โรคอุจจาระร่วง หรือ โรคท้องร่วง หรือท้องเสียเฉียบพลัน (diarrhea) เป็นอาการอุจจาระเหลวและเป็นน้ำที่เป็นบ่อยกว่าปกติ รวมถึงปวดท้อง นิยามของท้องเสียโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คือ การถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมงหรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมง โดยทั่วไปอาการท้องเสียจะเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร มีเชื้อไวรัส หรือเกิดจากอาหารปนเปื้อนมีสารพิษ ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ การติดเชื้อในบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจ และไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยเกิดอาการขาดน้ำ สูญเสียเกลือแร่ สารน้ำ มีไข้สูง และช็อค ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ ผู้ป่วยบางกลุ่มควรต้องรีบพบแพทย์ เช่น ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเยอะ หรืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากการท่องเที่ยวในต่างประเทศ หรือผู้ป่วยเด็กเล็ก
"จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 มิ.ย. 2565 พบผู้ป่วยแล้ว 217,669 ราย เสียชีวิต 2 ราย สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานเหตุการณ์โรคอุจจาระร่วงเป็นกลุ่มก้อนจำนวน 2 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์การระบาดในเรือนจำแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง พบผู้ป่วย จำนวน 196 ราย ผลตรวจพบเชื้อ Entamoeba histolytica และเหตุการณ์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี พบผู้ป่วย จำนวน 15 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุมากกว่า 65 ปี (15.18%) รองลงมา อายุ 25-34 ปี (13.89%) และอายุ 15-24 ปี (12.43%) จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อํานาจเจริญ มุกดาหาร เชียงราย ระนอง และภูเก็ต ตามลำดับ"
คาดมีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
กรมควบคุมโรค คาดว่ามีโอกาสพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในระยะนี้ประเทศไทยมีอากาศร้อนสลับกับมีฝนตก อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารที่ทิ้งค้างไว้ข้ามวัน การปรุงประกอบอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งอันตรายที่สำคัญของโรคนี้ คือ การเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ อาจทำให้ช็อก หมดสติ และภาวะขาดสารอาหาร กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสได้รับเชื้อสูงคือ กลุ่มนักเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ค่าย หรือเรือนจำ อาจเกิดการระบาดใหญ่เป็นกลุ่มก้อนจากการจัดเลี้ยงอาหารในคนหมู่มากได้ และโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้สูงอายุหากเกิดโรคแทรกซ้อนจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วง ขอให้ประชาชนยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" กล่าวคือ
- โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน
- ไม่รับประทานอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ
- ดื่มน้ำสะอาดที่ได้รับมาตรฐาน หากเป็นน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุงควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน และเครื่องหมาย อย.
- สำหรับอาหารค้างมื้อควรอุ่นร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหารและภายหลังขับถ่าย
ทั้งนี้ หากอาการอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้น มีอาการถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ มีไข้สูง ถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422