พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีฯ กล่าวว่า "จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยเป็นอย่างมาก และเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือระบบบริการสุขภาพและสาธารณสุขของประชาชนคือหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรมและมีศักยภาพ เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องนำคลังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาช่วยในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข และการวิเคราะห์เพื่อพัฒนางานบริการ จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสอดรับนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลสุขภาพ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างระบบการให้บริหารด้านสุขภาพและสาธารณสุขของประชาชนให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต โดย กระทรวงกลาโหม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กรุงเทพมหานคร, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สภากาชาดไทย, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้จับมือร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ "โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล"
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับ "องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ" เป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐทั้ง 12 หน่วย ที่ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ถือเป้นการปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลต่างๆ ยังกระจัดกระจายอยู่ในฐานข้อมูลของหน่วยบริการทั่วไป จึงมีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange : HIE) จากระเบียนข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Personal Health Record :PHR) ของแต่ละฝ่ายระหว่างกัน ทำให้เกิดประโยชน์ของการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ และในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพนี้จะเกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ประชาชนที่มีสิทธิเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ การบริการแพทย์ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ห่างไกล และการบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งเหล่านี้จะขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขและระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระยะยาวได้
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นับเป็นก้าวย่างสำคัญยิ่ง ที่จะนำมาสู่การสร้างความร่วมมือพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มกลางสู่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ (National Health Information Platform) ซึ่งจะมีคลังข้อมูล หรือ Big Data ด้านสาธารณสุขขนาดใหญ่ แม้จะเกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายสาธารณสุขไทยและนวัตกรรมในหลายๆ ด้าน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ยึดหลักการให้บริการประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้ "โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล" ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเจ็บป่วยไปรักษาที่ไหน แพทย์สามารถตรวจสอบประวัติการรักษา และให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันมีโรงพยาบาลในสังกัดของ อว. เข้าร่วมแล้วภายในพื้นที่ กทม. ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่อง และสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือการวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข อว. พร้อมให้สนับสนุนทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และจะเดินหน้าผลักดันและส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศมาพัฒนาต่อยอดด้านการแพทย์ อว. พร้อมขับเคลื่อและบูรณาการไปพร้อมๆ กันกับหน่วยงานพันธมิตร
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาด้วยความพยายามของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้นำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูล ด้านสุขภาพผ่านระบบ Health Link ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง ที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นำโดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ต้องการปฏิรูประบบบริหารจัดการฐานข้อมูล และการสื่อสารของประเทศให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับสถานการณ์การระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตสุขภาพที่ 13 ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูประบบการบริการและการรักษาประชาชนของประเทศ โดยกรุงเทพมหานครจะอำนวยความสะดวก และให้การความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ กทม. คือศูนย์กลางในด้านต่างๆ และรองรับผู้คนจำนวนมาก การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขคือเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันทำงานจากทุกฝ่าย การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่จะทำให้เกิด Big data เพื่อนำไปวิเคราะห์ วางแผน ไว้รองรับสถานการณ์วิกฤติต่างๆในอนาคตต่อไป นี้จะเป็นโครงการต้นแบบและจะขยายผลต่อเนื่องเพื่อพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป