12 พ.ค. 2566 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมวันครบรอบ 21 ปี แห่งการสถาปนาโรงพยาบาลสิรินธรและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีอุปการคุณและบุคลากรดีเด่นประจำปี 2566 ณ ห้องประชุมแก้วเจ้าจอม ชั้น 3 โรงพยาบาลสิรินธร พร้อมเปิดหออภิบาลผู้ป่วยหนักอายุรกรรมแรงดันลบ ศูนย์ชีวาประทีป และห้องปฏิบัติการทักษะทางคลินิก (skill lab)
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า วันนี้ขอแสดงความยินดี ชื่นชมและให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง อดทน เสียสละ มีความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและทรัพยากรที่จะทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นพื้นที่บริการสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดีของกรุงเทพมหานคร สำหรับเรื่อง Telemedicine โรงพยาบาลสิรินธรเป็น Sandbox แห่งที่ 3 ในการพัฒนาระบบด้านสาธารณสุขและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็น Bangkok Health Zoning ดูแลโซนฝั่งกรุงเทพตะวันออก วันนี้เห็นความก้าวหน้าและความพยายามของโรงพยาบาลสิรินธรที่จะดูแลประชาชนแล้วนั้นทราบว่าคุณหมอ พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุขเหนื่อยมากโดยเฉพาะ 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาเรื่องขาดแคลนด้านบุคลากร ทรัพยากร กทม. กำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาระบบที่เหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาเหล่านี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติเน้นย้ำอยู่เสมอว่าเมื่อเราพูดถึงเส้นเลือดฝอยเราไม่ได้ดูแลแค่ประชาชนระดับเส้นเลือดฝอยเท่านั้นแต่รวมถึงเส้นเลือดฝอยที่อยู่ระบบการทำงานของกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน หวังว่าความร่วมมือที่เข้มแข็งนี้ขอให้พยายามกันต่อไปเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของระบบสาธารณสุขที่ไปให้ถึงบ้านประชาชนจริงๆ
โรงพยาบาลสิรินธร ได้ดำเนินการด้านสาธารณสุขให้บริการด้านการแพทย์ เพื่อรองรับประชาชนฝั่งกรุงเทพตะวันออกและสนามบินสุวรรณภูมิ บริการตรวจรักษาพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีความพร้อมด้านการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม รองรับการเป็นสถาบันร่วมสอนผลิตแพทย์กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันได้พัฒนายกระดับมุ่งสู่โรงพยาบาลตติยภูมิ ระดับสูง ตลอดระยะเวลา 21 ปี ของการเปิดให้บริการ สามารถดูแลพี่น้องประชาชนที่มารับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้โรงพยาบาลสิรินธรตอบสนองนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสุขภาพดี โดยดำเนินโครงการเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในระบบบริการ ได้แก่ App หมอ กทม. หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine บัตรคนพิการจุดเดียวจบ Smart OPD การรับส่งต่อและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อผ่านระบบ E refer จัดบริการ ศูนย์เวชกรรมฟื้นฟูดูแลผู้ป่วยระยะกลางศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (ชีวาประทีป) และได้รับงบประมาณสนับสนุนการปรับปรุงหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ชั้น 1 และรถวินิจฉัยและรักษาภาวะวิกฤตทางหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) เพื่อรองรับการขยายศักยภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฝั่งกรุงเทพตะวันออกรวมทั้งพัฒนาเครือข่ายการจัดการระบบบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขตามโซนพื้นที่ Bangkok Health Zoning ด้านการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 และชั้นปีที่ 6 ได้จัดสร้างห้องฝึกปฏิบัติการทักษะทางคลินิก (Skill Lab) ที่จะเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติของนักศึกษาให้มีทักษะทางคลินิกที่เหมาะสม
ตลอดระยะเวลา 21 ปี โรงพยาบาลสิรินธรได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร และผู้มีอุปการคุณมากมาย ข้าราชการและบุคลากรของโรงพยาบาลสิรินธรเสียสละทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเติมความใส่ใจทุกกระบวนการทำงานให้ผู้รับบริการพึงพอใจ ปัจจุบันมีประชาชนให้ความเชื่อมั่นมารับบริการตรวจรักษา เฉลี่ยวันละ 2,500 รายต่อวัน ประชาชนที่มาใช้บริการได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง
ในการนี้มี นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลสิรินธร เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
21 ปี โรงพยาบาลสิรินธร
โรงพยาบาลสิรินธร ก่อตั้งโดยนายศิริ เปรมปรีดิ์ อดีตหัวหน้าเขตลาดกระบังที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2518 – 2521 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งในช่วงเวลานั้น เขตลาดกระบังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ มีแต่ท้องทุ่งข้าวที่เขียวขจี เปรียบเสมือนแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของ “ชาวกรุงเทพมหานคร” ซึ่งการเป็นพื้นที่ห่างไกลทำให้การเข้าถึงระบบบริการของรัฐในทุกๆ เรื่อง
"...ช่วงนั้นเขตลาดกระบังเหมือนกับถูกเนรเทศพื้นดินถิ่นทุรกันดารไปทางไหนก็มีแต่ป่าทั้งนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้นไม่มีสถานบริการสาธารณสุขที่ทันสมัย มีอยู่ก็เพียงสองแห่งคือศูนย์บริการสาธารณสุขลาดกระบังและศูนย์บริการสาธารณสุขกันตารัติอุทิศ ซึ่งเป็นเพียงสถานที่เล็กๆ พอเยียวยาได้ แต่ถ้าหากประชาชนเดือดร้อน เป็นป่วยหนัก งูกัด ถูกทำร้ายร่างกาย ก็จะไม่มีที่จะรักษา ขนาดรถขยะยังต้องให้บรรทุกคนในยามค่ำคืนเพื่อไปโรงพยาบาลชั้นใน ผมก็ได้มานั่งคิดว่า เราเองก็มีหมออยู่คนเดียว เครื่องมือก็ไม่ทันสมัยน่าจะมีโรงพยาบาลแถบนี้ ซึ่งในรัศมี 20 กิโลเมตร นั้นไม่มีโรงพยาบาลเลย..." นายศิริ เปรมปรีดิ์ ได้เล่าไว้
ความคิดในการตั้งโรงพยาบาลในเขตลาดกระบังเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจาก คุณหญิงหรั่ง กันตารัติ และลูกหลานตระกูลกันตารัติมอบที่ดิน 84 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา และนายรงค์ชัย ฉายาวสันต์ กับนายจวง เที่ยงธีรธรรม มอบที่ดินบางส่วนด้านหน้าเป็นทางเข้าออก จากถนนอ่อนนุชเข้าไปยังที่ดินของคุณหญิงหรั่ง มอบให้กับกรุงเทพมหานคร ในปี 2520 ด้วยเจตนารมย์เพื่อสร้างโรงพยาบาล แต่การก่อสร้างโรงพยาบาลก็ยังไม่เกิดขึ้น กระทั่งปี 2534 จึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลขึ้น ในสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ศ.ดร.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา
วันที่ 4 มิถุนายน 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานครว่า "โรงพยาบาลสิรินธร"
โรงพยาบาลสิรินธรได้เปิดบริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 มีนายแพทย์พิชญา นาควัชระ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธรคนแรก ด้วยศักยภาพโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง (เป้าหมายขยายเพิ่มสู่ 800 เตียง) บูรณาการการดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจรอย่างสมบูรณ์แบบในการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสมรรถภาพ ครอบคลุมมิติด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2550 เป็นวันที่เราชาวสิรินธรและผู้รับบริการต่างปราบปลื้มเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์มาทรงเปิดโรงพยาบาลสิรินธรอย่างเป็นทางการ
*ข่าวและภาพจาก รพ.สิรินธร
โรงพยาบาลสิรินธร
20 ซอยอ่อนนุช 90 แขวงประเวศ เขตประเวศ
กรุงเทพมหานคร 10250
โทร 02-3286900 ถึง 19