โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่เป็นองค์การมหาชน ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการตามมาตรา 6 คือ
1) ให้บริการด้านการรักษาพยายบาลทั่วไป การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพามมาตรฐานทางการแพทย์
2) ดำเนินการด้านเวชศาสตร์การป้องกัน ส่งเสริม และสนับสนุนการสาธารณสุข โดยคำนึงถึงนโยาบายของรัฐในเรื่องดังกล่าวด้วย
3) ดำเนินกิจการอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของชุมชน โดยการดำเนินการต้องไม่เป็นการดำเนินการที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก
ปัจจุบัน โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 198 หมู่ 1 ต.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั่วไปตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุด ภายใต้การบริการที่รวดเร็ว อบอุ่น และมั่นใจได้ในประสิทธิภาพของบุคลากรที่พร้อมให้บริการด้วยไมตรีจิต ทั้งยังมีการพัฒนาสถานที่ อาทิ สร้าง "ตึกเฉลิมพระเกียรติ" สูง 4 ชั้น "ตึกสมเด็จย่า 90 พรรษา" และ "ตึกสมเด็จย่า 2 (ตึกใหม่)" ซึ่งทั้งสองเป็นตึกสูง 5 ชั้น เป็นต้น
ภายในอาคารได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ครบครันด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สะอาด และสะดวกสบาย เป็นการให้บริการลักษณะใกล้บ้านใกล้ใจแก่ชุมชน โดยจัดตั้งสาขาการให้บริการ และศูนย์สุขภาพชุมชนในชุมชนต่าง ๆ (Primary Care Unit) อีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว 2 ศูนย์แพทย์ชุมชนราษฎร์บำรุง และศูนย์สุขภาพชุมชนหลักสาม ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 034-419555
โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เริ่มก่อตั้ง เมื่อ พ.ศ. 2508 ซึ่งในสมัยนั้นชาวบ้านมีการรวมตัวกันทั้งบริจาคที่ดินสนับสนุนด้านกำลังทรัพย์ กำลังกายและกำลังใจในการก่อสร้างโรงพยาบาล บนพื้นที่ 9 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวาผู้อำนวยการคนแรก คือ นายแพทย์สุมน แก้วปิ่นทอง ได้พัฒนาจนเป็น โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลอำเภอ จากขนาด 10 เตียง เป็นขนาด 30 เตียงตามลำดับผู้อำนวยการคนต่อมา คือ นายแพทย์พงศธร สิริภานุพงษ์
พ.ศ.2530 นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ได้ย้ายมาจาก จังหวัดอุตรดิตถ์มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ จากนั้นใน พ.ศ. 2550 นายแพทย์สุรพงษ์ บุญประเสริฐ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ และในปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้ว มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว
โรงพยาบาลบ้านแพ้วมีความเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย ทุกผู้อำนวยการ เนื่องจากชุมชนชาวบ้านแพ้วมีทุนทางสังคมที่ดี ในด้านการมีส่วนร่วมและการพัฒนา
ในยุคที่มีการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ.2540-2543 และมีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลบางแห่งเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารจัดการ 22 มิ.ย. 2543 ได้แก้ไขชื่อโรงพยาบาลเป็น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) และวันที่ 1 ต.ค. 2543 พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ในการออกนอกระบบของโรงพยาบาล