ปัญหาด้านภาษาคืออุปสรรคในการทำงานที่สำคัญประการหนึ่งของหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ชายแดนหรือพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านพักอาศัยอยู่จำนวนมาก เพราะหากไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจอย่างละเอียดก็อาจทำให้การรักษาผิดแนวทางจนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่นเดียวกับงานเชิงรุก การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคต่างๆ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) จึงเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขปฐมภูมิ ช่วยสื่อสารให้ความรู้ด้านสุขภาพ ประสานงานระหว่างหน่วยบริการและคนต่างด้าวโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานสัญชาติพม่าซึ่งมีสัดส่วนในประเทศไทยมากที่สุดในขณะนี้
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปากน้ำ อ.เมืองระนอง จ.ระนอง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของหน่วยบริการที่ใช้กลไก อสต.ในการเข้าถึงกลุ่มประชากรแรงงานพม่าและผู้ติดตาม ซึ่งจากการดำเนินงานมาประมาณ 1-2 ปีพบว่าช่วยให้งานของ รพ.สต.มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมาก
ชยานนท์ โชติมณี
ชยานนท์ โชติมณี ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปากน้ำ กล่าวถึงสภาพบริบทในพื้นที่ว่า รพ.สต.ปากน้ำตั้งอยู่บนเกาะคณฑี ซึ่งถัดออกไปไม่ไกลก็จะเป็นเกาะสองของประเทศเมียนมาร์ มีประชากรไทยประมาณ 1,000 คน และแรงงานพม่าพร้อมผู้ติดตามอีกประมาณ 450-500 คน นอกจากนี้ยังรับผิดชอบประชากรในเกาะใกล้เคียงอีก 3 เกาะ ประชากรอีกประมาณ 300 คน
สำหรับปัญหาการทำงานกับแรงงานพม่าหลักๆ จะเป็นเรื่องภาษา เจ้าหน้าที่ฟังและพูดพม่าไม่ได้ อาจจะฟังได้เป็นคำๆ บ้าง แต่เมื่อต้องสอบถามรายละเอียดอาการก็ไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ จำเป็นต้องสื่อสารผ่านล่าม เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ทำงานเชิงรุกก็ไม่สามารถสื่อสารเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพการป้องกันโรคต่างๆ ได้เต็มที่ ด้วยเหตุนี้ทาง รพ.สต.จึงได้จัดอบรม อสต.เข้ามาในปี 2558 และให้ทำงานร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ รพ.สต. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ อสม.
“ก่อนหน้านี้เราใช้วิธีขอความร่วมมือคนในชุมชน แต่ปี 2558-2559 ผมไปอบรมเรื่อง อสต.ที่กรุงเทพฯ พอกลับมาก็ตั้งทีมโดยยึดพื้นที่บ้านปากน้ำในการทำงาน อสต.รุ่นแรกเราอบรม 72 ชั่วโมง ใช้หลักสูตรอย่างเป็นทางการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มีพยาบาล นักวิชาการมาช่วยอบรม เมื่ออบรมเสร็จแล้วก็คุยกันว่าจะทำงานร่วมกันทั้ง 3 ทีม คือ อสต. อสม. และ รพ.สต. ซึ่งงานในส่วนของ อสต. จริงๆ ที่ไปอบรมมามีทั้งหมด 16 งาน แต่ผมให้ทำเพียง 4 งานเท่านั้นเนื่องจากพื้นฐานความรู้ของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน 4 งานนี้ ได้แก่ งานบัตรประกันสุขภาพ งานวางแผนครอบครัว งานป้องกันโรค และฝากครรภ์ ซึ่งเป็นงานที่เขาสามารถเข้ามาช่วยได้เลยโดยไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไร เวลาลงพื้นที่เราก็จะไปด้วยกันโดยให้ อสต.ช่วยเป็นล่ามให้ นอกจากนี้ก็ให้ดูแลในชุมชนที่ตนเองพักอาศัย เช่น ช่วยให้ความรู้ ช่วยประสานงานระหว่างชาวพม่าและ รพ.สต. รวมทั้งให้ชักชวนชาวพม่าในชุมชนมารับการฉีดวัคซีนและฝากครรภ์ด้วย โดยจะมีการประชุมติดตามผลกันทุกๆ 2 เดือน” ชยานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ คุณสมบัติในการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็น อสต.นั้น จะต้องอยู่ในพื้นที่มาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และสามารถพูดภาษาไทยได้บ้าง และหากมีบัตรประกันสุขภาพแล้วก็จะพิจารณาก่อนคนที่ไม่มี ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ อสต.จะได้รับคือการรักษาฟรีที่ รพ.สต.ปากน้ำ
“เราให้สิทธิรักษาพยาบาลฟรี ทำเป็นบัตรให้เลย เวลาเขามารับบริการเจ้าหน้าที่ก็จะรู้และให้การรักษาฟรี แต่จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็มีบัตรประกันสุขภาพกันอยู่แล้ว เพียงแต่เราให้เขาเพื่อเป็นสินน้ำใจ เมื่อเขามาช่วยเรา เราก็ให้เขาตอบแทน” ชยานนท์ กล่าว
ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปากน้ำ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินการตั้งแต่ปี 2559-2560 ใน 4 งานที่ให้ อสต.เข้ามาช่วยทำงานนั้น พบว่าสามารถขายบัตรประกันสุขภาพได้มากขึ้น แต่ไม่แน่ว่ามากขึ้นเพราะทีมงาน อสต. หรือเพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องขนขวายหาหลักประกัน หรือเป็นเพราะโรงพยาบาลประชาสัมพันธ์มากขึ้นกันแน่ ส่วนจำนวนงานเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวยังอยู่ในระดับเดิม แปลว่าการท้องไม่เพิ่มขึ้น
“ส่วนงานป้องกันโรค การฉีดวัคซีนต่างๆ พบว่าตัวเลขการรับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าเป็นผลจากการที่ อสต.เข้าไปคุยในพื้นที่ทำให้แรงงานพม่ามั่นใจว่าพื้นที่นี้เป็นมิตรกับเขาและกล้าพาบุตรหลานมารับบริการ แต่ผมจะไม่พูดว่าผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์เพราะพื้นที่เรามีการหมุนเวียนสูง อยู่บนเกาะปีหนึ่ง ปีหน้าย้ายที่ทำงานเขาก็อาจย้ายไปอยู่ในตัวอำเภอให้ใกล้ที่ทำงานมากขึ้น” ชยานนท์ กล่าว