ประวัติโรงพยาบาลแม่สอด
โรงพยาบาลแม่สอด ตั้งอยู่เลขที่ 175/16 ถนนศรีพานิช อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีพื้นที่ 49 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา อยู่ห่างจากจังหวัดตาก 87 กิโลเมตร และห่างจากพรมแดนไทย-พม่า 6 กิโลเมตร โดยมีแม่น้ำเมยเป็นแนวกั้นพรมแดน โรงพยาบาลแม่สอดได้เริ่ม ทำการก่อสร้างในปี พ.ศ.2500 กรมการแพทย์ได้อนุมัติเงินสำหรับซื้อที่ดินของนายหมื่น อินต๊ะยะ รวมเป็นเนื้อที่ 28 ไร่ ด้วยราคา 140,000 บาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) ตามหนังสือของกรมการแพทย์ที่ 5328/2500 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2500 ต่อมาได้ซื้อที่ดิน เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2509 และได้ทำการสำรวจรังวัดใหม่ ทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ทางหลวงเลขที่ 6122 มีเนื้อที่ 44 ไร่ 2 งาน 59 ตารางวาและเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2523 ได้ซื้อที่ดินเพิ่มด้วยเงินบริจาค ในนามมูลนิธิโรงพยาบาลแม่สอด จำนวน 5 ไร่ 25 ตารางวา รวมเนื้อที่โรงพยาบาล ในปัจจุบันนี้ 49 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา
ประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลแม่สอด
พ.ศ. 2501 เปิดให้บริการโดยมีอาคารบำบัดรักษาเป็นตึกชั้นเดียว รวมหน่วยต่างๆ ได้แก่ ห้องตรวจ ห้องจ่ายยา ห้องผ่าตัดหน่วยธุรการและบริหารงานทั่วไปไว้ในตึกหลังเดียวกัน มีหอผู้ป่วยเป็นเรือนไม้ขนาด 25 เตียง 1 หลังรับผู้ป่วยทุกประเภททั้งชาย-หญิงมีแพทย์ประจำโรงพยาบาล 3 คน
พ.ศ. 2502 เปิดให้บริการผู้ป่วยใน จำนวน 25 เตียง
พ.ศ. 2504 สร้างอาคารผู้ป่วยเรือนคนไข้ชาย ปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 50 เตียง
พ.ศ. 2509 สร้างอาคาร ผ่าตัด - รังสี ชั้นเดียว ประกอบด้วยห้องผ่าตัด 2 ห้อง ห้องถ่ายภาพรังสีและหน่วยชันสูตรโรค
พ.ศ. 2511 ก่อสร้างตึกคนไข้พิเศษ 2 ชั้น มีจำนวนห้อง 22 ห้อง โดยงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเงินบริจาคจากประชาชนชาวอำเภอแม่สอดปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 97 เตียง
พ.ศ. 2512 ก่อสร้างตึกสูติ - นรีเวชกรรม ขนาด 30 เตียง จากเงินงบประมาณ ปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 127 เตียง
พ.ศ. 2518 ก่อสร้างตึกอำนวยการ และอาคารตรวจโรคผู้ป่วยนอก จากเงินงบประมาณ
พ.ศ. 2522 เปิดตึก ไอ.ซี.ยู "ประจักษ์ - สงวนศรี พงษ์เรขนานนท์" ขนาด 8 เตียง สร้างด้วยเงินบริจาคเปิดตึกผู้ป่วยศัลยกรรม - กุมารเวชกรรม ขนาด 60 เตียง สร้างด้วยเงินงบประมาณและเงินบริจาคสมทบปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 187 เตียง
พ.ศ. 2525 เปิดตึกผู้ป่วย "อนุสรณ์ 200 ปี รัตนโกสินทร์" ขนาด 60 เตียง สร้างด้วยเงินงบประมาณ และเงินบริจาค ปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 247 เตียง
พ.ศ. 2527 ก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ ขนาด 10 ห้องพิเศษ และมีห้องประชุม และห้องโถงอเนกประสงค์ ด้วยเงินงบประมาณ และเงินบริจาคสมทบปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 253 เตียง
พ.ศ. 2529 ก่อสร้างทางลาดเชื่อม 2 ชั้น สำหรับตึกศัลยกรรม กุมารเวชกรรม กับตึกอนุสรณ์ 200 ปี รัตนโกสินทร์ ด้วยเงินบริจาค
พ.ศ. 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศัลยกรรมอุบัติเหตุ สร้างด้วยเงินงบประมาณและเงินสมทบจากประชาชน
พ.ศ. 2535 ก่อสร้าง "ตึกกุมารเวชกรรม" ขนาด 60 เตียง ด้วยเงินงบประมาณ
พ.ศ. 2536 ปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 280 เตียง
พ.ศ. 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ เพื่อร่วมฉลองในปีกาญจนาภิเษกด้วยเงินงบประมาณ เป็นอาคารสูติกรรมและไอ.ซี.ยู.ผู้ใหญ่ปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 310 เตียง
พ.ศ. 2543 ปรับปรุงตึกไอซียู "ประจักษ์ - สงวนศรี พงษ์เรขนานนท์" เป็นไอ.ซี.ยู. กุมารเวชกรรม และหน่วยบริบาลทารกแรกเกิด
พ.ศ. 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งประกอบด้วยแผนกรังสีวิทยา ทันตกรรม เวชศาสตร์ฟื้นฟู ห้องสมุด ฝ่ายบริหาร การเงินฝ่ายเวชกรรมสังคม ฝ่ายชันสูตร ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการพยาบาล ฝ่ายแผนงานและสารสนเทศ และห้องประชุมขนาดใหญ่จากเงินงบประมาณ
พ.ศ. 2545 เปิดให้บริการอาคารโรงพักศพ
พ.ศ. 2546 ปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 317 เตียง
พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาเป็นอาคารให้บริการผู้ป่วยใน ศูนย์การให้บริการผู้ป่วยโรคไต สร้างจากเงินงบประมาณและได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์เงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป ปรับเพิ่มการให้บริการผู้ป่วยในเป็น 420 เตียง
พ.ศ. 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติเป็นอาคารให้บริการอาคารผ่าตัด ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ สร้างจากเงินงบประมาณ และได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์จากเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป
พ.ศ 2562 เปิดให้บริการอาคารผู้ป่วยนอก 8 ชั้น
รายนามผู้อำนวยการ
1. นายแพทย์ ปราเมศ ชัยจินดา 14 เมษายน 2502 – 1 กุมภาพันธ์ 2512
2. นายแพทย์รัตน์ ปาลิวนิช 1 กุมภาพันธ์ 2512 – 24 สิงหาคม 2516
3. นายแพทย์ปราโมทย์ คชรัตน์ 26 สิงหาคม 2516 – 2 ธันวาคม 2519
4. นายแพทย์โกมล สายชุ่มอินทร์ 20 มกราคม 2520 – 22 กรกฎาคม 2526
5. นายแพทย์ถาวร กาสมสัน 22 กรกฎาคม 2526 – 8 กุมภาพันธ์ 2536
6. แพทย์หญิงกนกนาถ พิศุทธกุล 8 กุมภาพันธ์ 2536 – 30 กันยายน 2553
7. นายแพทย์รณไตร เรืองวีรยุทธ 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2556
8. นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ 1 ตุลาคม 2556 – 6ตุลาคม 2557
9. นายแพทย์จรัล วิวัฒน์คุณูปการ 7 ตุลาคม 2557 – 20 ตุลาคม 2558
10. นายแพทย์สุชาติ พรเจริญพงศ์ 21 ตุลาคม 2558 – 19 ตุลาคม 2560
11. นายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา 20 ตุลาคม 2560 – ปัจจุบัน
ขอบเขตการให้บริการ
โรงพยาบาลแม่สอดให้บริการสาธารณสุขครบทุกด้าน ครอบคลุมประชากร 5 อำเภอฟากตะวันตกของจังหวัดตากโรงพยาบาลแม่ข่ายตาก/2 และเนื่องจากเป็นอำเภอชายแดนดังนั้นจึงต้องให้บริการสาธารณสุขแก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาในพื้นที่ทั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมทั้งเป็นเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิคลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลแม่สอด รับผิดชอบดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเครือข่าย ทั้งหมดในอำเภอแม่สอด 22 แห่ง และให้บริการรับการส่งต่อจากรพ.ชุมชนทั้งหมด 4 แห่งได้แก่ อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง