มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ แพทย์สามารถตรวจหา “ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก” ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ซึ่งวิธีการที่ใช้ตรวจหาระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกเรียกว่า การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) โดยการ เก็บเอาเซลเยื่อบุบริเวณปากมดลูกไปตรวจหาเซลมะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 20 ปี) และมีคู่นอนหลายคน
- มีการอักเสบของปากมดลูกเนื่องจากการติดเชื้อ Human Papilloma Virus เริม หูดหงอนไก่
- สตรีที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
- สตรีที่มีภูมิต้านทานต่ำ
- ขาดสารอาหาร เช่น โฟเลท วิตามินเอ วิตามินซี
อาการ
ระยะเริ่มต้นจะไม่ปรากฎอาการใดๆ แต่สามารถตรวจพบมะเร็งปากมดลูกได้จากการตรวจ แปปสเมียร์ (Pap Smear) ระยะลุกลาม จะมีอาการตกขาว มีกลิ่น มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือตกขาว ลักษณะคล้ายน้ำคาวปลา ถ้าเป็นมากอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายอุจจาระได้นอกจากนี้ มะเร็งอาจกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ปอด ตับ และกระดูก เป็นต้น
การรักษา
ถ้าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะแรกๆ การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี แต่ถ้าเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว จะใช้รังสีรักษาโดยการฉายแสงร่วมกับการใส่แร่หรือการผสมผสานระหว่างการผ่าตัด รังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด
การป้องกัน
- มีเพศสัมพันธ์เมื่อถึงวัยอันควร คืออายุ 20 ปีขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าไม่แน่ใจควรใช้ถุงยางอนามัย
- เมื่อมีอาการตกขาวผิดปกติ หรือเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ควรรีบไปพบแพทย์
- สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคน ควรได้รับการตรวจ Pap Smear เพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สูติ-นรีเวช รพ.วิภาวดี โทร.0-2561-1111 กด 1