ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สภาเศรษฐกิจโลก และ โรคเอ็กซ์ (X)

สภาเศรษฐกิจโลก และ โรคเอ็กซ์ (X) Thumb HealthServ.net
สภาเศรษฐกิจโลก และ โรคเอ็กซ์ (X) ThumbMobile HealthServ.net

ผู้นำโลกได้รวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับโรค X ในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum 2024 ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

              ในที่ประชุมประจำปีของ “สภาเศรษฐกิจโลก” หรือ World Economic Forum ประจำปี 2024 ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำโลกได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในความร่วมมือของชาติสมาชิกในการพัฒนาแผนปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับโรค X (โรคติดเชื้อไวรัสหรือจุลชีพต่างๆ) ที่อาจก่อปัญหาไปทั่วโลกและการเตรียมระบบสุขภาพเพื่อลดผลกระทบสำหรับการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น 
 
              ดร. ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวในที่ประชุมว่าทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประชุมเกี่ยวกับโรค X ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 และอาจถือได้ว่าโควิด-19 เป็นโรค X โรคแรก  โดยเน้นย้ำในที่ประชุมว่า “คำถามที่ว่าจะเกิดโรคระบาดทั่วโลกอย่างโควิด-19 ขึ้นอีกหรือไม่อาจไม่ถูกต้องนักแต่ควรถามว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดมากกว่า และทุกประเทศควรเตรียมพร้อมตั้งแต่บัดนี้
 

สภาเศรษฐกิจโลก และ โรคเอ็กซ์ (X) HealthServ
 

โรคเอ็กซ์(disease X) คืออะไร


โรคเอ็กซ์(disease X) คืออะไร และเหตุใดในที่ประชุมประจำปีของ World Economic Forum 2024 ถึงให้ความสนใจ
 
              “โรคเอ็กซ์" หมายถึงบรรดาจุลชีพหรือไวรัสก่อโรคที่เราไม่รู้จัก หรือยังรู้จักไม่เพียงพอซึ่งมีศักยภาพในการก่อให้เกิดโรคระบาดร้ายแรงระหว่างประเทศ 
 
              WHO แถลงล่าสุดจะอัปเดตรายชื่อเชื้อโรคที่สำคัญที่สามารถทำให้เกิดการระบาดและโรคระบาดทั่วโลก และประเทศต่างๆควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดย WHO ได้รวม“โรคเอ็กซ์" ไว้ในรายการด้วย 
 
              WHO กำลังปรับปรุงรายชื่อเพื่อเป็นแนวทางให้ทั่วโลกทั้งภาครัฐ เอกชน และ NGO ร่วมกันลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ล่วงหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวัคซีน การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ และการรักษา เพื่อจะมีผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดการระบาด
 
              กระบวนการอัปเดตเริ่มต้นเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2565 โดยอาศัยนักวิทยาศาสตร์กว่า 300 คนทั่วโลกมาร่วมกันวิเคราะห์หลักฐานเกี่ยวกับตระกูลไวรัสและแบคทีเรียมากกว่า 24 ตระกูล มุ่งเน้นไปที่สายพันธุ์ที่ยังไม่มียารักษา ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน เป็นอันดับแรก
 
              ปัจจุบันมีไวรัสไม่น้อยกว่า 320,000 ชนิดที่แพร่ติดต่ออยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ไวรัสที่พบติดต่อและก่อโรคในมนุษย์มีเพียง “219 ชนิด” หรือเป็นเพียง “ร้อยละ 0.06” อันหมายถึงยังมีไวรัสอีกมากจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พร้อมจะแพร่ติดต่อข้ามมาสู่คนหากมีโอกาสเหมาะ 


 
รายชื่อของไวรัสและจุลชีพปัจจุบันประกอบด้วย 
              โควิด-19, ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก, โรคไวรัสอีโบลาและโรคไวรัสมาร์บวร์ก, ไข้ลาสซา, โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS), โรคนิปาห์และโรคเฮนิปาไวรัส, ไข้ริฟต์วัลเลย์, ซิกา และโรค X 
 
              รายการเชื้อโรคที่สำคัญนี้ได้กลายเป็นจุดอ้างอิงสำหรับนักวิจัยทั่วโลกว่าควรมุ่งเน้นสรรพกำลังเพื่อจัดการกับภัยคุกคามต่อประชาชนในระดับพื้นที่ ประเทศ และทั่วโลก

 
ต้นกำเนิดของโรค X
              ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเชื้อโรค เช่น โรค X มีแนวโน้มว่าจะเป็นไวรัสทางเดินหายใจ ซึ่งอาจแพร่กระจายในสัตว์บางชนิด เช่น ค้างคาว นิ่ม นก หรือสุกร และอาจมีโอกาสแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้
สภาเศรษฐกิจโลก และ โรคเอ็กซ์ (X) HealthServ
 
 

การเตรียมตัวสำหรับโรค X

              บรรดาผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดทำแผนที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เนื่องจากโรคในระดับโรค X ในครั้งต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าโรคโควิด-19 บทเรียนจากโควิด-19 เช่น ความสำคัญของความโปร่งใสและระบบการเตือนภัยล่วงหน้า กำลังได้รับการพิจารณาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรค X โดยองค์การอนามัยโลกและองค์กรระดับโลกอื่นๆ ได้ริเริ่มความพยายามต่างๆ มากมาย รวมถึงกองทุนสำหรับการแพร่ระบาด ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีน mRNA ศูนย์กลางสำหรับข่าวกรองเรื่องการระบาดใหญ่และโรคระบาด เพื่อปรับปรุงการเฝ้าระวังความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ และรับประกันความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนและยาสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย



 

การเตรียมพร้อมของศูนย์จีโนมทางการแพทย์

 
              ในส่วนของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดีได้เตรียมพร้อม

              1. ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจาก “ดีเอ็นเอ” และ “อาร์เอ็นเอ” ที่สกัดได้จากสิ่งส่งตรวจประเภทต่างๆ จากผู้ติดเชื้อที่คาดว่าเป็น“โรคเอ็กซ์" รวมทั้งจากสิ่งแว้ดล้อม จากนั้นนำมาวิเคราะห์เพื่อสืบค้นว่าเป็นจุลชีพหรือไวรัสสายพันธุ์ใดจากสิ่งส่งตรวจให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อตอบโจทย์ของ “โรคเอ็กซ์"

              2. ศูนย์จีโนมได้โพสต์บทความมากกว่า 1,000 บทความบนเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19และโรค X เป็นการสื่อสารตรงถึงประชาชน โดยใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและปราศจากอคติเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับประชาชน สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กของศูนย์จีโนม  หรือเข้าสู่สารบัญของบทความทั้งหมดผ่านทางลิงก์ bit.ly/COVID2020-present  ซึ่งจะมีลิงค์ให้กดเข้าสู่แต่ละบทความ  หากสนใจจะสืบค้นข้อมูลโควิด-19และโรค X ใดเป็นการเฉพาะ กดปุ่มลัด "Ctrl + f" จะขึ้นช่องค้นหามาให้ หลังจากนั้นให้ใส่ข้อความที่ต้องการหาลงไป กด Enter การค้นหาของคุณจะง่ายยิ่งขึ้น


 
หมายเหตุ

              สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum; WEF) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งจัดการประชุมขึ้นทุกปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 โดย ศ.ดร. เคลาส์ มาร์ติน ชวับ (Klaus Martin Schwab) เป็น อ. ใน มหาวิทยาลัยเจนีวา เดิมชื่อ สภายุโรป เปลี่ยนเป็น สภาเศรษฐกิจโลก เมื่อปี พ.ศ. 2530  จุดมุ่งมหาย มีอิทธิพลต่อวาระการประชุมระดับโลกและการตัดสินใจ การล็อบบี้เพื่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
 






บทความและภาพจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาธิบดี  20 มกราคม 2024

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด