ก๊าซแอมโมเนีย เป็นก๊าซพิษและมีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อสูดหายใจเอาก๊าซเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการระคายเคืองคอ จมูก หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หากสัมผัสผิวหนังและดวงตา ทำให้มีอาการแสบผิว เป็นผื่นแดง แสบตา ตาอักเสบ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ประสานงานการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม. ในพื้นที่ เพื่อให้มีการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน พร้อมกำหนดให้มีกลไกการติดตาม เฝ้าระวังความเสี่ยงในชุมชนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลการประเมินความเสี่ยงของหน่วยงานการสาธารณสุขที่พบประชาชนมีอาการแน่นหน้าอก จากการหายใจรับก๊าซแอมโมเนียเข้าสู่ร่างกายในช่วงเกิดเหตุ เบื้องต้นไม่พบการปนเปื้อนของน้ำที่ใช้สเปรย์ หรือน้ำที่เจ้าหน้าที่ใช้ดักจับไอหรือก๊าซแอมโมเนีย ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำสาธารณะที่ประชาชนใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค
ดังนั้น ประชาชนจึงเสี่ยงเกิดอาการแบบฉับพลันในช่วงเกิดเหตุ
คำแนะนำสำหรับประชาชน
กรมอนามัยห่วงใยผลกระทบทางสุขภาพของผู้ที่อาศัยโดยรอบเนื่องจากสถานประกอบกิจการรายนี้ตั้งอยู่กลางแหล่งชุมชน และถึงแม้จะสามารถควบคุมการรั่วไหลได้แล้ว แต่ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพตนเองและครอบครัวโดยสังเกตความผิดปกติของร่างกาย
หากมีอาการตาอักเสบ น้ำตาไหล หายใจหอบถี่ แสบคอ จมูก หรือผิวหนังอักเสบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์โดยทันที
นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่วางไว้ในบ้านและไม่มีการป้องกันช่วงเกิดเหตุ เพราะอาจได้รับก๊าซแอมโมเนียในเข้าสู่ร่างกายได้
สำหรับในระยะต่อไป เพื่อป้องกันความเสี่ยง หมั่นสังเกตความผิดปกติ ถ้าได้กลิ่นก๊าซแอมโมเนียให้รีบอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังจุดที่ปลอดภัยไม่ได้รับกลิ่นก๊าซดังกล่าว หากไม่สามารถอพยพได้ห้ามออกมานอกบ้านและต้องรีบปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด พร้อมสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลาที่ไม่ให้รับสัมผัส สูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย
“ทั้งนี้ กรมอนามัยขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้ประกอบกิจการมีมาตรการในการควบคุม กำกับ การประกอบกิจการให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยเป็นไปตามคำแนะนำ แนวปฏิบัติ หรือมาตรฐานที่กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หน่วยงานส่วนท้องถิ่นควรกำกับให้สถานประกอบการมีระบบป้องกันและแจ้งเตือนภัยการเกิดสารพิษรั่วไหล หรือภัยฉุกเฉินสารเคมีที่เกิดจากสถานประกอบการ เพื่อให้ประชาชนรู้ตัว และเอาตัวรอดจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ทันต่อเหตุการณ์ เป็นสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ชุมชนโดยรอบ” รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าว