ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลคลองขลุง
ในปี 2498 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสร้างสถานีอนามัยชั้นหนึ่งโดยได้รับความอนุเคราะห์จาก พระครูวิลาศวชิรโสภณ เจ้าอาวาสวัดมุจรินทร์ (วัดกระโดนเตี้ย) ตำบลวังไทร บริจาคที่ดินธรณีสงฆ์เนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ เพื่อใช้ดำเนินการก่อสร้างสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ซึ่งต่อมาเมื่อมีอาคารหลังใหม่ขึ้น ตัวสถานีอนามัยชั้นหนึ่งจึงใช้เป็นที่ปฏิบัติงาน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคลองขลุงเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี แต่ในปัจจุบัน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอได้อาคารหลังใหม่ อาคารหลังเก่าคงอยู่ในที่ดินเดิมซึ่งปรับปรุงเป็นอาคารอเนกประสงค์ เป็นที่ตั้งของชมรม อสม.อำเภอคลองขลุง ชมรมเพื่อนร่วมใจ ร้านค้าสวัสดิการ อสม. โรงพัสดุ
ปี 2506 เปิดเป็นสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว มีบ้านพักแพทย์ และเจ้าหน้าที่ 2 หลัง มีแพทย์ท่านแรก คือ นายแพทย์บานเย็น สวนไทย มีเจ้าหน้าที่พยาบาล 1 คน ผดุงครรภ์ 1 คน ต่อมาอีก 2 ปี ท่านจึงย้ายไปที่ศูนย์ควบคุมวัณโรค จังหวัดยะลา จึงขาดแพทย์ไประยะหนึ่ง ต่อมาก็มีแพทย์มาปฏิบัติงานอีกหลายท่าน
ปี 2514 กระทรวงสาธารณสุข ได้เปลี่ยนเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบทอำเภอคลองขลุง มีนายแพทย์ สมาน ยั่งยืน เป็นแพทย์ประจำ มีเจ้าหน้าที่ 6 คน
ปี 2518 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลคลองขลุง และได้รับงบประมาณเพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาล ขนาด 10 เตียง แต่เงินงบประมาณไม่เพียงพอในการก่อสร้าง นายแพทย์สมเกียรติ แสงประเสริฐ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำในขณะนั้น จึงปรึกษากับ คุณเฉลิมชัย เจียรนัยกุลวานิช ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 ต.คลองขลุง ในการหาเงินมา สมทบทุนสร้างตึก และได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าส่วนราชการ ในอำเภอคลองขลุง และได้มีมติตั้งคณะกรรมการจัดหาเงิน โดยเชิญชวนร่วมกันบริจาคเพื่อสมทบสร้างตึกเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ประมาณ 2 แสนบาท และหาที่ดินเพิ่ม เพื่อการขยายโรงพยาบาลในอนาคตและด้วยความอนุเคราะห์ของหลวงพ่อแดง และญาติโยม จึงได้ที่ดินเพิ่มอีก รวมเป็น 36 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา
คณะกรรมการดำเนินการจัดหาเงิน และประชาสัมพันธ์ ออกรับบริจาคเงินตามตำบล และหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งมีคุณเฉลิมชัย เจียรนัยกุลวานิช คุณหมุยอิง แซ่เตีย คุณเทียน ศิริพันธ์ เป็นหัวเรือใหญ่ ได้เงินทั้งหมดกว่า 400,000 บาท (สี่แสนบาท) ในขณะนั้นถือว่ามาก เกินเป้าหมาย จึงทำให้โรงพยาบาลคลองขลุงเป็นโรงพยาบาลของคนคลองขลุงอย่างแท้จริง
วันที่ 20 เมษายน 2519 จึงได้เริ่มทำสัญญาก่อสร้าง โดยมี คุณเฉลิมชัย เจียรนัยกุลวานิช เป็นตัวแทนคณะกรรมการทำสัญญา และเริ่มก่อสร้าง วันที่ 2 กรกฎาคม 2519 ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดย นพ.ปรีชา มุสิกุล ซึ่งดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ก่อสร้างเสร็จได้อาคารหลังใหม่พร้อมเครื่องมือแพทย์ และเฟอร์นิเจอร์ และได้ทำพิธีเปิดตึกเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2520 โดย นพ.น่วม เศรษฐ์จันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อมา ปี 2540 ตึกหลังนี้เป็นที่ปฏิบัติงานของฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ ฝ่ายสุขาภิบาลและป้องกันโรค และคลังยาบางส่วน ปัจจุบันถูกรื้อสร้างเป็นอาคารส่งเสริมสุขภาพ และแพทย์แผนไทย
ต่อมาปี 2521 แพทย์หญิงกรองทอง กาญจนพยัคฆ์ มาเป็นแพทย์ประจำ ได้รับงบประมาณขยายเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง สร้างตึกผู้ป่วยนอก ตึกผู้ป่วยใน ระบบประปา ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และได้ทำพิธีเปิดตึกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2524 โดยนายทองหยด จิตตะวีระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในช่วงนี้ โรงพยาบาลคลองขลุง มีแพทย์ประจำถึง 3 ท่าน ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่มีแพทย์ประจำมากที่สุด ซึ่งปกติจะมีเพียงคนเดียว และผู้ป่วยก็มาใช้บริการมากขึ้นเป็นลำดับ
ปี 2523 -2524 น.พ.สาโรจน์ สันตยากร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล
ปี 2524 -2525 น.พ.สุชาติ อนุพันธ์พิสิษฐ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล
ปี 2525 -2526 น.พ.วีรยุทธ เนติธนากูล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล
ปี 2526 -2536 น.พ.เอนก กลิ่นเกษร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล
ปี 2536 นพ.วินัย ลีสมิทธิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้มีการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้าง และการบริการให้มีศักยภาพที่สามารถบริการประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน
ปี 2537 ได้งบประมาณก่อสร้างเขื่อนคันดินรอบโรงพยาบาลป้องกันน้ำท่วม
ปี 2538 ได้รับงบประมาณ 16 ล้านบาทเศษ ก่อสร้างอาคารตึกผู้ป่วยในหญิง โรงนึ่งกลาง โรงเก็บศพ เตาเผาขยะ บ้านพักข้าราชการ แฟลตพยาบาล เพื่อยกฐานะเป็นโรงพยาบาล ขนาด 60 มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างและการบริการ เช่น ลานจอดรถหน้า รพ. โรงรถ สนามบาสเกตบอล ทางเดินเชื่อมตึก รั้วรอบพื้นที่ รพ. จัดสวนหย่อม
ปี 2552 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารส่งเสริมสุขภาพ และแพทย์แผนไทย เปิดใช้งาน ก.พ.2553 ปี 2557 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน เปิดใช้งาน มิ.ย.2558
ปี 2559 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในชาย เปิดใช้งาน พ.ย. 2559
ปี 2560 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารชันสูตร-เอกซ์เรย์
2 ตุลาคม 2560 รพ.คลองขลุงมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการโดย นพ.โพธิ์ศรี แก้วศรีงาม เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลคลองขลุง ต่อจาก นพ.วินัย ลีสมิทธิ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการ
สรุป
ปี 2498 สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง
ปี 2514 เป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบทอำเภอคลองขลุง
ปี 2518 เป็น โรงพยาบาลคลองขลุง เป็นโรงพยาบาล ขนาด 10 เตียง
ปี 2521 ขยายเพิ่มเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง
ปี 2536 ยกฐานะเป็นโรงพยาบาล ขนาด 60 เตียง
ปี 2558 ยกฐานะเป็นโรงพยาบาล ขนาด 90 เตียง