11 ตุลาคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ชลน่านแถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส ทั้ง 13 ประเด็น ซึ่งทุกประเด็นมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ
ยกตัวอย่าง ประเด็นยาเสพติด/สุขภาพจิต พบว่า มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแล้ว 35 จังหวัด คิดเป็น 46% มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต โดยเฉพาะผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ หรือประเด็นมะเร็งครบวงจรจะมีการชี้แจงแนวทางการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและ กทม. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ เพื่อคิกออฟฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
“ส่วนประเด็นดิจิทัลสุขภาพ ทีมส่วนกลางได้ร่วมกับทีมโรงพยาบาลในพื้นที่ จัดทำเกณฑ์โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ การให้บริการ และความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาโรงพยาบาล รองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ตามที่ประกาศนำร่องไว้ มั่นใจว่าจะมี Smart Hospital ไม่น้อยกว่า 200 แห่งในระยะเริ่มแรก” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน 2 เรื่อง คือ 1.เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งคนไทยชุดแรกจะกลับมาถึงประเทศไทยวันที่ 12 ตุลาคมนี้ เวลา 10.35 น. จะมีทีมแพทย์คัดกรองสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่สนามบิน หากมีปัญหาสุขภาพกายจะส่ง รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน หรือ รพ.นพรัตนราชธานี และหากมีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้เตรียมโรงพยาบาลด้านจิตเวชไว้รองรับ คือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐานจนอาการเป็นปกติ นอกจากนี้ ได้ส่งทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ลงไปดูแลญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทุกแห่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา และ 2.การติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งยังมีสถานการณ์ในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นอุทกภัย ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลง ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ดูแลผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยขณะนี้มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 19 แห่ง ยังเปิดให้บริการตามปกติ 18 แห่ง ต้องปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนนายาง จ.กาฬสินธุ์