ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ป่วยโควิดเพิ่มหลังสงกรานต์ ตามคาด หมอธีระเตือนเลี่ยงโรงพยาบาลช่วงนี้

ป่วยโควิดเพิ่มหลังสงกรานต์ ตามคาด หมอธีระเตือนเลี่ยงโรงพยาบาลช่วงนี้ Thumb HealthServ.net
ป่วยโควิดเพิ่มหลังสงกรานต์ ตามคาด หมอธีระเตือนเลี่ยงโรงพยาบาลช่วงนี้ ThumbMobile HealthServ.net

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะกลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

 
       21 เมษายน 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่านายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ของโรคโควิด 19 เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปัจจุบันโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พรบ.โรคติดต่อ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้สั่งการทุกจังหวัดประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม กำชับทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

       ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 14 – 20 เมษายน 2567) พบผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,004 ราย เฉลี่ย 143 รายต่อวัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ โดยพบผู้ป่วยมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง (608)
 
       คาดสาเหตุที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการเหมือนไข้หวัด ทำให้ไม่ระวัง ป้องกันตนเองส่งผลให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ายังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก โดยยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา
 

 
 

โควิด เป็นโรคประจำถิ่น

 
       นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคโควิด 19 ขณะนี้มีลักษณะเหมือนโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่จะมีจำนวนมากหรือน้อยแล้วแต่ช่วงเวลา ขณะนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด ทั้งนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคคลากร เตียงรองรับผู้ป่วยเวชภัณฑ์ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี
 
       ประชาชนทั่วไปควรเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล และส่งเสริมให้มีการสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัดที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และจำเป็นต้องล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรทำการตรวจ ATK ที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการหายใจลำบาก หรืออื่นๆ
 
       สำหรับกลุ่ม 608 หากมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสายด่วนของกรมควบคุมโรคได้ที่ 1422
 
 
 




หมอธีระเตือนเลี่ยงมาโรงพยาบาล


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567  เป็นการเตือนประชาชน ให้เลี่ยงการมาโรงพยาบาลในระยะนี้ เหตุเพราะการระบาดของโควิด ในช่วงนี้  เนื้อหาข้อความว่า  


"ช่วงนี้หากไม่จำเป็น ควรเลี่ยงไปรพ. เลื่อนได้ควรเลื่อน หรือเทเลเอา

ถ้าจำเป็นต้องไป ควรป้องกันตัว ใส่หน้ากาก ล้างมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ เลี่ยงที่แออัด/ใช้เวลาสั้นๆ และสังเกตรอบตัว อยู่ห่างจากคนไอจาม

โรงอาหารถ้าเห็นคนแน่น ควรซื้ออาหารกล่องแยกไปนั่งกินที่ที่ไม่แออัด รีบกินรีบเลิก
ติดโควิดกันเยอะมากกกกกกนะครับ 

ไม่ใช่แค่ประชาชน ญาติ และผู้ป่วย แต่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนเองก็ต้องระวังมากๆ ครับ ทั้งแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และออฟฟิศด้วย

ปีก่อนพุ่งกว่า 2 เท่าจากก่อนสงกรานต์ถึงหลังสงกรานต์ แต่พุ่งต่อเนื่องไปถึง 18 เท่าช่วงต้นมิ.ย.
 
ดังนั้นอย่าประมาท... "



สาเหตุการระบาดหลังสงกรานต์


นพ.ธีระ ได้อธิบายว่า เทศกาลสงกรานต์ เป็นเหตุหลักของการระบาดโควิด ช่วงนี้ ติดกันมากแบบ massive transmission ดังนี้


"หากเราเข้าใจธรรมชาติของโรค เราจะไม่แปลกใจว่าเหตุใดสึนามิโควิด-19 จึงกำลังถาโถมมาที่ไทยขณะนี้

ความแออัด คลุกคลีใกล้ชิด สาดน้ำ ประแป้ง จับเนื้อตัวกัน การตะโกน เฮฮา ร้องเพลง การอยู่ในที่ระบายอากาศไม่ดีเป็นเวลานาน การโดยสารขนส่งสาธารณะที่มีคนจำนวนมาก รถยนต์ รถตู้ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน

ทุกสิ่งข้างต้นเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ป้องกันได้ หากฝึกนิสัยปฏิบัติที่ถูกต้อง ใส่หน้ากาก ล้างมือหลังจับต้องสิ่งของ ประเมินความเสี่ยงของแต่ละกิจกรรมที่จะทำ และปรับแผนเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงคอยสังเกตรอบตัว เลี่ยงไปใกล้ชิดคนมีอาการไข้ ไอ จาม คัดจมูก เจ็บคอ
 
รวมถึงการติดตามสถานการณ์ รู้เท่าทัน ไม่แกล้งหลับตาทำเสมือนว่าโรคระบาดหมดไป ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่เลย
ติดแต่ละครั้งเสี่ยงป่วย รุนแรง ตาย และมีผลแทรกซ้อน รวมถึงอาการผิดปกติระยะยาวได้"
 


 

การดูแลตนเอง 


นพ.ธีระ  ชี้ว่า การระบาดจะมีมากขึ้น ทั้งเดี่ยว ทั้งกลุ่ม ทั้งแบบยกครอบครัว และในออฟฟิศ   โดยมีลักษณะอาการ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก คัดจมูก ปวดหัวตัวร้อน ปวดกล้ามเนื้อ

"อาการเหล่านี้ pre-test probability สูงมากที่จะเป็นโควิด-19"


และแนะแนวทางการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม 
 
  • ตรวจ atk แยงจมูก และป้ายคอหอย จะช่วยเพิ่มโอกาสตรวจพบมากกว่าแยงจมูกอย่างเดียว
  • หากตรวจเป็นลบ อย่าเพิ่งวางใจ ให้ตรวจซ้ำไปจนถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มป่วย เพราะไวรัสจะพีคช่วงนั้น
  • ป่วย ติดเชื้อ ต้องแยกตัว พักรักษาตัว
  • แยกตัวควรนาน 7-10 วัน จนไม่มีอาการ และตรวจได้ผลลบ
  • การใส่หน้ากากป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนั้นสำคัญมากสำหรับคนทั่วไป เลี่ยงคลุกคลีคนมีอาการไอจามคัดจมูก



นพ.ธีระ  ย้ำ 
 
"ยืนยันอีกครั้งว่า การป้องกันตัวสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในตอนนี้ 
และจะลดความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อลงได้ 

ขอให้รู้เท่าทันสถานการณ์ และใช้ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตนเองและคนใกล้ชิด ใส่ใจสุขภาพ

คนสูงอายุ คนติดเตียง คนมีโรคประจำตัว ควรได้รับการดูแลป้องกันให้ดี "
 


 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด