9 ก.พ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เรื่อง การสร้างการรับรู้/การสื่อสารและการบังคับใช้กฎหมาย โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ศ.พญ.สุวรรณา เปิดเผยว่า สิ่งที่จะต้องเร่งหาแนวทางร่วมกันในขณะนี้ คือการสร้างการรับรู้โทษจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน ซึ่งพบว่าผู้คนในสังคมยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอีกมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ปีหลังมานี้ ที่การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนการสูบในกลุ่มคนทั่วไป (อายุ 15 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นจาก 7.8 หมื่นคนในปี 2564 กลายเป็น 7 แสนคนในปี 2565 หรือเพิ่มถึงสิบเท่า และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคืออัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย (อายุ 13-15 ปี) ได้เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 2564 เป็น 17.6% ในปี 2565
ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ที่ผ่านมายอดขายของบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมนั้นมีอัตราต่ำลงทั่วโลก อันเป็นผลจากการร่วมกันรณรงค์ถึงโทษและพิษภัยที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามเมื่อบริษัทบุหรี่เริ่มอยู่ไม่ได้ เราจึงได้พบกับบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ามาเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการ ด้วยการสร้างมายาคติว่ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน
แต่ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการล้วนยืนยันแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่ได้มีความปลอดภัยแต่อย่างใด
โดยเราจะเห็นได้ว่าบุหรี่มวนนั้นใช้เวลาราว 30-50 ปี จึงเริ่มมีรายงานการก่อโรคมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่กับบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียงไม่เกิน 15 ปี ขณะนี้มีรายงานที่พบแล้วว่าเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2.2 เท่า
“อย่างเดียวที่บุหรี่ไฟฟ้าเคลมแล้วเป็นจริงคือการไม่มีสาร ทาร์ หรือน้ำมันดินที่เกิดจากการเผาไหม้แบบบุหรี่มวน แต่สารเคมีที่เหลืออีกกว่า 7,000 ชนิดมีเท่าเทียมกัน ซ้ำร้ายในบุหรี่ไฟฟ้ากลับมีนิโคตินสังเคราะห์ ที่ทำให้ร่างกายดูดซึมได้เยอะขึ้น เร็วขึ้น และเติมได้ไม่จำกัด ต่างจากบุหรี่มวนที่มีนิโคตินธรรมชาติในปริมาณคงที่มาจากโรงงาน และสิ่งสำคัญคือการปรุงแต่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจนมีความหอม หวาน มีรสชาติมากกว่า 16,000 ชนิด ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกเลือกสูบ และยังสามารถทำให้เสพติด โดยไม่พบว่าช่วยในการเลิกบุหรี่มวนได้แต่อย่างใด” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ
สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ