ผศ.ดร.ศศิธร ใบผ่อง หัวหน้าศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วันตรุษจีน จัดขึ้นเพื่อฉลองในฤดูใบไม้ผลิ โดยในวันฉลองตรุษจีน อาหารชนิดต่างๆ จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว วัตถุดิบที่มักนำมาใช้ประกอบอาหารในเทศกาลนี้ล้วนมีความหมาย เช่น เม็ดบัว หมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย เกาลัด หมายถึง เงิน ปลาทั้งตัวถือเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกันและความอุดมสมบูรณ์ ไก่ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า และเส้นหมี่ หมายถึง ชีวิตที่ยืนยาว
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ควรหลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ชุมชน หรือรวมตัวกันจำนวนมากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการประกอบอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆที่อาจจะปนเปื้อน โดยเริ่มต้นจากการเลือกวัตถุดิบที่มีคุณลักษณะที่ดี ซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน มีการควบคุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ไม่ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ไม่ได้มาตรฐาน การเลือกซื้อวัตถุดิบเนื้อสัตว์ ควรเลือกดังนี้ 1) เนื้อหมู มีสีชมพู มันสีขาว ถ้าเป็นสามชั้น มันระหว่างหนังกับเนื้อจะต้องไม่หนามาก 2) ไก่ ควรเลือกไก่อ่อน เนื้อจะนุ่ม หนังไม่เหนียว ไม่มีรอยเขียวช้ำตามคอหรือท้องและบริเวณอื่นๆ 3) เป็ด เลือกที่สดไม่มีรอยช้ำ ถ้าเป็ดแก่จะมีกลิ่นสาบ เนื้อเหนียว 4) กุ้ง หัวติดกับลำตัว ไม่หลุดออกจากกัน เปลือกสีเขียวแกมน้ำเงิน หางไม่มีรอยคล้ำ ไม่มีกลิ่นเหม็น 5) ปลา ต้องมีตาใส เหงือกแดง เนื้อไม่เละ 6) หอย ควรเลือกที่ยังไม่ตาย เปลือกหอยอ้าหุบเองได้
แม้ว่าผักและผลไม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีการปนเปื้อนสารเคมี ยาฆ่าแมลง รวมถึงเชื้อโรคและพยาธิต่างๆ ก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นควรเลือกซื้อผักและผลไม้สดที่ดูสะอาด สดใหม่ ไม่มีคราบดินหรือคราบขาว ไม่มีเชื้อราหรือไข่พยาธิปนเปื้อน รวมถึงไม่มีกลิ่นฉุนผิดปกติ ที่ผักสดควรมีรูหรือมีรอยกัดแทะของหนอนหรือแมลงอยู่บ้าง เลือกซื้อผักตามฤดูกาล เนื่องจากมีโอกาสเจริญเติบโตได้ดีกว่า ทำให้ลดการใช้สารเคมีอันตรายและปุ๋ยลง ควรรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน หลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีสะสม นอกจากนี้ การล้างผักและผลไม้สดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดการตกค้างของสารเคมี หรือยาฆ่าแมลง โดยแช่ผักหรือผลไม้สดในน้ำ จากนั้นนำผักหรือผลไม้สดใส่ตะกร้า/ตะแกรงเปิดน้ำไหลด้วยความแรงพอประมาณ แล้วใช้มือช่วยถูใบผัก หรือผิวผลไม้ประมาณ 2 นาที เพื่อความปลอดภัย และปลอดจากสารพิษอันตราย
ผศ.ดร.ศศิธร ใบผ่อง กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยยุคนี้หลายครอบครัวนิยมเลือกผลิตภัณฑ์ ไก่-หมูแช่แข็ง รวมถึงอาหารสำเร็จรูปในการประกอบอาหารมากขึ้น เพราะสะดวก รวดเร็ว แต่มีเรื่องหลักๆที่ควรให้ความสำคัญ คือ 1) สังเกตลักษณะบรรจุภัณฑ์มีความสมบูรณ์ ไม่ชำรุด 2) เก็บผลิตภัณฑ์แช่แข็งในอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เพื่อยับยั้งและลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ 3) ทำการละลายอย่างถูกวิธี เช่น ละลายในตู้เย็นโดยการนำอาหารแช่แข็งมาไว้ในช่องแช่เย็นล่วงหน้าประมาณ 1 วัน เพื่อให้อาหารแช่แข็งค่อยๆละลาย หรือการละลายในน้ำเย็นโดยการนำเนื้อสัตว์แช่แข็งใส่ในถุงพลาสติกที่ปิดสนิท แช่ในน้ำเย็นให้จมลงไปทั้งชิ้น ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง หรือจับดูพอนิ่ม ควรเปลี่ยนน้ำทุก ๆ 30 นาที จะช่วยทำให้ละลายได้เร็วขึ้น ไม่ควรแช่ในน้ำอุ่น เพราะจะทำให้อาหารละลายเร็วเกินไปและเสียรสชาติได้
สุดท้ายนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน ผู้บริโภคต้องการ์ดไม่ตก โดยยึดหลักการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention For COVID-19) หลีกเลี่ยงไปเฉลิมฉลองในพื้นที่ที่มีคนเยอะ และควรเลือกรับประทานอาหารปรุงสุก ไม่รับอาหารดิบหรือสุกๆดิบๆ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด เพียงเท่านี้ก็สามารถลดเสี่ยงเชื้อโควิด-19 หรือเชื้อโรคต่างๆได้ ทำให้มั่นใจว่ารับประทานอาหารได้อย่างมั่นใจว่าปลอดภัย