อาการวูบหมดสติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น
- เกิดจากร่างกายสูญเสียน้ำ
- เกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย
- เกิดเมื่อมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง
- เกิดเมื่อตากแดดนาน ๆ หรือออกกำลังกายเยอะ ๆ ต่อเนื่องเกินไป
- เหตุจากการใช้ยา เช่น รับประทานยาลดความดัน หรือยาลดความอ้วน ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะก็สามารถทำให้เกิดอาการวูบหมดสติได้
อาการวูบจากปฏิกิริยาทางร่างกาย สามารถหายได้เองเมื่อพักผ่อน หรือปรับสภาพ
อาการวูบสัญญาณโรคร้าย
อาการวูบหมดสติบางลักษณะ อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคลมชัก
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ
- โรคหลอดเลือดสมองแตก
โรคเหล่านี้ จะมีสัญญาณเตือนก่อนมีอาการวูบเป็นลม เช่น อาการหวิว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ การเห็นภาพที่ผิดปกติไป เช่น เห็นเป็นแสงสีขาวหรือสีดำได้ นอกจากนี้ ยังมีอาการเหงื่อแตกชื้น สูญเสียอาการทรงตัว เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนตัวลงและล้มลงได้
สิ่งที่เป็นอันตรายที่ควรต้องระวัง คือ หลังจากผู้ป่วยตื่นขึ้นมาอาจมีอาการบาดเจ็บ เช่น ศีรษะกระแทกพื้น แต่ถ้าหากตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ชาหรืออ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการของหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตก ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้
อาการวูบไม่รู้ตัวเป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตรายมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานบนที่สูง หรือผู้ที่ต้องขับรถ หากมีอาการวูบบ่อย ๆ ควรต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงงานที่เสี่ยง สุขภาพดีเริ่มที่ตัวเราป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด
แนวปฎิบัติ เพื่อป้องกันการเกิดอาการวูบ คือ
1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ
2. ตรวจสุขภาพประจำปี
3. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
4. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
5. ดื่มน้ำต่อวันให้เพียงพอ
6. พักผ่อนให้เต็มที่
7. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
8. สังเกตสาเหตุของโรควูบ และปรึกษาแพทย์