ประวัติความเป็นมา
โรงพยาบาลสมุทรสาคร เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่สร้างขึ้นเป็นแห่งสุดท้ายของประเทศไทยในสมัยนั้น เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2501 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร คือ นายสันต์ เอกมหาชัย ติดต่อรัฐบาลขอจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างโรงพยาบาลเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,360,000 บาท เมื่อได้รับงบประมาณในการก่อสร้างแล้ว ต่อมานายแพทย์สงัด เปล่งวานิช ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาค กรมการแพทย์สมัยนั้น ได้เดินทางมาตรวจสถานที่ก่อสร้างด้วยตนเองเห็นว่าที่ดินของ พระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา) อยู่ในทำเลที่เหมาะสมจึงได้ให้ทางจังหวัดติดต่อกับเจ้าของที่ดิน ของซื้อจำนวน 10 ไร่ ราคาไร่ละ 20,000 บาท และยกให้แก่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขโดยไม่คิดมูลค่าอีก 14 ไร่ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2500 จึงได้ดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างโรงพยาบาล ในการก่อสร้างครั้งแรกกำหนดให้มีอาคารต่างๆ ดังนี้
- ตึกอำนวยการ 1 หลัง
- เรือนคนไข้ 25 เตียง 1 หลัง
- โรงครัว 1 หลัง
- โรงซักฟอก 1 หลัง
- เรือนแถวพักจัตวา8ห้อง 1 หลัง
- เรือนแถวพักคนงาน6ห้อง 1 หลัง
- บ้านพักชั้นโท 1 หลัง
- บ้านพักชั้นตรี 1 หลัง
- ห้องเก็บศพ 1 หลัง
- บ่อพักน้ำ 1 หลัง
- สะพานคอนกรีตข้ามคูน้ำหน้าโรงพยาบาล
และในปี พ.ศ.2501 ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 500,000 บาท ให้เอาไปสมทบการก่อสร้างกับงวดแรก 50,000 บาท อีก 450,000 บาท ให้ทำการก่อสร้างรายการเพิ่มเติมตามรายการดังต่อไปนี้
- บ้านพักชั้นโท 1 หลัง
- บ้านพักชั้นตรี 1 หลัง
- เสาธง 1 ต้น
- ปรับปรุงท่อน้ำประปาไปยังอาคารต่างๆ
- ติดตั้งไฟฟ้าในโรงพยาบาล
- กำแพงและประตูเหล็กด้านหน้าโรงพยาบาล
- ถนนวงเวียน คอนกรีตเสริมเหล็กหน้าตึกอำนวยการ
- ห้องน้ำและห้องส้วมสำหรับโรงครัว 1 หลัง
การก่อสร้างแล้วเสร็จและได้เปิดดำเนินการเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2502 (ขึ้น 9 ค่ำ เดือนอ้าย) พระบำราศนราดูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธีเปิด และนายแพทย์ไสว วงศาโรจน์ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรก มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 17 คน
โรงพยาบาลสมุทรสาครขยายบริการตามบริบทของความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจที่มีประชาชนอาศัยในพื้นที่กว่า 1 ล้านคน ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 (โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เห็นชอบตามมติ ทีประชุม อกพ. สป.สธ. ที่ สป.สธ. 6/2559 วันที่ 28 กันยายน 2559) สอดคล้องตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขของการพัฒนาศักยภาพเป็น Advance Hospital(A)
จากปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ขยายการให้บริการผู้ป่วยในจากจำนวนเตียง 509 เตียง เป็นจำนวน 602 เตียงในปัจจุบัน (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562)
- มีผู้ป่วยสามัญ 436 เตียง และ เตียงพิเศษ 166 เตียง
- รองรับผู้ป่วยหนักทางศัลยกรรมและอายุรกรรมในเตียงICU ได้ 27 เตียง
- เตียงผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤต 10 เตียง
- เตียงผู้ป่วยโรคหัวใจระยะวิกฤติ (CCU) 10 เตียง
- อัตราการครองเตียงภาพรวม ปีงบประมาณ 2558- 2560 ประมาณร้อยละ 85 ถึง ร้อยละ 88 มีเตียง active หรือผู้ป่วยในเฉลี่ยประมาณ 510 -520 เตียง (ราย) ต่อวัน
มีการวางแผนและจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพด้านบริการ ให้บริการส่งเสริมป้องกันโรค และรักษาระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิ โดยมีประชากรที่อาศัยในเขต อำเมืองสมุทรสาครเป็นเป้าหมายหลัก
ระบบบริการ
- ผู้ป่วยนอกห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกกว่า 20 แผนก มากกว่า 50 ห้องตรวจ
- ระบบบริการสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยโรค การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
- ระบบริการเวชกรรมฟื้นฟู
- ด้านผู้ป่วยใน มีหอผู้ป่วยสำหรับการรับไว้รักษาต่อ ทั้งหอผู้ป่วยสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ หอผู้ป่วยหนักรวม 27 หอผู้ป่วย
- นอกจากนี้ยังมีการให้บริการห้องผ่าตัด 12 ห้อง
- เตียงรอคลอด และเตียงคลอด รวม 12 เตียง
- ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทีมสหสาขาวิชาชีพ ตลอดจนบุคลากรต่างๆรวมกว่า 1,900 คน
- ผ่านการรับรอง HA มาแล้ว 4 ครั้ง (ผ่าน HA เดือนมีนาคมปี พ.ศ.2549) กำลังจะเข้าสู่กระบวนการรับรองครั้งที่ 5 ในกลางปี พ.ศ.2562
ในปีงบประมาณ 2560 -2561 สามารถรองรับการให้บริการผู้รับบริการได้กว่าวันละ 3,300 - 3,500 ราย โดยเป็นการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคประมาณวันละ 900 -1,000 ราย (ร้อยละ 28 -31) ผู้ป่วยประมาณวันละ 2,300 - 2,400 ราย (ประมาณร้อยละ 70 - 72) และรับไว้เป็นผู้ป่วยในประมาณ 130-140 รายต่อวัน ซึ่งเป็นทั้งประชาชนในเขตจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง
ศักยภาพโดยสรุปในปัจจุบัน ขนาดโรงพยาบาล (ตาม Service Plan)
- โรงพยาบาลศูนย์ ( level A )
- ขนาดจำนวนเตียง 602 เตียง
- อัตราการครองเตียง 84 - 86 % (515-520 รายต่อวัน)
- ค่าเฉลี่ยระยะเวลาครองเตียง 4-5 วัน/คน บริการเตียงสามัญ 436 เตียง /พิเศษ 166 (ห้อง) เตียง/ ICU 47 (ICU ไม่นับรวมเป็นจำนวนเตียง)
- จำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการ : ผู้ป่วยนอก 3,200 – 3,500 คน /วัน
- ผู้ป่วยนอก 980,000- 1,100,00 คน / ปี
ขีดความสามารถการให้บริการ
- บริการรักษาการแพทย์ ระดับเวชปฏิบัติทั่วไป
- บริการรักษาการแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก ได้แก่ สูตินรีเวชกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม ออร์โธปิดิกส์ ทันตกรรม
- บริการรักษาการแพทย์เฉพาะทางสาขารอง ได้แก่ จักษุวิทยา หู คอ จมูก จิตเวช วิสัญญีวิทยา รังสีวิทยา เวชศาสตร์ฟื้นฟู นิติเวชศาสตร์ อาชีวเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัว
- บริการรักษาการแพทย์เฉพาะทางสาขาต่อยอด ได้แก่ ศัลยกรรมประสาทและสมอง ศัลยกรรมเด็ก ศัลยกรรมตกแต่งและสร้างเสริม ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ อายุรศาสตร์โรคหัวใจ อายุรศาสตร์โรคไต อายุรศาสตร์โรคเลือด อายุรศาสตร์ทางเดินหายใจ อายุรศาสตร์ทางเดินอาหารและตับ อายุรศาสตร์โรคเลือด รังสีร่วมรักษา อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ประสาทวิทยา ตจวิทยา
- ศูนย์ความเชี่ยวชาญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง อุบัติเหตุฉุกเฉิน ทารกแรกเกิด
- บริการ อื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน
การบริหารจัดการองค์กร
- วิสัยทัศน์ ที่หนึ่งด้านบริการสุขภาพ
- พันธกิจ
- รักษา ฟื้นฟู โรคซับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริม ป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ
- บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดการสารสนเทศที่ตอบสนองความต้องการผู้ใช้
- พัฒนาความเชี่ยวชาญบุคลากร
- โครงสร้างองค์กร บริหารตามโครงสร้างโรงพยาบาลศูนย์สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปรับปรุงให้เหมาะสมกับการจัดบริการของโรงพยาบาลสมุทรสาคร แบ่งเป็น 7 กลุ่มภารกิจ ภายในกลุ่มภารกิจมีกลุ่มงาน และงาน เป็นโครงสร้างการบริหารภายใน และมีโรงพยาบาลสาขาที่เอกชนก่อสร้างยกให้กระทรวงสาธารณสุข แล้วกระทรวงสาธารณสุขมอบให้โรงพยาบาลสมุทรสาครดำเนินการจัดบริการจำนวน 2 แห่ง (ปัจจุบัน 2562 จัดบริหารเฉพาะผู้ป่วยนอก ทั้ง 2 แห่ง)
โรงพยาบาลสมุทรสาคร
1500 ถ.เอกชัย ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 74000
โทร. (034) 429333 , 837521
แฟกซ์. (034) 4114888