ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ปี 2564

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ปี 2564 Thumb HealthServ.net
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ปี 2564 ThumbMobile HealthServ.net

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย เป็นประจำ

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2564

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -1 ก.ย. 64 พบผู้ป่วย 6,485 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุพบมากที่สุดคือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา อายุ 15-24 ปี โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า รวมถึงมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่พักอาศัย

           การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้ จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโควิด 19 ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกร่วมด้วย จะทำให้อาการทรุดหนักได้อย่างรวดเร็วและอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กลุ่มที่ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตส่วนใหญ่ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการสงสัยที่อาจจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา หรือโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่นๆ ให้เข้ารับการวินิจฉัยที่ สถานพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้กลุ่ม NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น หากจำเป็นให้ใช้เฉพาะยาพาราเซตามอล และควรเพิ่มการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
1.เก็บบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ 
2.เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ
3.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง ซึ่งจะป้องกันได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422                     
 

 
 

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 ก.ค. 63 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 25,708 ราย เสียชีวิต 15 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ  จากข้อมูลการกระจายของผู้ป่วย พบว่า ผู้ป่วยมีการกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ชัยภูมิ รองลงมาคือระยอง ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน และนครราชสีมา ตามลำดับ
 
           การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำนวนผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 จะมีรายงานผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 ก็ตาม แต่จากข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักและฝนตกสะสมหลายพื้นที่ ซึ่งหากฝนตกอาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก
2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ
3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา 

           นอกจากนี้ ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง และหากมีอาการไข้สูงปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

 
ข้อมูล
พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ - ฉบับที่ 32/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 37 (วันที่ 12 – 18 ก.ย. 64)
พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ - ฉบับที่ 270 ประจำสัปดาห์ที่ 28 (วันที่ 12 – 18 ก.ค. 63)

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด