ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.จับตา 5 จังหวัดผลกระทบน้ำท่วม กรมอนามัยเฝ้าระวังโรค-ป้องกันความเสี่ยง

สธ.จับตา 5 จังหวัดผลกระทบน้ำท่วม กรมอนามัยเฝ้าระวังโรค-ป้องกันความเสี่ยง Thumb HealthServ.net
สธ.จับตา 5 จังหวัดผลกระทบน้ำท่วม กรมอนามัยเฝ้าระวังโรค-ป้องกันความเสี่ยง ThumbMobile HealthServ.net

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย กรมอุตุนิยมวิทยาคาดไทยไม่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจากมรสุมพาดผ่าน เตือน 5 จังหวัดติดตามใกล้ชิด ทั้งกาฬสินธุ์จากเขื่อนเต็มความจุ อุบลราชธานี พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ที่ต้องรับน้ำ ย้ำเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม

สธ.จับตา 5 จังหวัดผลกระทบน้ำท่วม กรมอนามัยเฝ้าระวังโรค-ป้องกันความเสี่ยง HealthServ
 
          6 ตุลาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” โดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า จะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 6-8 ตุลาคม 2566 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคกลาง ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคกลาง จึงยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่มอย่างต่อเนื่อง

          ภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน - 6 ตุลาคม 2566 มีสถานการณ์สะสม 30 จังหวัด ผู้เสียชีวิตสะสม 16 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด 5 ลุ่มแม่น้ำ แต่แนวโน้มลดลงทั้งหมด ได้แก่ ตาก ลุ่มน้ำปิง, กาฬสินธุ์ ลุ่มน้ำชี, อุบลราชธานี ลุ่มน้ำมูล, สมุทรปราการ ลุ่มน้ำบางปะกง และนครปฐม ลุ่มน้ำท่าจีน โดยขณะนี้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ระดับจังหวัด ตามข้อสั่งการของกระทรวงสาธารณสุข 3 จังหวัด คือ ลำปาง อุบลราชธานี และสุโขทัย 
 
 
          นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 15 แห่ง ได้แก่ ลำปาง 4 แห่ง, ร้อยเอ็ด 3 แห่ง, นครนายก 2 แห่ง, ตราด แม่ฮ่องสอน ระนอง เชียงราย กาฬสินธุ์ และแพร่ จังหวัดละ 1 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 12 แห่ง ขณะนี้เปิดให้บริการได้ตามปกติแล้ว 14 แห่ง เหลือปิดให้บริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนยานาง จ.กาฬสินธุ์


          ส่วนการดูแลประชาชน ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ SRRT 43 ทีม หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ/ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (CDCU/JIT) 16 ทีม และทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) 16 ทีม ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา และกาฬสินธุ์ ให้บริการเยี่ยมบ้าน 3,069 ครั้ง รับยา 3,233 ราย ให้บริการตรวจรักษา 1,208 ราย ให้ความรู้สุขศึกษา 4,167 ราย ผลการตรวจสุขภาพจิตส่วนใหญ่ปกติ มีความเครียด 156 ราย ขณะที่ส่วนกลางสนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ รวม 4,900 ชุด ได้แก่ พิษณุโลก 400 ชุด อุบลราชธานี 1,500 ชุด อุดรธานี 1,500 ชุด นครพนม ชุมพร และสตูล จังหวัดละ 500 ชุด
 
          “จากการคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย มีจังหวัดที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ 1.กาฬสินธุ์ จากเขื่อนเต็มความจุ 2.อุบลราชธานี จากการรับน้ำมูลและชี และ 3.พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ที่รับน้ำจากสุโขทัย ทังนี้ ขอให้ทุกจังหวัดที่มีสถานการณ์ติดตามเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มาจากน้ำท่วม ซึ่งจากการตรวจรักษาพบว่า เป็นโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด 2,416 ราย โรคระบบผิวหนัง เช่น ผื่นคัน แพ้ 610 ราย และโรคระบบทางเดินหายใจ 430 ราย เป็นต้น รวมทั้งให้ปรับรูปแบบการจัดบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอย่างสะดวก และให้การดูแลสุขภาพกายและจิตใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง” นพ.ชลน่านกล่าว
 
 
 
 
 
 
 
 
 

เตรียมแผนรองรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 3 ลุ่มน้ำ

 
          นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนรองรับสถานการณ์ พร้อมเฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม ภายหลังการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจ.นนทบุรี  เพื่อติดตามสถานการณ์กรณี อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยทั้งบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง ภาคตะวันออกและภาคกลางบางจังหวัด 
 
         โดยปัจจุบันยังมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ จาก 22 ลุ่มน้ำ จำนวน 4 จังหวัด คือ ตาก กาฬสินธุ์ ยโสธร และ อุบลราชธานี โดยมีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 15 แห่ง สามารถให้บริการได้ตามปกติ 14 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง ที่ รพ.สต.บ้านดอนยานาง จ.กาฬสินธุ์

          ทั้งนี้ ทางสำนักปลัดฯ ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้

          1.จังหวัดที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่รับน้ำ ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อติดตามสถานการณ์ ประเมินผลกระทบ และรายงานสถานการณ์มายังส่วนกลาง

          2.กรณีเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์รายงานเหตุการณ์สำคัญและฉุกเฉิน (Critical Information Requirements: DCIRs) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานมายังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน

          3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ผลกระทบจาก “พายุใต้ฝุ่นโคอินุ” ระหว่างวันที่ 3-10 ตุลาคม 2566  และ

          4.มอบกรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังได้ย้ำให้หน่วยบริการในพื้นที่ปรับรูปแบบการให้บริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ อาทิ ระบบ Tele Medicine การจัดจุดบริการเป็นต้น รวมทั้งสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเส้นทางการเข้ารับบริการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน


 
          นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานส่วนกลาง ได้เตรียมพร้อมสนับสนุนทรัพยากร เวชภัณฑ์ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบผ่านทางสำนักงานเขตสุขภาพ โดยสำรองยาชุดฯ และ ยาน้ำกัดเท้า ไว้ประมาณ 70,000 ชุด และองค์การเภสัชกรรมยังมีวัตถุดิบที่สามารถผลิตเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 100,000 ชุด ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์ จากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ว่าทุกแห่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และยังคงให้ทุกหน่วยบริการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
 
 
 

กรมอนามัย เฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยง

 
           นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายจังหวัดเนื่องจากประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากทุกภาคโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และมีฝนตกปานกลางในภาคกลาง และภาคใต้ ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง ซึ่งมีประชาชนบางส่วนเร่งอพยพไปยังที่ปลอดภัยแล้ว ส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์ รับฟังการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กรมอนามัยขอให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยของตนเองและคนในครอบครัวโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางหลีกเลี่ยงการลุยน้ำสกปรกที่อาจเกิดการติดเชื้อที่เท้า แต่หากจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูทกันน้ำ เมื่อขึ้นจากน้ำให้ทำความสะอาดบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งทันที และหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ นอกจากนี้ ขอให้เตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในช่วงประสบภัย รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอเพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ และโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ส้วม กรณีที่มีอาหารแจกจ่ายมาในพื้นที่ที่ประสบภัยให้สังเกตลักษณะ สี กลิ่นของอาหารต้องไม่มีกลิ่นเน่าเสียหรือผิดปกติ หากพบความผิดปกติหลีกเลี่ยงการรับประทานทันที
 
             “ทั้งนี้ กรมอนามัยได้มอบหมายให้ทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ ร่วมประเมินความเสี่ยง และสนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้งในชุมชนประสบภัยน้ำท่วม และพื้นที่ศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราว เช่น การจัดการมูลฝอย ส้วมสะอาด การกำจัดสิ่งปฏิกูล การสุขาภิบาลอาหารและน้ำบริโภค ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดเชื้ออื่นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงภาวะวิกฤติน้ำท่วมและเร่งสื่อสาร สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำการในการมีพฤติกรรมอนามัยที่ดี ดูแลสุขภาพ และป้องกันความเสี่ยงที่มาจากภัยน้ำท่วมของตนเองและคนในครอบครัวที่ประสบภัยต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด