะยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้สมควรได้รับความดูแลช่วยเหลือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจึงได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินการจัดตั้ง สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบุรีรัมย์ โดยดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 บนพื้นที่บริเวณ ที่สาธารณประโยชน์บ้านโกรกขี้หนู ต.ชุมเห็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ และแล้วเสร็จสมบูรณ์  ในปี พ.ศ. 2542ได้รับงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง เป็นเงินจำนวน 37,450,000.-บาท (สามสิบเจ็ดล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
 
       ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดรับผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง เข้ารับการบริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 จำนวน 100 คน และเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2542  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่า “สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบุรีรัมย์” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจากเดิม“สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบุรีรัมย์” เป็น “ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์”   ตามมติสำนักงาน ก.พ.เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 มีเป้าหมายรับผู้สูงอายุ จำนวน 100 คน 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุภูเก็ต

 ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุภูเก็ต 
เลขที่ 132 หมู่ 2 ตำบาลป่าคลอก อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต
โทรศัพท์ : 076-529699 - 700  FAX : 076-529546
Website : http://phuket.dop.go.th
Facebook : www.facebook.com
 
"ผู้สูงอายุภาคใต้ฝั่งอันดามัน อยู่ดีมีสุข"
 
เดิมชื่อ สถานสงเคราะห์คนชราบ้านภูเก็ต  โดยกรมประชาสงเคราะห์  (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ)   ได้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการจัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราบ้านภูเก็ต   เพื่อให้ความอุปการะเลี้ยงดูคนชราที่ประสบความเดือดร้อน   โดยได้รับงบประมาณดำเนินการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาชนบทและชุมชน ตามข้อเสนอของนายเรวุฒิ  จินดาพล  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จังหวัดภูเก็ต   ในปีงบประมาณ 2533 เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ จำนวน 1 หลัง เป็นอาคารหลังแรก โดยเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534 ในที่หลวง ที่เลี้ยงสัตว์และพักผ่อน  หย่อนใจ “บ้านป่าคลอก” ตำบลป่าคลอก  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  จำนวน  18 ไร่เศษ   
 
หลังจากนั้นกรมประชาสงเคราะห์ ได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างถนนภายในสถานสงเคราะห์  สร้างอาคารนอนของคนชรา  อาคารฟื้นฟูบำบัด  อาคารโภชนาการ บ้านพักเจ้าหน้าที่ และอาคารพยาบาล  รวมทั้งการจัดระบบไฟฟ้าและระบบน้ำประปา พร้อมรั้วกำแพงและประตูเข้าออก  ทำให้หน่วยงานเริ่มเปิดรับผู้สูงอายุเข้ามาอุปการะวันแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2537 เรื่อยมากระทั่งเมื่อวันที่ 30  ธันวาคม 2546  สถานสงเคราะห์คนชราบ้านภูเก็ตได้ปรับบทบาทจากหน่วยงานปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุ  มาเป็นงานส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ  และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุภูเก็ต”  เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558  ตามนโยบายรัฐบาล  และในปี 2558 ปรับโครงสร้างตาม พระราชบัญญัติปรับปรุงฯกระทรวงฯ มาสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 
 มีนาคม  2558
 
 
สถิติผู้สูงอายุบ้านภูเก็ต
ล่าสุดปี 2564 มีผู้สูงอายุ 72 คน ชาย 38 คน หญิง 34 คน
ศักยภาพสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี 16 คน ช่วยได้ปานกลาง 35 คน ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ 21 คน
ช่วงอายุ ระหว่าง 60-70 ปี รวม 35 คน  อายุ 71-80 ปี 20 คน อายุ 81-90 ปี 15 คน อายุ 91 ปี ขึ้นไป 2 คน 
 
 

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา
เลขที่ 45 ม.4 ตำบลจะแหน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา 90210 
โทรศัพท์ : 074-801930 , 074-801931
Facebook : www.facebook.com/profile

ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ จังหวัดยะลา

 ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ จังหวัดยะลา 
เลขที่ 62 ถนนสุขยางค์ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000
โทรศัพท์ : 073-274298, โทรสาร : 073-274298
Website : http://bantaksin.dop.go.th/
Facebook : ศูนย์ฯผู้สูงอายุบ้านทักษิณ ยะลา 
 
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ หรือชื่อเดิม “สถานสงเคราะห์คนชราบ้านทักษิณ” สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นว่าควรจะจัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราในเขตพื้นที่ ๑๔ เพื่อรับอุปการะคนชราในเขตภาคใต้เหมือนกับที่ได้จัดตั้งขึ้นตามภาคต่างๆ มาแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงบั้นปลายชีวิต ด้วยเหตุนี้ จึงได้ดำเนินการให้จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราแห่งใหม่ขึ้นที่จังหวัดยะลา โดยเริ่มรับคนชราเข้ารับอุปการะเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2511 และกระทำพิธีเปิดดำเนินการเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2512
 
          สถานสงเคราะห์คนชราบ้านทักษิณ จังหวัดยะลา เป็นสถานสงเคราะห์ที่ไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายกระจายอำนาจของรัฐบาล ต่อมา เปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงานจาก “สถานสงเคราะห์คนชรา” เป็น “ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ จังหวัดยะลา” เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 และต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2558 ให้มาสังกัด กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีภารกิจรับผิดชอบเป็นศูนย์ดำเนินการสนับสนุนและพัฒนามาตรฐานรวมทั้งพัฒนาการจัดบริการด้านผู้สูงอายุเพื่อเป็นศูนย์ต้นแบบในการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด