ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

10 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มมาแรงปี 2024

10 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มมาแรงปี 2024 HealthServ.net
10 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มมาแรงปี 2024 ThumbMobile HealthServ.net

Whole Foods Market แห่งสหรัฐอเมริกา ทำการวิเคราะห์แนวโน้มเทรนด์ตลาดอาหารเครื่องดื่มที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2024 จำนวน 10 ประเภท น่าสนใจอย่างมาก ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจการค้า ผู้บริโภครวมถึงอินฟลูทั้งหลายควรรู้

เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มมาแรงปี 2024 Whole Foods Market 
 
 
คณะกรรมการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดของ Whole Foods Market ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายจัดซื้อและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารรวมกว่า 50 คน ได้ออกมาแนะนำอาหารที่มีแนวโน้มจะมาแรงในปี 2024 ซึ่งหมายถึงว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น จะคอยจับตา สิ่งเหล่านี้ ในการจัดซื้อสินค้าใหม่เข้าร้าน โดยสรุป มีดังนี้
 
1. สินค้าอาหารจากพืช (Plant-based) ที่เน้นส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้น และมีส่วนผสมที่มีความซับซ้อนลดลง พืชให้โปรตีนที่กำลังมาแรง อาทิ เห็ด ถั่ววอลนัท เทมเป้ (ถั่วเหลืองหมัก) และถั่วจากฝักอื่นๆ นมจากพืชก็จะมาแรงด้วย โดยบางแบรนด์จะมีส่วนผสมแค่ 2 อย่างเท่านั้น
 
2. โกโก้ (Cacao) ทั้งหมด ทั้งผลผลิต ผลพลอยได้และของเหลือจะถูกพัฒนาเป็นสินค้าต่างๆ มากขึ้น

3. บักวีท (Buckwheat) เป็นที่รู้จักในฐานะพืชที่ใช้ปกป้องหน้าดิน และเป็นเมล็ดพืชที่อุดมด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไฟเบอร์ เชื่อว่าจะได้เห็นบักวีทมากขึ้น ทั้งในรูปแบบเส้นก๋วยเตี๋ยว นมจากพืช ขนมขบเคี้ยวและอาหารเช้าอื่นๆ
 
4. อาหารทะเลจากพืช จะเป็นโอกาสที่อาหารทะเลจากพืชได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยรสชาติและมวลเนื้อ (Texture) ที่เหมือนจริงขึ้นมาก โดยแครอทจะนำมาใช้แทนแซลมอนรมควัน เห็ดจะมาแทนหอยพัด (Scallop) และเส้นบุก (Konjac) จะถูกใช้ทำอาหารจานปลาดิบมากขึ้น
 
 
10 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มมาแรงปี 2024 HealthServ
5. การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน สินค้าทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะอาหาร จะเน้นประชาสัมพันธ์ถึงบทบาทของแบรนด์ในการอนุรักษ์น้ำ การนำน้ำจากการเกษตรที่ต้องทิ้งกลับมาใช้ การเกษตรที่ถนอมคุณค่าของดินและประหยัดน้ำ รวมถึงการฟื้นสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ และการป้องกันส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เหลือใช้ต่างๆ เข้าสู่เส้นทางน้ำตามธรรมชาติ
 
6. อาหารรสจัด การตอบรับรสชาติเผ็ดซึ่งเป็นของแปลกใหม่สำหรับคนอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มขยายตัวมากขึ้น บรรดาพริกชื่อดังจากทั่วสารทิศในรูปแบบต่างๆ ทั้ง พริกสด ทั้งเม็ด ป่นและดอง และยังมีคลื่นลูกใหม่อย่างซอสจิ้มแบบเผ็ด และพริกทอด แม้แต่เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของพริกก็จะไปไกลกว่าแค่ชาหมัก (Kombucha) น้ำพืชผักแบบสกัดเย็น (Cold-pressed) น้ำผักผลไม้คั้น หรือปั่น และยังมีแบบบรรจุกระป๋อง แม้แต่ซอส Tajin (ซอสเม็กซิกันมีส่วนผสมของพริก มะนาวและเกลือ) ก็ยังขยายออกจากหมวดของทานเล่นไปใช้กับปลาดิบ ของหวาน ฯลฯ

7. อาหารเส้น (บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ราเมน) แบรนด์ต่างๆ จะเพิ่มทางเลือกหลากหลายรสชาติพร้อมปรุงง่ายๆ ไว้รับประทานที่บ้านได้ง่ายๆ กันมากขึ้น
 
8. อาหารแบบหรูเล็กๆ ได้รับอิทธิพลมาจากการนำเสนอแบบ TikTok ที่นำสิ่งดีๆ น่าสนใจ น่าพอใจมาให้ชมกันแบบสั้นๆ แนวโน้มที่แบรนด์ต่างๆ จะทำตลาดกันก็จะออกมาแนวนี้ ด้วยการนำอาหารหรือเครื่องดื่มพิเศษๆ มาจำหน่ายสำหรับบริโภคคนเดียวเล็กๆ น้อยๆ
 
9. อาหารบำรุงสุขภาพตามวงจรชีวิตสตรี อาหารหรือเครื่องดื่มที่ตอบสนองความต้องการของสตรีโดยเฉพาะในแต่ละช่วงของวงจรการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาทิ ช่วงมีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงหลังคลอด ช่วงหมดประจำเดือน ตัวอย่างเช่น ขนมสำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือน แสดงในงานแสดงสินค้าอาหาร
 
10. เครื่องดื่มให้พลังงานที่บำรุงสุขภาพ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนยุคใหม่ จะไม่เพียงแค่กระตุ้นให้ตื่นเท่านั้น แนวโน้มเช่นนี้อาจเรียกว่า “คาเฟอีนสะอาด” ที่เน้นส่งเสริมสุขภาพและใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติแท้ๆ เครื่องดื่มให้พลังงานต่อไปนี้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย

 
 
บทวิเคราะห์:

Whole Foods Market คือเครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารจากธรรมชาติและจากการเกษตรอินทรีย์เป็นพิเศษ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Austin รัฐเทกซัส บริหารจัดการซุปเปอร์มาร์เก็ตกว่า 500 สาขาครอบคลุมทั่วสหรัฐฯ แคนาดาและสหราชอาณาจักร ขณะนี้ถือเป็นบริษัทในเครือของ Amazon ด้วยสถานะเช่นนี้ ก็น่าจะยืนยันได้ว่าการประเมินตลาดของ 50 ผู้เชี่ยวชาญและทีมงานฝ่ายจัดซื้อในคณะกรรมการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดของ Whole Foods Market มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อถือได้ ไม่มากก็น้อย และด้วยอำนาจกำลังซื้อของเครือข่ายเอง ก็ยังอาจเป็นได้ไม่ใช่เพียงผู้ประเมินเท่านั้น แต่ยังอาจถึงขั้นชี้นำตลาดได้ด้วยซ้ำ และจากแนวโน้มทั้ง 10 ดังกล่าวที่ทีมงานของ Whole Foods Market ประเมิน จะกลายไปเป็นรายการสั่งซื้อที่อย่างน้อยๆ ก็สำหรับเพื่อจำหน่ายภายในเครือข่ายของตนเองสำหรับปี 2024 ค่อนข้างจะแน่นอน เว้นเสียแต่ว่าจะมีกระแสตีกลับในบางสินค้าในโอกาสต่อไป





 
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ:

เมื่อพิจารณาดูคำทำนายดังกล่าว เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยทั้งที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหาร น่าจะพอเห็นโอกาสในการผลิตเพื่อสนองความต้องการตลาดได้กันบ้างแล้ว ขอยกมาเพียงบางสินค้าที่พอจะเห็นว่าเป็นโอกาสของไทยเราบ้างแล้ว ดังนี้
 
ข้อ 1 กับข้อ 4 คืออาหาร Plant-based และโดยเฉพาะประเภทของอาหารทะเล ผู้ผลิตไทยน่าจะเป็นรายต้นๆ ในโลกที่ให้ความสนใจทำการวิจัยและพัฒนา ปรุงแต่งอาหารจากพืชให้มีรสชาติและมวลเนื้อใกล้เคียงกับอาหารทะเลได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น เนื้อกุ้ง เนื้อปลา และเนื้อปลาหมึก และได้ข่าวว่าบางรายสามารถทำได้ถึงขั้นที่สินค้าสามารถวางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าได้ยาวนานมากขึ้นโดยไม่ต้องแช่เย็นหรือแช่แข็ง ซึ่งในปี 2024 เชื่อว่าน่าจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
 
ข้อ 6 ชัดเจนมาก ว่าอาหารไทยเป็นอาหารรสจัด ที่เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก รายการอาหารที่ผู้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกรู้จักกันดี ก็ล้วนแล้วแต่เป็นรายการที่มีรสจัดแทบทั้งสิ้น อาทิ ส้มตำ ต้มยำ ต้มข่า แกงไก่ ผัดกระเพรา ผัดขี้เมา ฯลฯ แม้หลายๆ ร้านในสหรัฐฯ จะปรุงให้รสเผ็ดเจือจางเพียงใด แต่อาหารไทย ก็มีเครื่องเทศอย่างอื่นที่ให้ความเข้มข้นอยู่ดี อีกทั้งการรักษาดุลของสามรสชาติหลัก หวาน เปรี้ยวและเค็มทำให้มีรสชาติจัดจ้านในตัวเองอยู่แล้วด้วย อีกทั้งอาหารตามร้านก็มักจะมีระดับความเผ็ดให้เลือก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำท้าทายผู้บริโภคถึงความพร้อมที่จะขยับเข้าใกล้รสชาติไทยแท้จริงได้ ในเรื่องนี้ เชื่อว่าหากใช้ความสร้างสรรค์บวกกับโอกาสเข้าร่วมแสดงสินค้าในรูปแบบ Gastronomy ระดับชาติในสหรัฐฯ ให้ผู้บริโภคและผู้ซื้อได้มีโอกาสลิ้มลองบ่อยขึ้น เชื่อว่าโอกาสมาถึงแล้ว และเชื่อมโยงถึงข้อ 7 ก็เชื่อว่ามีก๋วยเตี๋ยวและบะหมี่สำเร็จรูปหลายๆ แบรนด์ หลายๆ รสชาติ ของไทย รวมถึงโรงงานที่รับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของผู้ซื้อในสหรัฐฯ ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่ รวมถึงจะมีความหลากหลาย
 
ข้อ 8-10 นั้นขอรวบไว้รวมกันเลย เพราะคนไทยกันเองเราก็ต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาหารไทยนั้นมีพืชผักสมุนไพรสอดแทรกอยู่แทบทุกจาน ที่เรียกว่าสมุนไพรได้ ก็เพราะพืช ผัก ผลไม้ เครื่องปรุงและเครื่องเทศไทยแต่ละชนิด ก็ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณทางยาบางประการดังที่ผู้หลักผู้ใหญ่ ตำรายาพื้นบ้าน ตำรับยาหลวง ฯลฯ ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านและสังคมชั้นสูงในสมัยก่อน บันทึกไว้เป็นกิจจะลักษณะมากมาย มีทั้งรักษาและป้องกัน โรคลม โรคกษัย บำรุงครรภ์ ฯลฯ
 
อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนจะได้เปรียบอยู่บ้างแต่ก็ยังต้องทำการบ้านกันเพิ่มอยู่ดี อาทิ การเรียนรู้รสนิยมของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย กลยุทธในการหาช่องทางให้ผู้บริโภคและผู้ซื้อได้มีโอกาสทดลองชิม และทำความรู้จักมากขึ้นนั้นก็สำคัญยิ่ง นี่อาจเป็นโอกาสที่ดีของสมุนไพรไทยหลายๆ ตำรับ หากเทรนด์มาแล้ว แต่สินค้าไทยไม่มา เมื่อเทรนด์เริ่มร้างรา อยากจะมาก็อาจสายไป
 
 
 
ที่มา: Storebrands
เรื่อง: “Whole Foods IDs Top 2024 Food & Beverage Trends”
โดย: Greg Sleter
สคต. ไมอามี /วันที่ 20 ตุลาคม 2566

DITP 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด