31 มกราคม 2567 ที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้งและดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน กระทรวงสาธารณสุข ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก, นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ, รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, Dr.Francois Nosten ประธานมูลนิธิ เดอะ บอร์เดอร์แลนด์ เฮลท์ และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิสุวรรณนิมิต
ศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน และพื้นที่พิเศษ กระทรวงสาธารณสุข รพ.แม่สอด จ.ตาก มี ดร.นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ เป็นประธาน ดำเนินงานผ่านกลไกของคณะกรรมการจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรม เพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในการปฏิบัติงานสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ดูแลรักษาและควบคุมโรคอย่างเหมาะสมให้กับคนไทยและต่างด้าวอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข, สถาบันพระบรมราชชนก, กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, มูลนิธิ เดอะ บอร์เดอร์ แลนด์ เฮลท์ และมูลนิธิสุวรรณนิมิต
นับเป็นศูนย์แห่งแรกของประเทศ ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาสาธารณสุขชายแดนโดยตรง
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ประเด็นสาธารณสุขชายแดน เป็น 1 ใน 13 นโยบายการดำเนินงาน เนื่องจากมีบริบทพื้นที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ มีความซับซ้อน เชื่อมโยงกับหลายปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งยังเป็นด่านหน้าในการป้องกัน ควบคุมโรคระบาดที่จะเข้าสู่ประเทศ
ตัวอย่างเช่น ที่จังหวัดตาก มีประชากรทั้งชาวไทย ชาวไทยภูเขา และชาวต่างชาติ มีโรคระบาดที่พบบ่อย ได้แก่ มาลาเรีย วัณโรค และโรคไข้เลือดออก ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเฉพาะอัตรากำลังและศักยภาพของบุคลากรที่ต้องมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาสุขภาพของประชากรไทยและต่างด้าว
“การลงนามความร่วมมือเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่จังหวัดตาก ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาระบบบริการในพื้นที่ชายแดนของจังหวัดตากอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยความร่วมมือและการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกภาคสนามที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ชายแดน ช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขให้พร้อมรับมือกับปัญหาสาธารณสุขชายแดน ส่งผลให้สามารถดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่ชายแดนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้” นพ.ชลน่าน กล่าว