ประวัติโรงพยาบาลดำเนินสะดวก
โรงพยาบาลดำเนินสะดวกเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 272 เตียง ตั้งอยู่เลขที่ 146 หมู่ 4ต.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี บนพื้นที่ 29 ไร่ 2 งาน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2502 โดยนายอำเภอชาญ เวชเจริญ ร่วมกับพ่อค้า คหบดี และประชาชนชาวดำเนินสะดวก เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก ไม่มีทางรถยนต์ต้องเดินทางโดยทางเรือผู้เจ็บไข้ได้ป่วยต้องเดินทางไปรักษายังโรงพยาบาลราชบุรีและก่อนหน้านั้น (ปีพ.ศ.2500) มีการระบาดใหญ่ของอหิวาตกโรค ทำให้เห็นความสำคัญของการมีบริการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน คือโรงพยาบาลอยู่ในท้องถิ่นและใกล้ชุมชน
พ.ศ.2503สามารถรวบรวมที่ดินซึ่งเจ้าของที่ดินบริจาคและใช้เงินบริจาคซื้อ มีเนื้อที่ทั้งหมด 20 ไร่ เงินที่ใช้ก่อสร้างอาคารต่างๆได้มาจากเงินบริจาค และเงินสนับสนุนจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เริ่มเปิดดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2505 เป็นต้นมา
พ.ศ.2507เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการโดยพระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเป็นผู้ทำพิธีเปิดสามารถรับผู้ป่วยได้ 50 เตียง
พ.ศ.2510-2511 นายอุดม อุ่นสุวรรณ ได้บริจาคทรัพย์สินก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษ 2 ชั้น 16 ห้อง เพื่อให้โรงพยาบาลมีรายได้จากห้องพิเศษมาพัฒนาโรงพยาบาลต่อไป
พ.ศ.2514กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติเงินงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคาร ประวัติโรงพยาบาลสูติกรรม 2 ชั้น 1 หลัง และอาคารเอกซเรย์ ห้องผ่าตัด 2 หลัง และจำเป็นต้องรื้ออาคารผู้ป่วย25 เตียงออก 1 หลังเพื่อก่อสร้างอาคารใหม่
พ.ศ. 2516-2534 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนายแพทย์พนัง นิชานนท์ ได้พัฒนาและวางรากฐานการก่อสร้างโรงพยาบาล ได้มีอาคารผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายหลัง และสร้างรั้ว ป้ายชื่อ เขื่อนริมคลอง และอาคารสนับสนุน รวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 โรงพยาบาลดำเนินสะดวกได้มีแพทย์มาใหม่พร้อมกัน 4 คนสามารถทำผ่าตัด รักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนจากอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ผู้ป่วยเริ่มมากขึ้นจากวันละไม่กี่สิบคนเป็น 200-300 คน และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
จากนั้นก็เริ่มมีแพทย์วุฒิบัตรในสาขาต่างๆที่จบใหม่และรับทุนจากโรงพยาบาลมาใช้ทุนเพิ่มมากขึ้น จำนวนแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพื่อรองรับบริการการรักษาที่เพิ่มขึ้น
พ.ศ.2538 นายแพทย์สุรัติ เล็กอุทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้จัดหาเงินบริจาคจากประชาชน เพื่อซื้อครุภัณฑ์ เปิดตึกใหม่ทั้ง 2 อาคาร คือ อาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน และอาคารสูติกรรม หลังจากนั้นก็มีการบริจาคเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างอาคารห้องพิเศษรองรับผู้ป่วยพิเศษ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนงบประมาณเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีพ.ศ.2539 อาคารนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” พร้อมทั้งประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ที่ป้ายชื่ออาคารด้วย ได้แล้วเสร็จเปิดบริการในปี พ.ศ. 2543