27 มิถุนายน 2566 สำนักข่าวยอนฮับ เกาหลีใต้ รายงานว่า เกาหลีใต้จะยกเลิกวิธีการนับอายุแบบเดิมๆ และนำมาตรฐานสากลมาใช้ตั้งแต่วันพุธที่ 28 มิถุนายน 2023 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้อายุของบุคคลในเอกสารทางการลดลงหนึ่งหรือสองปี เจ้าหน้าที่ระบุ
ภายใต้การแก้ไขกฎหมายแพ่งและกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารราชการ ระบบอายุที่หลากหลายจะรวมเป็นหนึ่งภายใต้ระบบที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งอายุจะขึ้นอยู่กับ "วันเดือนปีเกิด" ตามกฎหมายของกระทรวง
3 ระบบอายุของเกาหลีใต้
ปัจจุบัน เกาหลีใต้ มีระบบนับอายุ ถึง 3 ระบบ
ระบบที่หนึ่ง ภายใต้ระบบที่เรียกว่า "อายุเกาหลี" (Korean age) เป็นระบบแบบโบราณดั้งเดิมที่ใช้บ่อยที่สุด วิธีนับคือ คนจะอายุครบ 1 ขวบในวันที่พวกเขาเกิด และบวก 1 ปีในวันแรกของปีใหม่ ตัวอย่างเช่น ทารกที่เกิดในวันส่งท้ายปีเก่าจะมีอายุ 2 ปีทันทีที่เลยเที่ยงคืนไป (ระบบนี้นับอายุตั้งแต่อยู่ในครรภ์)
ตัวอย่าง ที่น่าทึ่งและน่าอึ้ง อย่างเช่น หากเด็กคนหนึ่ง เกิดวันที่ 31 ธันวาคม พอถึงวันที่ 1 มกราคม ปีถัดไป เด็กคนนี้จะมีอายุ 2 ปี!
ระบบที่สอง เป็นระบบที่ยอมรับในระดับสากล (International System) โดยกำหนดอายุของบุคคลตามวันเดือนปีเกิด
ระบบที่สาม เป็นระบบ "นับปีปฏิทิน" คือนับอายุเพิ่มอีกปี เมื่อเปลี่ยนปีปฏิทิน ในวันแรกของปีใหม่ BBC เรียกว่าเป็นการนับแบบ "Counting Age"
ยกตัวอย่างอีกครั้ง เพื่อความเข้าใจของการนับทั้ง 3 แบบ หาก เด็กคนหนึ่งเกิดวันที่ 28 มิถุนายน 2003 และวันนี้ 29 มิถุนายน 2023 เด็กคนนี้
จะอายุ 19 ปี ตามระบบสากล
และจะมีอายุ 20 ปี ตามระบบนับปีปฏิทิน
แต่จะมีอายุ 21 ปี ตามระบบอายุเกาหลี
ระบบสากล จะทำให้เด็กคนนี้อายุ 19 ปี ลดลง 1-2 ปี ทันที หากนับแบบอื่นก่อนหน้า
ใช้ในทุกภาคส่วนของระบบศาลและราชการ
รัฐบาลเกาหลีระบุว่า มาตรฐานอายุใหม่นี้ จะใช้ในระบบศาล และระบบบริหารราชการทั้งหมด แต่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในการเกณฑ์ทหาร การคำนวณอายุตามกฎหมายที่จะดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ หรือสำหรับวัยเรียน
การยุบรวมระบบอายุ เป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญาในการหาเสียงของประธานาธิบดี Yoon Suk Yeol โดยอ้างถึงต้นทุนทางสังคมที่ไม่จำเป็นและความสับสน
"ระบบการนับอายุแบบรวม (แบบสากล) จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสังคมที่เกิดขึ้น เนื่องจากการใช้ระบบนับอายุแบบหลายระบบจนถึงตอนนี้" Lee Wan-kyu รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายของรัฐบาลกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์
Lee อ้างถึงการร้องเรียนทางแพ่งหรือการฟ้องร้องทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากความสับสนในการคำนวณอายุ เช่น การกำหนดสิทธิ์รับเงินบำนาญ
ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย
BBC รายงานว่า ผลสำรวจความเห็นจากประชาชนเกาหลีใต้ 3 ใน 4 เห็นด้วยกับการเปลี่ยนมาใช้ระบบสากลหนึ่งเดียว บางคนให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องดี เพราะเขาจะอายุน้อยลงกว่าเดิม 1-2 ปี เป็นความอายุมากทางตัวเลข ที่ไม่สอดคล้องกับอายุจริงทางกายภาพเลย บางคนว่าดีกว่าเดิมแน่ เพราะจะได้ไม่ต้องคอยอธิบายว่าเรื่องอายุเกาหลีในบางสถานการณ์อีกต่อไป ขณะที่เจ้าหน้าที่ในสายงานด้านการแพทย์ของเกาหลีใต้ ให้ข้อมูลว่า ในสายนี้ ใช้ระบบสากลเป็นพื้นฐานมานานแล้ว ไม่ใช้ระบบเกาหลีแต่อย่างใด จึงไม่มีปัญหาจากการเปลี่ยนกฏใหม่
น่าสนใจคือ การเปลี่ยนระบบของเกาหลีใต้ครั้ง เป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคเอเซียเหนือที่ยกเลิก จากเดิมที่ประเทศแถบนี้เคยใช้เช่นเดียวกัน แต่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้นานแล้ว โดยญี่ปุ่นยกเลิกไปตั้งแต่ยุค 1950 ส่วนเกาหลีเหนือยกเลิกไปตั้งแต่ช่วง 1980