ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ในหลวง-ราชินี ทรงรับผู้บาดเจ็บเหตุการณ์สยามพารากอน เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

ในหลวง-ราชินี ทรงรับผู้บาดเจ็บเหตุการณ์สยามพารากอน เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ Thumb HealthServ.net
ในหลวง-ราชินี ทรงรับผู้บาดเจ็บเหตุการณ์สยามพารากอน เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ThumbMobile HealthServ.net

ในหลวง-ราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ผู้บาดเจ็บเหตุพารากอน พร้อมทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ “พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำกระเช้าดอกไม้ "นายกฯ" แสดงความห่วงใยผู้บาดเจ็บ เหตุการณ์สยามพารากอน ระบุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 รายต้องดูแลเป็นพิเศษ ส่วนที่เหลือบางส่วนพร้อมกลับบ้าน แต่มีจิตแพทย์ดูแลใกล้ชิด

ในหลวง-ราชินี ทรงรับผู้บาดเจ็บเหตุการณ์สยามพารากอน เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ HealthServ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ ฯ เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุเยาวชนใช้อาวุธปืนยิงบุคคลอื่นภายในห้างสรรพสินค้าพารากอน และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่าง ๆ ดังนี้
 
▪ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ นางหลี่ ชา สัญชาติจีน โดยมี นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรับมอบ จากนั้นเชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ญาติ นางสาวเพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ และนายวิเชียร วิจิขากี

▪ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน เขตบางรัก เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ญาตินางสาวคำ พูอี สัญชาติลาว

▪ โรงพยาบาลตำรวจ เขตปทุมวัน เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ นางสาวอัญพัชร์ ทิพย์จิระสกุล
 

ในการนี้ ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ให้กับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนฯ และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรับทราบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บทั้ง 5 ราย รวมทั้งครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้



 
ในหลวง-ราชินี ทรงรับผู้บาดเจ็บเหตุการณ์สยามพารากอน เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ HealthServ

รมต.สำนักนายกฯ เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บ


 “พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นำกระเช้าดอกไม้ "นายกฯ" แสดงความห่วงใยผู้บาดเจ็บ เหตุการณ์สยามพารากอน ระบุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 รายต้องดูแลเป็นพิเศษ ส่วนที่เหลือบางส่วนพร้อมกลับบ้าน แต่มีจิตแพทย์ดูแลใกล้ชิด 

ด้านการท่องเที่ยวเชื่อจะกลับมาดีขึ้นเป็นปกติเหมือนเดิม
 
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ได้มอบหมายให้ เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมมอบกระเช้าดอกไม้เพื่แเป็นกำลังใจ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน 1 ราย โรงพยาบาลจุฬาฯ 3 ราย เเละ โรงพยาบาลตำรวจ 1 ราย  ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีผู้ป่วยวิกฤต 1 ราย รักษาตัวอยู่ที่ห้อง ICU โรงพยาบาลจุฬา ซึ่งนางพวงเพ็ชร  พบว่า ขณะนี้ยังไม่รู้สึกตัว อาการยังน่าเป็นห่วง ต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ มีผู้ป่วย 2 รายที่พร้อมกลับบ้านได้แล้ว และอีก 2 รายยังต้องรักษาตัวต่อเนื่อง โดยมีทีมจิตแพทย์ คอยดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีบางรายยังรู้สึกตระหนกตกใจ จากเหตุการณ์อยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทั้งหมด ได้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
 
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจากข่าวที่นำเสนอออกไปต่างประเทศบ้าง แต่คิดว่าจะมีการชี้แจง และขอโทษ ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ  หลังจากที่ได้ชี้แจงเชื่อว่า เหตุการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้น และ นักท่องเที่ยวกลับมาเหมือนเดิม ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมี "Mobile ALERT" (การแจ้งเตือนทางมือถือ)เฉพาะจุด โดยจะมีการประสานกับ กสทช. แจ้งให้ทราบว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจุดใดบ้าง เพื่อให้ทุกคนระวังตัว เเละป้องกันตัว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
 
 

ตำรวจแจ้ง 5 ข้อหา เยาวชนก่อเหตุยิงในห้างสยามพารากอน 

 
เตรียมสอบสวนพ่อแม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กหรือไม่
.
พลตำรวจตรี นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เปิดเผยความคืบหน้าในคดีที่เยาวชนอายุ 14 ปี ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้าวานนี้ว่า  เบื้องต้นได้ดำเนินคดีกับเยาวชนรายดังกล่าวทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่ 
1. ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
2. พยายามฆ่า
3.  มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต 
5.  ยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงอยู่ระหว่างสอบสวนว่าผู้ปกครองจะเข้าข่ายมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ด้วยหรือไม่
 
สำหรับผู้ก่อเหตุขณะนี้ ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โดยจะต้องเชิญแพทย์ นักจิตวิทยาและอัยการ มาร่วมหารือประเมินสภาพจิตและอารมณ์ของเด็ก เนื่องจากการพูดคุยวานนี้ เด็กยังไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมให้การ จากนั้นช่วงสายวันนี้จะควบคุมตัวเด็กส่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อทำการไต่สวน ก่อนจะยื่นคำร้องต่อศาลฝากขังต่อไป
 
ส่วนการตรวจค้นบ้านพักของผู้ก่อเหตุในพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลหลักสองที่พบเครื่องกระสุนปืนจำนวนมากในบ้านพักของผู้ก่อเหตุนั้น จะแยกดำเนินคดีเป็นอีก 1 คดี 


 

รมต.มหาดไทย สั่งคุมเข้มครอบครองปืน

“อนุทิน” สั่งคุมเข้ม งดออกใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน จำกัดการนำเข้าซื้อขายอย่างเด็ดขาด ชี้!ประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องพก
 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้มอบหมาย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง งดการออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนให้กับบุคคลทั่วไป เนื่องจากเห็นว่าประเทศมีกฎหมายในการปกป้องคุ้มครอง ดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นต้องพกพาอาวุธในที่สาธารณะ
 
พร้อมเตือน ผู้มีอาวุธปืนในครอบครองต้องเก็บให้มิดชิด เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ไม่ควรให้ผู้อื่นเข้าถึงได้โดยง่าย และต้องปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการครอบครอง หรือพกพาตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 
 
นายอนุทิน กล่าวเสริมว่า หากพบเจออันตรายหรือมีภัยคุกคาม ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง เพื่อความปลอดภัยของตนเอง แทนการพกพาอาวุธอย่างไม่ถูกต้อง หรือสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องซื้อ ต้องขอใบอนุญาตในการครอบครองและพกพาอาวุธปืนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะมีการตรวจสอบจากกรมการปกครองอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ จะคุมเข้มจำกัดการนำเข้า ซื้อขายอาวุธปืนและอาวุธที่มีอาณุภาพคล้าย เช่น ปืน BB-GUN ปืนประดิษฐ์ กระสุนปืน ให้เข้มงวดและเด็ดขาดที่สุด
 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.) เปิดเผยว่า เตรียมประชุมร่วมกับอธิบดีกรมการปกครองมาหารือ เกี่ยวกับการควบคุมการใช้อาวุธปืน และต้องการได้รับทราบถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน รวมถึง แบงค์กัน หรือบีบีกัน และของเล่นต่างๆ ที่สามารถทำอันตรายได้ ต้องมาดูว่าตรงไหนที่ต้องควบคุม ซึ่งได้ให้นโยบาย ไปว่าจะไม่อนุญาตให้ออกใบอนุญาตให้กับบุคคลทั่วไป
 
 
 

เตือน !! ดัดแปลงปืนแบลงค์กัน มีโทษหนัก

เตือน !! ดัดแปลงปืนแบลงค์กัน มีโทษหนัก คุกสูงสุดถึง 20 ปี ปรับ 4,000-40,000 บาท
 
เพจตำรวจสอบสวนกลาง ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ปืนแบลงค์กัน คือ สิ่งเทียมอาวุธปืน ที่นิยมใช้ในการแสดง ไม่สามารถใช้กระสุนจริงได้ แต่ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ที่นำมาดัดแปลงเพื่อให้สามารถใช้ได้กับกระสุนจริง ทำให้ ปืนแบลงค์กันที่ถูกดัดแปลงแล้ว กลายเป็น สิ่งเทียมอาวุธปืนที่ทำอันตรายถึงชีวิต
 
ทั้งนี้ การมีไว้ในครอบครองและใช้ ปืนแบลงค์กันที่ถูกดัดแปลงให้ส่งเครื่องกระสุนปืนออกได้นั้น เข้าข่ายมีความผิดฐาน “มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษจำคุกไม่เกิน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นอกจากนี้ ผู้ที่ดัดแปลง สั่ง นำเข้า หรือจำหน่าย ปืนแบลงค์กัน ให้สามารถส่งเครื่องกระสุนปืนออกได้นั้น เข้าข่ายความผิดฐาน “ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ สั่ง นำเข้า มีหรือจำหน่าย ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000-40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
 
 
 
 

แรงงานเร่งเยียวยา

“พิพัฒน์” เสียใจเหตุสูญเสียพารากอน สั่งเร่งตรวจสอบเยียวยา หลังพบผู้เสียชีวิตเป็นชาวต่างชาติ
 
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ว่า ทันทีที่ทราบข่าวว่าผู้เสียชีวิตจากการกราดยิง 2 ราย เป็นชาวเมียนมาและชาวจีน ได้สั่งการให้กรมฯ ที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบทันที ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานประกันสังคม พบว่า ชาวเมียนมาที่เสียชีวิต เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33  
.
ในส่วนของ ผู้บาดเจ็บ อีก 5 ราย พบว่าเป็นผู้ประกันตน 4 ราย แบ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างชาวไทย จำนวน 2 ราย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างแรงงานสัญชาติลาว จำนวน 1 ราย และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่เป็นลูกจ้างชาวไทย จำนวน 1 ราย 
 
กระทรวงแรงงาน ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียในครั้งนี้  ขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะดูแลและคุ้มครองแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกคน ให้เท่าเทียมกับแรงงานไทยทุกประการ คุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย  ชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม หากเสียชีวิตจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตเป็นค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์ 
 
ในส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นลูกจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นับเป็นการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ70 ของค่าจ้าง   ขณะที่ ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง   โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ  สำนักงานประกันสังคมจะดูแลสิทธิในการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาทุกราย  และขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้เข้าไปดูแลเรียบร้อยแล้ว 
 
 
 
 

จิตแพทย์ วอนสังคมช่วยกันเฝ้าระวัง

จิตแพทย์ วอนสังคมช่วยกันเฝ้าระวัง อย่าส่งต่อภาพความรุนแรงทุกรูปแบบ ป้องกันการบ่มเพาะพถติกรรมรุนแรงและการเลียนแบบก่อเหตุซ้ำรอย
 
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์กราดยิงพารากอน โดยผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน ว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าเสียใจ ที่เด็กถึงขั้นการลงมือใช้อาวุธร้ายแรง ส่วนสาเหตุของการก่อเหตุในครั้งนี้ยังต้องมีการวิเคราะห์ในเชิงลึก เพราะอาจมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้ แต่โดยธรรมชาติของวัย ช่วงวัยรุ่นเช่นนี้จะเป็นกลุ่มที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีวุฒิภาวะจำกัดในการควบคุมอารมณ์ 
 
ส่วนการที่เด็กมีประสบการณ์รับรู้ความรุนแรงโดยตรงต่อตัวเอง หรือการเห็นภาพจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือสื่อเพื่อความบันเทิง คลิปวิดีโอ ภาพยนตร์ เกม เมื่อผ่านการสัมผัสและการรับรู้ไปนานๆ จะทำให้เกิดความชาชิน เกิดการซึมซับแม้กระทั่งตัวเองยังไม่รู้ตัวว่าได้เผลอรับความรุนแรงเข้าไปแล้ว นี่คืออีกสิ่งที่ต้องตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวังสังคม ป้องกันไม่ให้มีข่าวภาพข่าวคลิปเหตุการณ์ หรือกระทั่งสื่อความบันเทิงที่มีความรุนแรงถูกเผยแพร่อย่างไร้ข้อจำกัด 
 
ส่วนเรื่องที่ว่าเด็กป่วยทางจิตหรือไม่ มองว่าประเด็นที่สังคมจะได้ประโยชน์มากกว่าอาจจะไม่ใช่การสรุปว่าเด็กเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เป็นการวิเคราะห์เหตุการณ์ว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นอะไรก็ตาม แต่สังคมต้องตื่นตัวกับการป้องกันความรุนแรง ไม่ว่ารายนี้จะเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เด็กทุกคนที่เจ็บป่วยทางจิตต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ว่ารายนี้จะขาดยาหรือไม่แต่ผู้ป่วยทุกคนต้องไม่ขาดยา และต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ พร้อมกับได้รับความร่วมมือจากครอบครัว
 
พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า ตนเองได้เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดจะได้รับการดูแลทั้งทางร่ายกายและจิตใจ รวมถึงการเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยย้ำกับทาง รพ. ต้องการความช่วยเหลือกรมสุขภาพจิตพร้อมเต็มที่ โดยมีทีม ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย MCATT ที่คอยดูแลเรื่องสุขภาพจิตหลังเกิดความรุนแรงต่างๆ ซึ่งจะมีการรวบรวมตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจเพื่อการดูแลต่อไป 
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเดินทางไปที่ห้างฯ พารากอน เพื่อเปิดพื้นที่ดูแลเรื่องจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง พนักงานในห้างฯ เป็นต้น 
 
 
 

ยุติธรรม เร่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ เยียวยาเหยื่อ

รมว.ยุติธรรม เร่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ เยียวยาเหยื่อกราดยิงที่สยามพารากอน 
 
จากเหตุระทึกยิงกลางห้างสยามพารากอน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บโดยเร็ว
 
ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 นั้น 
 
  • กรณีเสียชีวิต มีสิทธิได้รับ ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ชีวิต 100,000  บาท, ค่าจัดการศพ 20,000 บาท, ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท และค่าเสียหายอื่น 40,000 บาท ทั้งนี้ เนื่องกรณีดังกล่าว เป็นคดีอุจฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ สาธารณชน สามารถจ่ายสูงสุดตามกฎหมาย รวม 200,000 บาท  
  • ส่วนกรณีบาดเจ็บ มีสิทธิได้รับ ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาท, ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่างกายและจิตใจ ไม่เกิน 20,000 บาท, ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่เกิน 1 ปี ในกทม.วันละ 353 บาท และค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ไม่เกิน 50,000 บาท
.
 ทั้งนี้ การจ่ายค่าตอบแทนฯ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม จะเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร็วที่สุด โดยตามกฎหมายนี้ จะให้การช่วยเหลือแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน และขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของทุกคนที่ประสบเหตุในประเทศไทยไม่เลือกปฏิบัติ
 
 
 

ศึกษาธิการ แสดงความเสียใจเหตุการณ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความเสียใจเหตุการณ์เด็ก 14 กราดยิงที่สยามพารากอน รับเป็นนักเรียนในสังกัด การศึกษาตามอัธยาศัยหลักสูตรวิทยาศาสตร์ ชี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปแรงจูงใจการก่อเหตุว่ามาจากการเล่นเกม
 
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ  โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีนักเรียนชายวัย 14 โรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าพารากอนว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และมีความห่วงใยต่อผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกคน ซึ่งในส่วนของศธ.ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้วพบว่า เด็กนักเรียนที่ก่อเหตุเป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียน essence สังกัดศธ.จริง ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวเป็นการจัดการศึกษาทางเลือกหรือการศึกษาตามอัธยาศัย จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรภาคบังคับของสพฐ. มีนักเรียนจำนวน 800 คน โดยผู้บริหารโรงเรียนแจ้งว่านักเรียนคนดังกล่าวเรียนอยู่ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ 
 
โฆษกศธ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้เขตพื้นที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนแล้วพบว่า เด็กอาจมีสภาพทางจิตบ้างเล็กน้อย แต่ศธ.ยังไม่สามารถฟันธงได้จากการรายงานของบุคคลเพียงคนเดียว ดังนั้นจึงไม่อยากด่วนสรุปและยังไม่อยากโทษว่าเป็นความผิดของใคร แต่จำเป็นจะต้องหาเหตุจูงใจและถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและป้องกันในอนาคต ส่วนประเด็นเรื่องนักเรียนเลียนแบบจากการเล่นเกมออนไลน์นั้น ตนยังไม่อยากด่วนสรุปว่าสาเหตุมาจากการเล่นเกม แต่การใช้สื่อออนไลน์ต่างๆผู้ปกครองและสถานศึกษาจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแล และช่วยกันตรวจสอบการใช้สื่อที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนด้วย อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่จะทำให้สังคมมองย้อนกลับไปถึงระบบการศึกษและนำไปสู่การแก้ไข รวมไปถึงประเด็นที่นักวิชาการออกมาระบุว่า ศธ.ควรปรับหลักสูตรการสอนที่เน้นทักษะชีวิตการแก้ปัญหาชีวิตให้มากขึ้น ซึ่งตรงตามนโยบายของรมว.ศธ.ที่ต้องการเดินหน้านโยบายเรียนดีมีความสุข 
 
 

โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินคดี “เยาวชนทำผิด”

 โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินคดี “เยาวชนทำผิด” ต้องคุมตัวส่งศาลใน 24 ชม. ส่วนพ่อแม่อาจต้องรับผิดทางแพ่ง
 
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยแนวทางการดำเนินคดีกับเด็กอายุ 14 ปี ที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้าจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ว่า ในการจับกุมเยาวชน จะมีกระบวนการตรวจสอบตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนต้องนำตัวเด็กส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชม. เพื่อให้ศาลตรวจสอบก่อนว่า การจับกุมเยาวชนและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นไปตามที่กฎหมายหรือไม่ โดยศาลจะรอดูรายงานการจับกุมจากพนักงานสอบสวนที่นำส่งมา และพิจารณาพฤติการณ์ของเด็ก เช่น เด็กก่อเหตุยิงไปกี่คน, สภาพทางจิตใจ, การรักษาพยาบาลทางจิต และการดูแลของผู้ปกครอง พนักงานสอบสวนจะต้องใส่ในรายงานให้ศาลพิจารณา และในการตรวจสอบการจับกุม พนักงานสอบสวนต้องเดินทางมาศาลเยาวชนฯ ด้วย  ซึ่งศาลอาจทำการไต่สวนพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม ถึงข้อมูลต่าง ๆ จากนั้นศาลจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนว่าจะใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัว หรือจะควบคุมตัวเด็กที่ก่อเหตุหรือไม่ 
 
ส่วนพ่อแม่ของเด็กนั้น ตามกฎหมายหากเยาวชนยังไม่บรรลุนิติภาวะ  พ่อแม่ต้องรับผิดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429  เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ข้อยกเว้นตามกฎหมายได้ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนผิด 
 
กรณีเด็กที่มีอาการป่วยทางจิต หากศาลเห็นว่า พ่อแม่สามารถดูแลเด็กได้ ก็จะให้พ่อแม่ดูแล และอาจวางมาตรการต่าง ๆ กำหนดไว้ แต่หากพ่อแม่ดูแลไม่ได้ ก็อาจจะให้องค์กรหรือหน่วยงานดูแลแทน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเด็กว่ารุนแรงเพียงใด และต้องใช้มาตรการใดมาควบคุมดูแลเด็กเหล่านี้ 
 
 
 
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด