วีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส O-X
การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส O – X เพื่อการพำนักในราชอาณาจักรระยะยาว 10 ปี
(Non – Immigrant Visa “O – X” หรือ Long Stay Visa 10 years)
การตรวจลงตราประเภทนี้จะออกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการพักผ่อนระยะยาว ทั้งนี้ ผู้ได้รับการตรวจลงตราจะสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้สูงสุด 10 ปี และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลายครั้ง
การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “O-X” นี้ เป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นกรณีเดียวที่ผู้ร้องสามารถขอรับการตรวจลงตราได้ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ในการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว สาหรับคนต่างด้าวที่มีศักยภาพ จำนวน 14 ประเทศที่มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพื่อเดินทางเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรระยะยาวรวมจำนวน 10 ปี โดยมีอายุการตรวจลงตราครั้งละ 5 ปี และได้รับอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักร คราวละ 5 ปี ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราครั้งละ 10,000 บาท
อายุวีซ่า
5 ปี (Multiple Entries)
ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร
5 ปี นับตั้งแต่เดินทางเข้าครั้งแรก (และสามารถขอขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรออกไปได้อีก 5 ปี) รวมพำนักได้ 10 ปี
ค่าธรรมเนียม
350 ยูโร (เงินสด)
1) คุณสมบัติของผู้ขอวีซ่า รหัส O-X
1.1 มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
1.2 มีสัญชาติและถือหนังสือเดินทางของ 14 ประเทศ ดังนี้
(1) ญี่ปุ่น
(2) ออสเตรเลีย
(3) เดนมาร์ก
(4) ฟินแลนด์
(5) ฝรั่งเศส
(6) เยอรมนี
(7) อิตาลี
(8) เนเธอร์แลนด์
(9) นอร์เวย์
(10) สวีเดน
(11) สวิตเซอร์แลนด์
(12) สหราชอาณาจักร
(13) แคนาดา
(14) สหรัฐอเมริกา
1.3 มีเงินฝากในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือ มีเงินฝากในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทและมีรายได้ประจำปีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท โดยภายใน 1 ปี จะต้องมีเงินฝากประจำในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
ให้คงเงินในหัวข้อ 1.3 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เมื่อครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถอนเงินนั้นได้ทั้งนี้ จะต้องมีเงินฝากเหลือในบัญชีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งการถอนเงินฝากจะถอนได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ซื้อคอนโดมิเนียม ซื้อยานพาหนะและการศึกษาของบุตร ในประเทศไทยเท่านั้น
1.4 ไม่มีประวัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งต่อประเทศไทยและประเทศที่ตนมีสัญชาติ หรือประเทศที่ตนมีถิ่นพำนักถาวร
1.5 ไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้าง โรคยาเสพติดให้โรค และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
1.6 มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร โดยมีจำนวนเงินประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่าสี่หมื่นบาท และกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่าสี่แสนบาท
2) เอกสารประกอบคำร้อง
2.1 หนังสือเดินทางที่มีอายุใช้ได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2.2 แบบฟอร์มการขอรับการตรวจลงตรา (พร้อมรูปถ่ายขนาด 4 x 6 ซม. หน้าตรง ไม่สวมหมวก ถ่ายภาพในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน) จำนวน 3 ชุด
3. แบบฟอร์มประวัติส่วนตัว จำนวน 1 ชุด
4. หลักฐานด้านการเงิน
4.1 หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารพร้อมระบุข้อมูลสำหรับติดต่อธนาคาร สำเนาสมุดบัญชีคู่ฝาก และเอกสารใบแจ้งรายการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement) ซึ่งแสดงเงินฝากประจำ จำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือ
4.2 หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารพร้อมระบุข้อมูลสำหรับติดต่อธนาคาร สำเนาสมุดบัญชีคู่ฝาก และเอกสารใบแจ้งรายการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement) ซึ่งแสดงเงินฝากประจำ จำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาท ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และมีเอกสารแสดงเงินรายได้ประจำต่อปีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท
5. เอกสารหรือหลักฐานรับรองความประพฤติ หรือหนังสือรับรองประวัติอาชญากรรมจากประเทศที่คนต่างด้าวถือสัญชาติ และหากคนต่างด้าวมีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในประเทศอื่น ต้องมีเอกสารดังกล่าวจากประเทศที่คนต่างด้าวมีถิ่นพำนักถาวรด้วย
6. ใบรับรองแพทย์จากประเทศที่ยื่นคำร้อง ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2535 ได้แก่ โรคเรื้อน (Leprosy) วัณโรคในระยะอันตราย (Tuberculosis) โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) โรคยาเสพติดให้โทษ (drug addiction) และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 (third phase of Syphilis) ทั้งนี้ ใบรับรองต้องมีอายุไม่เกิน 3 เดือน
7. สำเนาหลักฐานการมีประกันภัย (ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด) และกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทย โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่าพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และในกรณีผู้ป่วยใน ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท
8. ค่าธรรมเนียม 10,000 บาท
*** คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “O-X” เพื่อติดตามเข้ามาพำนักระยะยาวได้
9. คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่จำกัดอายุ) ให้ผู้ร้องแสดงหลักฐานทะเบียนสมรสประกอบคำร้อง ของทั้งผู้ร้องและคู่สมรส และต้องเตรียมเอกสารตามข้อ 1 -8
10. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ ให้ผู้ร้องแสดงสำเนาสูติบัตรหรือเอกสารรับรองความเป็นบุตร และต้องเตรียมเอกสารตามข้อ 1 -3, 7 และ 8
*************
วีซ่าประเภทท่องเที่ยว รหัส MT
วีซ่าประเภทท่องเที่ยว รหัส MT หรือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส O - MT (Tourist MT and Non-Immigrant O - MT) เป็นวีซ่าที่ออกให้กับผู้มีคุณสมบัติ ดังนี้
- การตรวจลงตราประเภทนี้ออกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล
- สำหรับการรักษาระยะสั้น ผู้ยืนคำร้องสามารถขอวีซ่าประเภท Tourist รหัส MT ซึ่งเข้าประเทศไทยได้ 1 ครั้ง และพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 60 วัน
- สำหรับการรักษาระยะยาว ผู้ยืนคำร้องสามารถขอวีซ่าประเภท Non-Immigrant O รหัส MT ซึ่งเข้าประเทศไทยได้ 1 ครั้ง และพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 90 วัน
อายุวีซ่า
3 เดือน (Single Entry)
ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร
Tourist MT : 60 วัน ต่อครั้ง
Non-Immigrant O - MT : 90 วัน ต่อครั้ง
ค่าธรรมเนียม
Tourist MT : 35 ยูโร (เงินสด)
Non-Immigrant O - MT : 70 ยูโร (เงินสด)
เอกสารประกอบการพิจารณา
- หนังสือเดินทางตัวจริง มีอายุใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดินทางเข้าประเทศ และมีหน้าสำหรับประทับตรวจลงตราไม่น้อยกว่า 2 หน้า
- สำเนาหน้าแรกของหนังสือเดินทาง 1 ฉบับ
- แบบฟอร์มขอวีซ่าที่กรอกข้อความสมบูรณ์ (ดาวน์โหลด) 1 ฉบับ ทั้งนี้ ขอให้ระบุที่อยู่อย่างชัดเจน (มีข้อมูลบ้านเลขที่ ชื่อถนน รหัสไปรษณีย์ และเมือง) นอกจากนี้ ต้องมีข้อมูลบุคคลที่สามารถติดต่อได้ในสหพันธ์ฯ ด้วย
- รูปถ่ายแบบไบโอเมตริก ขนาด 3.5 x 4.5 ซม. จำนวน 1 รูป (ถ่ายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน) และติดรูปถ่ายบนแบบฟอร์มขอวีซ่าให้เรียบร้อย
- สำเนาหลักฐานที่แสดงการเดินทางไปประเทศไทย เช่น บัตรโดยสารเครื่องบิน 1 ฉบับ
- หนังสือจากโรงพยาบาล ยันยันการเข้ารับการรักษา โดยระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระยะเวลาในการรักษา
เอกสารสำหรับ COE
สำเนาหนังสือรับรอง Confirmatin Letter (แบบฟอร์ม “DHSS/AHQ 1”) ซึ่งโรงพยาบาลที่เป็นสถานที่กักตัว (Alternative Hospital Quarantine / AHQ) กรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว และมีตราประทับรับรองจากกรมบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
→ หากผู้ป่วยมีผู้ติดตาม ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
แบบฟอร์ม DHSS/ AHQ 2 ที่กรอกโดยผู้ป่วย และประทับตราโดยกระทรวงสาธารณสุข
ผู้ร่วมเดินทางทุกคนต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าต่างหาก
(กรุณาประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่อขอรับแบบฟอร์มข้างต้น)
• สำหรับผู้ยื่นคำร้องสัญชาติอื่น (ไม่ใช่สัญชาติเยอรมัน) จะต้องยื่นเอกสารต่อไปนี้เพิ่มเติม: สำเนาใบแสดงที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung) หรือสำเนาบัตรอนุญาตให้พำนักอาศัยในเยอรมัน (Aufenthaltstitel)
อ้างอิง
- กระทรวงต่างประเทศ mfa
- สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก