นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “โรคพิษสุนัขบ้า” เป็นโรคที่มีการระบาดได้ตลอดปี ซึ่งสาเหตุของการติดโรคพิษสุนัขบ้าที่พบบ่อย คือ การถูกสุนัข-แมวกัด เลีย ข่วน หรือน้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อกระเด็นเข้าบาดแผล และเมื่อได้รับเชื้อแล้วหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มีอันตรายถึงชีวิตได้
ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในปัจจุบัน พบว่าเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหลายพื้นที่ยังดำเนินการได้ไม่ถึงร้อยละ 80 ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด
- ปัญหาการปล่อยทิ้งสุนัข-แมวในที่สาธารณะ
- ประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
ดังนั้น แนวทางที่เป็นหัวใจสำคัญของการกำจัดโรค หลักๆ คือ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรสัตว์ และการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ความรู้ให้กับประชาชน
ปัจจุบันประเทศไทย มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่สำคัญและเป็นหลัก คือ
โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นแผนระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564 - 2568) ด้วยมุ่งหวังและเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยต่อไป ภายในปี 2568 ทั้งนี้ การดำเนินงานจะมีงบประมาณจัดสรร แต่ละปีไป
ผนึก อสม.ทั่วประเทศ ลงพื้นที่รณรงค์
สำหรับโครงการสัตว์ปลอดโรคฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรม สบส. ได้ประสานความร่วมมือจากประธานชมรม อสม.ทั่วประเทศ นำทีมอสม. ลงพื้นที่ชุมชนร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ขับเคลื่อนกิจกรรม ต่างๆ ได้แก่
- ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- สำรวจและขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ผ่าตัดทำหมัน
- ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า
- เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า
- ติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสโรคให้เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ตามกำหนดนัด
- การส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขและแมวอย่างถูกวิธี
- ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขและแมวอย่างถูกวิธี นำสัตว์เลี้ยงไปขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี
- กรณีพบสัตว์เสียชีวิต แจ้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคต่อไป
กรอบดำเนินการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม 2567 ตั้งเป้าให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 ของประชากรสัตว์ที่สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ศูนย์บัญชาการเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า LINK
ศูนย์บัญชาการเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า เป็นหน่วยกลางที่เก็บรวบรวมข้อมูลสำรวจประชากรสุนัขและแมว จากทั่วประเทศ โดยหน่วยงานปกครองท้องถิ่นได้รายงานเข้าระบบออนไลน์
Rabies One Data เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 ข้อมูลที่น่าสนใจติดตาม อาทิ ข้อมูลสำรวจประชากรสุนัขและแมว ทั้งประเทศและรายจังหวัด ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน
หรือ ดาวน์โหลดข้อมูลสัตว์ที่สำรวจได้จำแนกรายจังหวัด ประเภทและปีได้ (ไฟล์ pdf)
การรายงานสำรวจ จะทำปีละ 2 รอบ รอบแรกช่วงเดือน มิถุนายน และรอบสอง เดือนธันวาคม ของทุกปี