เนื้อหาของประกาศ สรุปสาระสำคัญดังนี้
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565
พิจารณาเห็นว่า กัญชา เป็นสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่จำเป็นต้องมีการจำกัด ควบคุมการใช้ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามประสงค์และเจตนารมย์ที่ดีงาม ร่วมกัน ไม่ก่อให้เกิดภัย ความเสี่ยง เป็นอันตรายต่อบุคคล เด็ก เยาวชน ผู้ไม่พร้อม ฯลฯ ได้
1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม
2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้
ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้
(1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ
(2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
(3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้
กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่
ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน
5. มีผลตั้งแต่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565
***********
เหตุผลของการประกาศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุผลของการมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ เนื่องจากต้องการให้กัญชาสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ใช้ได้อย่างเข้าใจ ไม่ถูกใช้ในทางที่จะเกิดผลเสียต่อเด็กและเยาวชน หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ตามที่มีการเรียกร้องจากสังคม
อันจะทำให้ประชาชนทั้งประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 20ปี ขึ้นไปทุกคน สามารถได้รับอนุญาตให้ครอบครอง ดูแลเก็บรักษา ขนย้าย ใช้ประโยชน์และจำหน่ายได้ และไม่กระทบกับผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือสตรีมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรที่มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาจากกัญชาทางการแพทย์ โดยแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีนหรือหมอพื้นบ้าน และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกัญชาของประเทศไทย ถือเป็นสมุนไพรควบคุมที่ต้องได้รับการคุ้มครองให้มีคุณค่า ไม่ให้เกิดความเสียหายกับชื่อเสียงของกัญชาที่เคยถูกจองจำไว้ในอดีต โดยการไม่อนุญาตให้ประชาชนสูบกัญชาในที่สาธารณะ ไม่อนุญาตให้จำหน่ายแก่เด็ก สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร
ประกาศนี้ไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ และสามารถมีผลบังคับใช้ทางอาญา หากกระทำผิดตามประกาศฉบับนี้ ต้องรับโทษ ตามกฎหมาย
สำหรับการใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย สามารถใช้ได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายฉบับนี้
หากใครที่ใช้กัญชาที่ขัดกับประกาศฉบับนี้ จะมีโทษ ทางอาญา ซึ่งขัดต่อ มาตรา 46 ที่บัญญัติห้ามไว้แล้ว ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาต โทษทางอาญา เป็นไปตาม มาตรา 82 มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งประกาศฉบับนี้ จะสามารถนำไปอ้างอิงกับต่างประเทศได้ ว่าเรามีการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับพืชที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท [
เพจ อนุทิน ชาญวีรกูล]
ชี้แจงแนวทางการควบคุม กำกับ การใช้กัญชาอย่างเหมาะสม
16 มิถุนายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการควบคุม กำกับ การใช้กัญชาอย่างเหมาะสม และปลอดภัยต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาคมผู้ประกอบกิจการอาหาร ร่วมประชุม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ สร้างเศรษฐกิจ สร้างสุขภาพ และพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เข้มแข็ง หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเริ่มมีการจัดอบรม ทำการศึกษา วิจัย การใช้ส่วนประกอบของพืช และสารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งผลักดันให้การใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริมเศรษฐกิจทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ปลดล็อคกัญชา กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ คงเหลือการควบคุมสารสกัดที่มี THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และสารสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ จนประกาศนี้มีผลให้บังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากกัญชามีทั้งประโยชน์ และข้อควรระวังในการนำมาใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก และเยาวชน ซึ่งเราสามารถช่วยกันให้ความรู้ ดูแล และป้องกันการนำมาใช้ในทางไม่พึงประสงค์ได้ โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่และเครือข่ายทางสังคม เพราะประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปลดล็อคกัญชาจากการเป็นยาเสพติด มีทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การแพทย์ การดูแลรักษาตัวเองของประชาชน ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ.... อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแล้วว่ากฎหมายที่มีอยู่ เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองประชาชนด้านสุขลักษณะ และการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่หรือกิจการร้านค้าใด ๆ ที่ระบุไว้ตามกฎหมายนี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 โดยได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ วันที่ 15 มิถุนายน 2565 และปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการสาธารณสุข ได้ออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นคำแนะนำสำหรับเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการใช้อำนาจตามกฎหมายสาธารณสุข และกรมอนามัย โดยอธิบดีกรมอนามัย ได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นนี้ จะเป็นเครื่องมือให้กับเจ้าพนักงานตามกฎหมายสาธารณสุข ทั้งคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดจากการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม
“ทั้งนี้ กฎหมายและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่ออกมานี้ สามารถนำมาเป็นเครื่องมือป้องกันการนำกัญชาไปใช้ในทาง ที่ไม่เหมาะสมได้ โดยต้องใช้บนฐานความเข้าใจ และให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ที่คำนึงถึงเสรีภาพควบคู่กับการรักษาสิทธิของประชาชน การใช้สิทธิของคนหนึ่งก็ต้องไม่กระทบสิทธิของคนอื่น ๆ หรือไม่กระทบประโยชน์สาธารณะด้วย ความท้าทายของเรื่องนี้ คือ การหาสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กัญชา และการป้องกันการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ สร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมวางระบบกำกับ ติดตาม และการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมมือกันนำมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ไปดำเนินการป้องกันผลกระทบจากการใช้กัญชา และเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการใช้กัญชาที่ถูกต้อง เหมาะสม ให้กับประชาชนต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่สุด