จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปัจจุบันมีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน (20% ของประชากร) จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องมียุทธศาสตร์ในการรับมือปัญหาด้านสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับปรุงระบบดูแลผู้สูงอายุ ใน 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านการบริการสุขภาพ
- ด้านสวัสดิการสังคม และ
- การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการลดปัญหาการติดบ้าน ติดเตียง ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีการดำเนินการต่างๆ
- ในปี 2563 ได้พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ระดับตำบล โดยมีตำบลที่ผ่านเกณฑ์ 6,722 ตำบล จาก 7,255 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 92.65
- มีผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลสามารถเปลี่ยนจากกลุ่มติดเตียงเป็นติดบ้านร้อยละ 1.44
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้ง “คลินิกพิเศษเฉพาะทางโรคผู้สูงอายุ” นำร่องที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ให้บริการใน วันหยุดราชการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ครอบครัวผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ให้ดีขึ้น
ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะขยายบริการไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด ในเดือนเมษายน ปี 2564
“คลินิกพิเศษเฉพาะทาง โรคผู้สูงอายุ”
โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี นี้ จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคต่างๆ ให้บริการ ในช่วงเริ่มต้น จะเปิดให้บริการเฉพาะวันอาทิตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุมาได้ โดยเริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 หากมีผู้มารับบริการเพิ่มมากขึ้นจะเปิดบริการเพิ่มในวันเสาร์ ในเวลาเดิม
รายละเอียดบริการ (จากเพจ รพ.อุดรธานี)
- ให้บริการทุกวันอาทิตย์ 8-12 น.
- ณ อาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ ชั้น 2 โรงพยาบาลอุดรธานี
- โทร 042-245-555 ต่อ 3222 หรือ 094-2707555
- ค่ารักษา ตามสิทธิ์ที่เบิกได้
- มีค่าบริการนอกเวลาราชการ (เบิกคืนไม่ได้) เริ่มต้น 300 บาท
- นัดหมายล่วงหน้าได้
โดยทั่วไป ผู้สูงอายุที่มารับบริการส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ระบบปัสสาวะมีปัญหา ท้องเสีย และเจ็บป่วยทั่วไป หากจำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะทาง ต้องการความเชี่ยวชาญต่อเนื่อง ก็จะถูกส่งต่อไปยังคลินิกเฉพาะทางในวันราชการ โดยไม่มีคิว ได้ตรวจตามเวลาที่นัดไว้
นอกจากนี้ ในระยะที่สอง หากคลินิก มีการใช้บริการมากขึ้น (มากกว่า 20 รายต่อวัน) ยังพิจารณาถึงโอกาสในเปิดคลินิกอื่นๆ เพิ่มในโรคที่สอดคล้องกับอาการของผู้สูงอายุด้วย เพื่อให้บริการให้ครบวงจร และมีคุณภาพที่สุด
ในอนาคต คลินิกได้เตรียมเปิดบริการให้คำปรึกษาแพทย์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติมด้วย
ทำไมต้องอุดรธานี
- จังหวัดอุดรธานี มีผู้สูงอายุร้อยละ 15.28 จากประชากรทั้งหมดของจังหวัด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- พบผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
“นโยบายคลินิกพิเศษนอกเวลา เป็นอีกนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งใจให้มีขึ้น เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ลูกหลานสามารถพาผู้สูงอายุมารับบริการทางการแพทย์ได้แล้ว การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติเป็นสิ่งสำคัญในผู้ป่วยรายใหม่ต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการพบแพทย์เพื่อที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงการดูแลรักษาและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง”