นับแต่อดีตกาล การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้กำเนิดขึ้นมาคู่กับชีวิตมนุษย์เป็นวงจรที่ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง และยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึงปัจจุบันและ จะยังคงอยู่ต่อ ไปในอนาคต เมื่อมนุษย์ได้รับความทุกข์ยากอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ในวงจรชีวิตที่ดำเนินต่อๆกันไปอย่างต่อเนื่องนั้น จึงกลายเป็นต้นกำเนิด ของการสาธารณสุข โดยมีความหวังที่จะทำให้มนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้ไม่ต้องทนกับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และให้มีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดประพาสเมืองเพชร พระองค์ได้ทรงสร้างพระราชวังเพื่อใช้เป็นที่ประทับเพื่อเสด็จมาเมืองเพชรใช้ชื่อว่า ”พระราชวังพระนครคีรี” ซึ่งถือเป็นพระราชวังที่สร้างบนภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย และใน พ.ศ.2404 พระองค์ได้ทรงโปรดให้คณะมิชชันนารีนิกายโปรเตสเต้นส์ เข้ามาเผยแพร่ศาสนา ก่อตั้งโรงเรียนและทำการรักษาผู้เจ็บป่วยด้วยวิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน นายแพทย์ซามูเอ เรโนลด์เฮ้าส์ เป็นแพทย์จากคณะมิชชันนารีคนแรกที่มาตั้งสำนักงานมิชชันนารี และทำการรักษาผู้ป่วยในจังหวัดเพชรบุรี
ต่อมาในปี พ.ศ.2423 จังหวัดเพชรบุรีก็ได้มีโรงพยาบาลที่ทำการรักษาแบบแผนปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงพยาบาลมิชชันนารีแห่งแรกของประเทศไทย ณ บริเวณวัดไชยสุรินทร์(วัดน้อย) ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี โดยมีนายแพทย์ อี.เอ สาติรช เป็นผู้ดูแลคณะแพทย์มิชชันนารี จำนวน 11 คน ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติงาน กิจการของโรงพยาบาลมิชชันนารีแห่งนี้ได้เปิดดำเนินการกระทั่งปี 2477 ก็ได้ปิดกิจการลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
พ.ศ.2472 สถานีเอื้อนอนามัยของสภากาชาดสยาม(เอื้อนอนามัย) ได้ก่อจั้งขึ้นด้วยเงินกองมรดกของเจ้าจอมเอื้อนในพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) (ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์(เทศ บุนนาค) เจ้าเมืองเพชร ใน พ.ศ.2401-2437) และเงินสมทบจากการแสดงละครการกุศลของข้าราชการในสมัยนั้น ปัจจุบันสถานีเอื้อนอนามัยหรือสถานีกาชาดที่ 8 ก็ยังเปิดดำเนินการอยู่ พ.ศ.2478 ก็ได้มีการสร้างสุขศาลาก้านเกตุมณี ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า ศูนย์บริการ- สาธารณสุขเทศบาลเมืองเพชรบุรี ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองเพชรบุรี
จากบันทึกของคุณหญิงทองใบ พูลศิริ ซึ่งสมัยนั้นดำรงตำแหน่งนางสงเคราะห์ประจำจังหวัด(พ.ศ.2495) บันทึกไว้ว่า แพทย์ประจำเมืองคนแรกของจังหวัดเพชรบุรีชื่อ นายชื้น ไม่ระบุนามสกุล ตั้งแต่ พ.ศ.2456 ถึงปัจจุบัน(พ.ศ.2547) จังหวัดเพชรบุรีมีแพทย์ประจำเมือง หรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งสิ้น 21 ท่าน(ปัจจุบัน) คือ นายแพทย์วิชัย เวชโอสถศักดา ตำแหน่งของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกอยู่ตลอด คือ ก่อน พ.ศ.2465 เรียกแพทย์ประจำเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นนายแพทย์ประจำจังหวัด, สาธารณสุขจังหวัด, แพทย์โทประจำจังหวัด, อนามัยจังหวัด, นายแพทย์ใหญ่จังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตามลำดับ
โรงพยาบาลเพชรบุรี
โรงพยาบาลเพชรบุรี ได้ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2491 โดยการนำของพระสมัครสโมสร(เสงี่ยม สมัครสโมสร) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับคณะกรรมการจังหวัดได้ร่วมมือกันจัดตั้งองค์กรการกุศล ชักชวนข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ตลอดจนประชาชน ได้ร่วมบริจาคเงิน เพื่อนำไปสมทบกับงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข พระบำราศโรคาพาฬห์ (สาธารณสุขจังหวัด ในขณะนั้น) ได้มีส่วนในการจัดหาสถานที่ จำนวน 42 ไร่ ซึ่งต้องเช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2492 โรงพยาบาลเพชรบุรี เป็นส่วนราชการภูมิภาคในสังกัดของกรมการแพทย์ จนถึงปี พ.ศ.2532 จังหวัดเพชรบุรี จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เชิญพระบรมนามาภิไธย-พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นชื่อโรงพยาบาลเพชรบุรี มีชื่อว่า โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง
สถานีอนามัยชั้นหนึ่งที่สร้างเป็นแห่งแรก(พ.ศ.2509) ในอำเภอบ้านแหลม และอำเภอท่ายาง(พ.ศ.2511) และในเวลาต่อมาก็ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชน ปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรี มีโรงพยาบาลชุมชนครบทุกอำเภอ ดังนี้
โรงพยาบาลท่ายาง ขนาด 30 เตียง(รับอนุมัติให้ก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง ในปีงบประมาณ 2539)
โรงพยาบาลชะอำ ขนาด 30 เตียง (รับอนุมัติให้ก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง ในปีงบประมาณ 2547)
โรงพยาบาลเขาย้อย ขนาด 30 เตียง
โรงพยาบาลบ้านแหลม ขนาด 30 เตียง
โรงพยาบาลหนองหญ้าปล้อง ขนาด 10 เตียง(รับอนุมัติให้ก่อสร้างต่อเติมเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ในปีงบประมาณ 2539)
โรงพยาบาลบ้านลาด ขนาด 10 เตียง(รับอนุมัติให้ก่อสร้างต่อเติมเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียงในปี พ.ศ.2539)
โรงพยาบาลแก่งกระจาน ขนาด 10 เตียง(รับอนุมัติให้ก่อสร้างต่อเติมเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียงในปีงบประมาณ 2541)
สุขศาลาชั้นสอง ในช่วง พ.ศ.2483-2493 จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการก่อสร้าง สุขศาลาชั้นสอง ดังนี้
สุขศาลาชั้นสองเขาย้อย อ.เขาย้อย
สุขศาลาชั้นสองบ้านแหลม อ.บ้านแหลม
สุขศาลาชั้นสองบ้านลาด อ.บ้านลาด
สุขศาลาชั้นสองท่ายาง อ.ท่ายาง
สุขศาลาชั้นสองชะอำ อ.ชะอำ
ต่อมาสุขศาลาชั้นสองได้เปลี่ยนชื่อเป็น ”สถานีอนามัยชั้นสอง” และในปีพ.ศ.2515 เป็น ”สถานีอนามัย” จังหวัดเพชรบุรี มีสถานีอนามัย จำนวน 118 แห่ง
สถานีอนามัยในยุคทศวรรษแห่งการพัฒนา(พ.ศ.2535-2539) เริ่มต้นด้วยการ
เพิ่มจำนวนสถานีอนามัยให้ครอบคลุมทุกตำบลารยกฐานะสถานีอนามัยทั่วไปขึ้นเป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่ด้วยการเพิ่มเนื้อที่ใช้สอยภายในสถานีอนามัยจาก 70 ตรม. เป็น 150 ตรม. ในสถานีอนามัยทั่วไป และ 220 ตรม.ในสถานีอนามัยขนาดใหญ่ จังหวัดเพชรบุรีมีสถานีอนามัยขนาดใหญ่ 19 แห่ง ที่เหลือเป็นสถานีอนามัยทั่วไป 99 แห่ง ในปีงบประมาณ 2546
สำนักงานผดุงครรภ์
แต่เดิมมีผดุงครรภ์ประจำตำบลมีอยู่เพียงตำบลที่มีสถานีอนามัยชั้น 2 เท่านั้น เช่น ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ(บ้านห้วยทรายเหนือ ตำบลชะอำ) ต่อมาความต้องการผดุงครรภ์มากขึ้น กรมอนามัยจึงสั่งให้จังหวัดจัดหาบุคคลไปศึกษาวิชาผดุงครรภ์ปีละ 2 คนหลักสูตร 1 ปี 6 เดือน แล้วกลับมาปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตนเองตามข้อตกลงระหว่างผดุงครรภ์กับกรมอนามัย โดยผดุงครรภ์ต้องจัดหาสำนักงานของตนเองหรือจะใช้บ้านพักของตนเองเป็นสำนักงานผดุงครรภ์ก็ได้ เช่น สำนักงานผดุงครรภ์ประจำตำหรุใช้บ้านพักเป็นสำนักงานโดยมี น.ส.เอื่อน บุญกอง เป็นผดุงครรภ์ และต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นสถานีอนามัย และได้ย้ายสถานที่ไปสร้างใหม่ชื่อสถานีอนามัยตำหรุ ตำบลตำหรุ อำเภอบ้านลาด
การสร้างสำนักงานผดุงครรภ์ในช่วงระยะหลัง พ.ศ.2500 บางแห่งจะได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข จนถึง พ.ศ.2522 จังหวัดเพชรบุรีมีสำนักงานผดุงครรภ์ทั้งสิ้น 33 แห่ง และในปี 2524 เป็นต้นมา สำนักงานผดุงครรภ์ก็ได้รับการยกฐานะเป็นสถานีอนามัยด้วยการสร้างอาคารที่ทำการให้ใหม่ พร้อมบ้านพักโดยใช้เงินงบประมาณ
ลักษณะการปฏิบัติงานของสำนักงานผดุงครรภ์ในช่วง พ.ศ.2499
- รับฝากครรภ์และดูแลมารดาก่อนการคลอด
- รับทำคลอดโดยไม่คิดมูลค่าอย่างใด
- เยี่ยมมารดาและทารกในระยะหลังคลอด
- จำหน่ายยาตำราหลวง
- ทำการป้องกันโรคล่วงหน้า
- ทำการเกี่ยวกับอนามัยโรงเรียน
- งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย
ในระยะหลังการปฏิบัติงานของผดุงครรภ์ประจำสำนักงานผดุงครรภ์ มีลักษณะ คล้ายคลึงกับสถานีอนามัย
สำนักงานสาธารณสุขชุมชน(สสช.) เป็นสถานบริการสาธารณสุขระดับหมู่บ้าน เพื่อให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นแก่ประชาชนในเขตพื้นที่ที่มีการคมนาคมไม่สะดวก ประชาชนอยู่อย่างกระจัดกระจาย หรือเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อแตกต่างจากคนไทยทั่วไป เช่น สสช.บ้านป่าเด็ง ได้สร้างเมื่อ พ.ศ.2524 ที่บ้านป่าเด็ง ตำบลป่าเด็งอำเภอแก่งกระจาน ในขณะนั้นมีชาวกระเหรี่ยงอาศัยอยู่ ปัจจุบัน สสช.บ้านป่าเด็งได้รับการยกฐานะเป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่แห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรีและเป็นสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทรา
การบริหารงานสาธารณสุขของจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.2499
ลักษณะการปฏิบัติงานของแผนกอนามัยจังหวัดเพชรบุรี
1. งานประจำธุรการ ได้แก่ การโต้ตอบหนังสือ เบิกจ่ายเงิน ขายยาตำราหลวง รวบรวมรายงานและสถิติต่างๆ
2. ตรวจแนะนำอนามัยอำเภอ สารวัตรสุขาภิบาลและผดุงครรภ์
3. สำรวจกิจการสาธารณสุขต่างๆ
4. ควบคุมร้ายขายยา สถานพยาบาล
5. ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามอนามัยที่กำหนด
6. งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย เช่นตรวจโรคให้ข้าราชการประจำปี อบรมแพทย์ประจำตำบล
ลักษณะการปฏิบัติงานของอนามัยอำเภอ
1. อนามัยอำเภอที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยชั้นสองจะทำงานในด้านป้องกันโรค อนามัยโรงเรียนและสุขาภิบาล
2. อนามัยอำเภอที่ปฏิบัติงานที่สถานีอนามัยชั้นสองจะปฏิบัติงานด้านการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค อนามัยโรงเรียนและสุขาภิบาล
จากอดีตที่กล่าวถึงข้างต้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีวิวัฒนาการมาโดยตลอด จนถึงยุคปัจจุบัน (ปี 2545) มีการปฎิรูปโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ, สถานีอนามัย, โรงพยาบาล ใหม่โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีได้ปรับโครงสร้างตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางกรอบไว้ ดังนี้
โครงสร้างองค์กร
ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็น เป็นผู้บังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รับการนิเทศงาน กำกับดูแลและสนับสนุนทรัพยากรจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ผ่านทางสำนักตรวจราชการกระทรวง) และกรมวิชาการต่าง ๆ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของจังหวัด การกำกับ ดูแล ประเมินผล และสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงาน สาธารณสุขในจังหวัด และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงาน
ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลระดับจังหวัด คือ โรงพยาบาลทั่วไป (365 เตียง) รวมทั้งโรงพยาบาลระดับอำเภอ อีก 7 แห่ง คือ โรงพยาบาลชุมชน (30 – 60 เตียง) ทั้งหมดขึ้นตรงต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด
โรงพยาบาลทั่วไป
แบ่งงานภายในออกเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มภารกิจด้านอำนวยการ กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล กลุ่มภารกิจด้านบริการตติยภูมิ และกลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิ
โรงพยาบาลชุมชน
แบ่งงานภายในออกเป็น 3 กลุ่มภารกิจ คือ กลุ่มภารกิจด้านอำนวยการ กลุ่มภารกิจด้านบริการ และกลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายอำเภอ มีสาธารณสุขอำเภอ เป็นหัวหน้ามีหน้าที่
ทางด้านบริหาร ส่งเสริม สนับสนุน ควบคุมกำกับ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ
สถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอได้รับการนิเทศงาน และประสานงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งจะเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการและบริหาร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของอำเภอ การกำกับ ดูแล ประเมินผล และสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานสาธารณสุขในอำเภอ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย
สถานีอนามัย
เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขระดับตำบล หรือระดับหมู่บ้าน มีหน้าที่ในการจัดบริการ
สาธารณสุขผสมผสานแก่ประชาชนในชนบท ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยครอบคลุมประชากรประมาณ 1,000 – 5,000 คน มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำ คือ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน (พนักงานอนามัย ผดุงครรภ์และพยาบาลเทคนิค) ปัจจุบันเริ่มมีทันตาภิบาล พยาบาลวิชาชีพ และนักวิชาการสาธารณสุข บรรจุเข้าทำงานในระดับสถานีอนามัยด้วย
ทิศทางของสถานีอนามัยในอนาคตน่าจะปรับเป็นศูนย์สุขภาพชุมชน โดยเน้นการบริการใกล้บ้านใกล้ใจ อาจมีแพทย์ประจำหรือหมุนเวียนเพื่อบริการตรวจรักษาพยาบาลคนในชุมชนนั้นๆ
เมื่อมีการการปฏิรูปโครงสร้างใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 โครงสร้างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ปรับปรุงภารกิจและโครงสร้างใหม่ มีการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งใหม่ ดังนี้
1. รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดคนที่ 1 (รอง 1) เป็น
นายแพทย์ 9 ด้านเวชกรรมป้องกัน
2. รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดคนที่ 2 (รอง 2) เป็น
นักวิชาการสาธารณสุข 9 ด้านส่งเสริมพัฒนา
3. รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดคนที่ 3 (รอง 3) เป็น
เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 8
4. กลุ่มงานต่างๆ เปลี่ยนเป็น
- หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป
- หัวหน้างานแผนงาน ประเมินผล
- หัวหน้างานระบาดวิทยา
- หัวหน้างานข้อมูลข่าวสาร
- หัวหน้างานควบคุมโรคติดต่อ
- หัวหน้างานแนะนำเผยแพร่
- หัวหน้างานประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
- หัวหน้างานดำเนินการตามกฎหมาย
- หัวหน้างานประสานรัฐและท้องถิ่น
- หัวหน้างานพัฒนาบุคลากร
ต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนภารกิจและโครงสร้างใหม่ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2549 ดังนี้
1. กลุ่มอำนวยการ
- งานบริหารทั่วไป
- งานประกันสุขภาพ
2. กลุ่มพัฒนาการสาธารณสุข
- งานทันตสาธารณสุข
- งานควบคุมโรค (งานควบคุมโรคติดต่อ, งานควบคุมโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ)
- งานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
3. กลุ่มนโยบายและสนับสนุนบริการสุขภาพ
- งานคุ้มครองผู้บริโภค
- งานพัฒนายุทธศาสตร์ (งานพัฒนายุทธศาสตร์, งานข้อมูลข่าวสาร, งานระบาดวิทยา)
- งานพัฒนาบุคลากรและคุณภาพบริการ (งานพัฒนาบุคลากร, งานสารนิเทศ/สุขศึกษา,งานพัฒนาคุณภาพบริการ)
4. งานรักษาพยาบาล
5. งานศูนย์คอมพิวเตอร์
พฤศจิกายน พ.ศ.2551 มีการปรับเปลี่ยนภารกิจและโครงสร้างใหม่
1.กลุ่มงานบริหารทั่วไป
2.กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข
3.กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข
4.กลุ่มงานประกันสุขภาพ
5.กลุ่มงานควบคุมโรค
6.กลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ
7.กลุ่มงานทันตสาธารณสุข
8.กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลคุณภาพและรูปแบบบริการ
24 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 มีการปรับเปลี่ยนภารกิจและโครงสร้างใหม่ ดังนี้
1. กลุ่มงานบริหารทั่วไป
2.กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข
3.กลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ
4.กลุ่มงานควบคุมโรค
5.กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข
6.กลุ่มงานประกันสุขภาพ
7.กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ
8.กลุ่มงานทันตสาธารณสุข
9.กลุ่มงานนิติการ
10.กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล
11.กลุ่มงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม