โรงพยาบาลนราธิวาส ตั้งอยู่เลขที่ 180 ถนนระแงะมรรคา ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นถนนสายหลักจากตัวเมืองไป อำเภอระแงะ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาล คือ หม่อมราชวงศ์ทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ ได้มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น (คือตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน) ในระยะที่หม่อมราชวงศ์ทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนี้ การแพทย์และสาธารณสุขของจังหวัดไม่เจริญเท่าที่ควร อาจเนื่องจากเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยท่านจึงได้ดำริจัดตั้งโรงพยาบาลนราธิวาสขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ให้การรักษาคนไข้ที่เจ็บป่วย ดังนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารอำนวยการ 1 หลัง เป็นแบบชั้นครึ่ง และสร้างอาคาร 2 ชั้น เพื่อรับคนไข้ชาย ได้รับความกรุณาจากคุณหลวงจรูญ บูรกิจ ซึ่งมารับตำแหน่งต่อจากหม่อมราชวงศ์ทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ โดยตั้งชื่ออาคารนี้ว่า “ทวีจรูญ” เปิดให้บริการรักษาคนไข้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2484 เป็นสถานะสุขศาลาของกรมสาธารณสุข ในเนื้อที่ 17 ไร่ และต่อมาได้จัดซื้อเพิ่มเติมอีก 7 ไร่ ทางด้านหลังของโรงพยาบาล โดยร้อยโทนายแพทย์โอภาส มีนะกรรณ เป็นผู้ดำเนินการและขยายพื้นที่เพิ่มเติมในขณะนั้น ประมาณ 40 ไร่
เมื่อเปิดดำเนินการมีแพทย์เพียง 2 ท่าน คือนายแพทย์บุญมี พรหมพิทักษ์ (ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายแพทย์สุรินทร์) และร้อยโทนายแพทย์โอภาส มีนะกรรณ ในสมัยนั้นไม่มีตำแหน่งนายแพทย์ผู้อำนวยการ แต่เรียกว่าผู้ปกครองโรงพยาบาล ต่อมานายแพทย์สุรินทร์ พรหมพิทักษ์ได้ขอย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อนายแพทย์โอภาส มีนะกรรณได้รับตำแหน่งแทนนายแพทย์สุรินทร์ท่านได้ทำนุบำรุงโรงพยาบาลให้เจริญก้าวหน้า โดยได้ก่อสร้างอาคาร 2 ชั้นอีก 2 หลัง เพื่อรับคนไข้หญิง ได้ของบประมาณก่อสร้างอาคารเอกซเรย์ อาคารชันสูตรโรค อาคารผ่าตัด โรงครัว และโรงซักฟอก ประกอบความคุณงามความดีของ นายแพทย์โอภาส มีนะกรรณ ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านจึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างเรือนคนไข้พิเศษชั้นเดียว 1 หลัง ตั้งชื่อ “ประชานราอุทิศ” แต่เนื่องจากห้องพักพิเศษไม่เพียงพอ ท่านจึงได้สร้างอาคารคนไข้พิเศษ
อีก 2 หลัง ทำให้สามารถรับคนไข้พิเศษได้ 26 ห้อง
ด้วยความผูกพันที่ท่านมีต่อโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าท่านได้รับทุนไปศึกษาต่อทางศัลยกรรม โดยทุน I.C.A. Bam Hospital เมือง St. Louis มลรัฐ Missouri เป็นเวลา 2 ปีและได้รับประกาศนียบัตรทางศัลยกรรมระบบช่องท้อง เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ได้มีนายแพทย์ที่ท่านนับถือมาก คือนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง เชิญให้มาร่วมงาน ท่านได้ตอบปฏิเสธเพราะมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะพัฒนาโรงพยาบาลนราธิวาสให้ทันสมัยเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง ท่านได้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ผู้อำนวยการ เปิดรับบริการผู้ป่วย 16 เตียง และต่อมาได้มีการรวม กรมการแพทย์ และกรมอนามัยเป็นกรมเดียว เพื่อสะดวกในการป้องกันและรักษาโรค ท่านจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายแพทย์ใหญ่พิเศษจังหวัดนราธิวาส (คือตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ขึ้นตรงต่อสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) รวมระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งในจังหวัดนราธิวาส เป็นเวลา 35 ปี ท่านเกษียณอายุราชการเมื่อพ.ศ.2524
ต่อมาได้รับงบประมาณจากรัฐบาลให้ทำการปรับปรุงและพัฒนามาเรื่อย ๆ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-3 จนเข้ามาตรฐาน เช่น โรงพยาบาลอื่น ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข ได้จำแนกประเภทของโรงพยาบาลออกเป็น 3 ประเภท จัดอยู่ในประเภทของโรงพยาบาลทั่วไปภายในพื้นที่ 70 ไร่ ในปัจจุบัน โดยมีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์รวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ดำรงตำแหน่งเจ้าฟ้าต่างกรม ผู้ใหญ่ตามธรรมเนียมประเพณีมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” โรงพยาบาล
นราธิวาส จึงได้ขอพระราชทานนามโรงพยาบาลใหม่ เพื่อเป็นเกียรติศักดิ์ศรีสิริมงคล แก่ข้าราชการเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตลอดจนผู้มารับบริการในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เมื่อความทราบถึงฝ่าพระบาทแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลใหม่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2540 เป็น “โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์” นับตั้งแต่นั้นมา และสามารถให้บริการผู้ป่วยในได้ถึง 320 เตียง
ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2553 โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ได้ยกระดับเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิ ระดับ 3.1 ขนาด 400 เตียง โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลขนาดมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข มีศักยภาพในการให้บริการทั้งระดับปฐมภูมิทุติยภูมิ ให้บริการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสภาพ และเป็นศูนย์รับส่งต่อ ทั้งภายในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง
มีสถานบริการในเครือข่าย แบ่งเป็น
- โรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง 3 แห่ง (ตากใบ, ระแงะ, รือเสาะ)
- โรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง 5 แห่ง (บาเจาะ, ศรีสาคร, เจาะไอร้อง, จะแนะ, ยี่งอเฉลิมพระเกียรติ80 พรรษา)
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดใหญ่ 4 แห่ง (โคกเคียน, ลำภู, กะลุวอเหนือ, บือราเป๊ะ)
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดเล็ก 7 แห่ง (มะนังตายอ, กะลุวอ, บางปอ, โคกศิลา, สะปอม, สุไหงบาลา, ตะโละแน็ง)
- ศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตเมือง 4 แห่ง (เทศบาลเมือง, ประชาภิรมย์, ยะกัง 2, กำปงบารู)
นอกจากภารกิจด้านรักษาพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางครอบคลุมทุกสาขาหลักแล้ว โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ยังมีภารกิจด้านการเรียนการสอนเป็นสถาบันรองในการสนับสนุนการเรียน การสอนนักศึกษาแพทย์ของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร
วัฒนาการ โดยมีการพัฒนาด้านอาคารสถานที่
ดังนี้
อาคารรักษา
พ.ศ.2484 ก่อตั้งเป็นสุขศาลา และพัฒนาโครงสร้างอาคารผู้ป่วยนอก อาคารพยาธิวิทยา ในเวลาต่อมา
พ.ศ.2488 อาคาร 2 ชั้น ศัลยกรรมหญิงและอายุรกรรมหญิง และอาคารอายุรกรรมชาย “ทวีจำรูญ” ปัจจุบันรื้อถอน
พ.ศ.2498 ตึกพิเศษ 1 ตึกประชานราอุทิศ และอาคารตึกพิเศษ 2 ปัจจุบันรื้อถอน
พ.ศ.2517 อาคารพิเศษสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ชั้น ปัจจุบันรื้อถอน
พ.ศ.2519 อาคารพิเศษ 3 และ 4 อาคารคอนกรีต 2 ชั้น ปัจจุบันรื้อถอน
พ.ศ.2520 ตึกผู้ป่วยนอก เป็นอาคาร 2 ชั้น “ดาหลา” ปัจจุบันรื้อถอน
พ.ศ.2525 ตึกรังสีรักษา อาคารชั้นเดียว ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นแผนกผู้ป่วยนอกเด็ก แผนกฝากครรภ์ และ
กายภาพบำบัด
พ.ศ.2525 อาคารผู้ป่วยหนักชั้นเดียว ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นแผนกไตเทียม 1
พ.ศ.2535 อาคารผู้ป่วยศัลยกรรม 2 ชั้น ปัจจุบันชั้นล่างปรับเปลี่ยนเป็นแผนกไตเทียม 2 ชั้นบนเป็น ICU Neuro
พ.ศ.2541 อาคารเปี่ยมสุข 4 ชั้น เป็นอาคารบริการแม่และเด็ก มีแผนกห้องคลอด หลังคลอด หน่วยบริบาลทารกแรกเกิดและแผนกผู้ป่วยเด็ก
พ.ศ.2543 อาคารอำนวยการ 4 ชั้น ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารเฉลิมราชย์เป็นอาคารให้บริการผู้ป่วยนอก ห้องบัตร ห้องยา ทันตกรรม แผนกอำนวยการ ธุรการ การเงินและบัญชี แผนกเวชกรรมสังคม และแผนกพัฒนาทรัพยากรบุคคลและคุณภาพ
พ.ศ.2544 อาคารนวมินทร์5 ชั้น เป็นอาคารบริการผู้ป่วยห้องพิเศษเดี่ยว 65 ห้อง
พ.ศ.2549 อาคารพระบารมีปกเกล้า 4 ชั้น เป็นอาคารแผนกรังสีวินิจฉัย โลหิตวิทยา พยาธิวิทยาคลินิก หอผู้ป่วยวิกฤติMICU SPICU และห้องผ่าตัด 8 ห้อง
พ.ศ.2554 อาคารคนไข้อายุรกรรม (120 เตียง) ภายหลัง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้
พระราชทานนามอาคาร “ประชารักษ์” ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ ศัลยกรรมชาย
ศัลยกรรมหญิง และศัลยกรรมเด็ก
พ.ศ.2556 อาคารผู้ป่วยสตรี (120 เตียง) ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารและพระราชทานนามว่า “กัญญารักษ์” ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นแผนก
ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง (Stroke unit) อายุรกรรมชาย อายุรกรรมหญิง และแผนกสูตินรีเวช
พ.ศ.2557 อาคารอุบัติเหตุ 4 ชั้น ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารและพระราชทานนาม “นราเวชนาถ” เป็นอาคารบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดเล็กแผนกอาชีวเวชกรรม สุขศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ เวชสถิติ และประกันสุขภาพ
พ.ศ.2561 อาคารแพทย์แผนไทย และเวชศาสตร์ฟื้นฟู2 ชั้น
อาคารสนับสนุน
พ.ศ.2516 อาคารจ่ายกลางหลังเก่า 1 ชั้น เดิมเป็นห้องผ่าตัด ปัจจุบันเตรียมปรับเปลี่ยนรื้อถอน
พ.ศ.2521 อาคารซักฟอกหลังเก่า 1 ชั้น ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นหน่วยบริการตรวจวินิจฉัย COVID-19 ชั่วคราว
พ.ศ.2528 อาคารโชติบัณฑ์เดิมเป็นอาคารสงฆ์อาพาธ ปัจจุบันชั้นล่างปรับเปลี่ยนเป็นแผนกกายอุปกรณ์ ร้านสะดวกซื้อชั้นบนเป็นแผนกพยาธิวิทยากายวิภาค
พ.ศ.2528 อาคารเภสัชกรรม 2 ชั้น
พ.ศ.2532 อาคารซ่อมบำรุง
พ.ศ.2535 โรงเผาขยะ
พ.ศ.2535 อาคารโรงบำบัดน้ำเสีย
พ.ศ.2539 อาคารละหมาดหลังเก่า
พ.ศ.2540 โรงครัว
พ.ศ.2553 อาคารนิรันดร์กาล
พ.ศ.2554 อาคารอเนกประสงค์
พ.ศ.2554 อาคารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารและพระราชทานนามว่า “สิรินรักษ์”
พ.ศ.2556 อาคารละหมาดหลังใหม่ สร้างบนพื้นที่เดิม
พ.ศ.2557 อาคารพัสดุ2 ชั้น
พ.ศ.2560 อาคารซักฟอก แผนกจ่ายกลาง และงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ 3 ชั้น