นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) วิเคราะห์ว่า ปี 2565 ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ
จากสถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการประเมินและคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ “กลุ่มติดเตียง” มีประมาณ 3% หรือ 4 แสนคน จากผู้สูงอายุที่มีอยู่ประมาณ 13 ล้านคน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม ที่ภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมรับมือวางโครงสร้างกับสังคมผู้สูงอายุระยะยาว ในด้านสวัสดิการและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทั้งร่างกายและจิตใจ จึงทำให้ “อาชีพนักบริบาล” เป็นอาชีพที่มีความสำคัญอีกหนึ่งอาชีพในอนาคต
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล สนับสนุนทุนฝึกอบรมวิชาชีพด้านการบริบาล โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความรู้ด้านการบริบาลดูแลผู้สูงอายุ ในหลักสูตร 70 ชั่วโมง 420 ชั่วโมง และ 840 ชั่วโมง แก่ผู้ที่ขาดโอกาส และขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้มีอาชีพทางเลือกที่มั่นคง สามารถเลี้ยงดูแลตัวเองและครอบครัวได้ นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯแล้วทั้งสิ้น 154 คน และประกอบอาชีพอยู่ในสายงานการบริบาลทั่วประเทศ โดยได้รับใบรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข
ทางด้าน นางสาวสุธิตา ศรีสุนนท์ หรือน้องแนน อายุ 26 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล รุ่นที่ 1 ในหลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ของโรงเรียนเป็นเลิศการบริบาล จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีร่วมของมูลนิธิฯ เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว ได้ประกอบอาชีพรับงานดูแลผู้สูงอายุป่วยติดเตียงที่บ้านเคสโดยตรง จนถึงปัจจุบัน
“เริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีความรู้เรื่องงานบริบาลเลย เมื่อเข้ามาร่วมโครงการนี้ จนเรียนจบหลักสูตรระยะสั้น 3 เดือน ทำให้เข้าใจทั้งทฤษฎีและสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง และทำให้พร้อมที่จะก้าวออกมาทำงานในสายงานนี้ได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ ทำให้มีรายได้ ที่นอกจากจะเลี้ยงดูครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากแล้ว ยังสามารถเก็บเงินส่วนหนึ่งเพื่อสานฝันที่จะเปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง หวังช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแลในราคาย่อมเยา แต่ได้คุณภาพและมาตรฐานการดูแลตามหลักการบริบาล” น.ส.สุธิตา กล่าว
ทั้งนี้ เยาวชนหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท
cp-foundationforrural.org
หรือเบอร์โทรศัพท์ 02-766-7342 หรือ 02-766-7337