การก่อตั้ง การขยายตัวและเติบโตของโรงพยาบาล
โรงพยาบาลท่าอุเทนเดิมตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งได้ยกระดับและปรับปรุงมาจากสถานีอนามัยชั้น 1 โดยยังไม่มีแพทย์ออกมาตรวจโรค ต่อมามีประชาชนมารับบริการมากขึ้น จึงได้ยกระดับเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัย ประมาณปี พ.ศ.2512 และมีแพทย์ออกมาตรวจรักษาโรคสัปดาห์ละ 1 วัน คือ นายแพทย์บัญญัติ อติบูรณกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนมขณะนั้น ต่อมาเมื่อมีประชาชนมารับบริการเพิ่มมากขึ้นทำให้การบริการตรวจรักษาโรคไม่ครอบคลุมจึงได้มีคำสั่งให้ นายแพทย์วิรัช พุทธิเมธี มาประจำที่ศูนย์การแพทย์และอนามัยท่าอุเทน แต่เนื่องศูนย์การแพทย์และอนามัยยังไม่มีบ้านพักแพทย์ทำให้ นายแพทย์วิรัช พุทธิเมธี ต้องเดินทางมาตรวจรักษาโรคทุกวันโดยเดินทางไป-กลับ นครพนม-ท่าอุเทน เมื่อมีแพทย์มาประจำที่ศูนย์การแพทย์และอนามัยทุกวันทำให้ประชาชนมารับบริการมากขึ้นจึงยกระดับจากศูนย์การแพทย์และอนามัยเป็นโรงพยาบาลอำเภอท่าอุเทน เมื่อ พ.ศ.2519 โดยมีนายแพทย์ชูชัย ศุภวงค์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก โรงพยาบาลท่าอุเทนได้มีการยกระดับเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง และมีแพทย์พยาบาลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อการเศรษฐกิจและสังคมมีการพัฒนามากขึ้น การแพทย์และสาธารณสุขก็มีการปรับปรุงและพัฒนาให้มีศักยภาพมากตามไปด้วย โรงพยาบาลชุมชนอำเภอท่าอุเทนก็เช่นเดียวกัน มีการปรับปรุงและพัฒนา ทำให้มีการย้ายโรงพยาบาลชุมชนท่าอุเทนมาตั้งที่บริเวณ ถนนบ้านแพง-นครพนม หมู่ที่ 6 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งสร้างสมบูรณ์และเปิดบริการประชาชนทั่วไปอยากเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2529 เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง และมีการเพิ่มขนาดจำนวนเตียงเป็น 30 เตียง เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลท่าอุเทน มีอาคารที่ทำการให้บริการประชาชนในเขตรับผิดชอบและพื้นที่ใกล้เคียงและในวันที่ 12 ตุลาคม 2545 โรงพยาบาลท่าอุเทนได้รับความอนุเคราะห์จากพระราชญาณวิสุทธิโสภณ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บริจาคอาคารผู้ป่วยพิเศษ ขนาด 10 ห้อง(ตึกสงฆ์อาพาธ) งบประมาณ 44,974,000.00 บาท การก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วได้เปิดใช้บริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2546
โรงพยาบาลอำเภอท่าอุเทน ซึ่งนอกจากรับผิดชอบการให้บริการประชาชนในเขตอำเภอท่าอุเทน แล้ว ยังต้องให้บริการประชาชนที่อยู่ในเขตอำเภอใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางข้ามพรมแดน ซึ่งมีแค่ลำน้ำโขงกั้นอาณาเขตมารับบริการอีกเป็นจำนวนมาก
สภาพแวดล้อมด้านการแข่งขัน
อำเภอท่าอุเทนมีพื้นที่ติดกับอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งมีโรงพยาบาลนครพนมเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะ เส้นทางคมนาคมสะดวก จากอำเภอท่าอุเทนถึงจังหวัดนครพนม ระยะทาง 26 กิโลเมตร โรงพยาบาลท่าอุเทน ได้เน้นการให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง การดูแลใกล้บ้านใกล้ใจ เน้นการให้บริการปฐมภูมิ การทำงานเชิงรุกในชุมชน ทำให้ผู้รับบริการเลือกมาใช้บริการที่โรงพยาบาล
ความสำเร็จ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์
- บุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่
- การมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ
- ผู้บริหารเน้นการให้บริการในชุมชน
เหตุการณ์ที่มีผลต่อการพัฒนา / การเปลี่ยนแปลงนโยบาย
1) การเรียกร้องความต้องการบริการที่สูงขึ้นของประชาชน เนื่องจากอำเภอท่าอุเทน อยู่ใกล้
ตัวจังหวัดนครพนมเพียง 26 กิโลเมตร จึงมีทางเลือกที่จะไปรับบริการสถานบริการอื่นๆง่าย เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด คลินิกเอกชน เป็นต้น โรงพยาบาลจึงต้องมีการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและเพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะเขตรอยต่อ
2) ความตื่นตัวในเรื่องสิทธิผู้ป่วย ทำให้ประชาชนมีโอกาสร้องเรียนเรียกค่าเสียหายจากการ
บริการที่ ผิดพลาดจากการให้บริการได้มากขึ้น โรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องมีระบบเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
3) นโยบายในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆให้ประชาชนมาใช้บริการพร้อมกับความมุ่งหวังที่สูง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณแบบเหมาจ่ายรายหัวประชาชนที่มาขึ้นทะเบียนทำให้โรงพยาบาลต้องปรับตัวเพื่อบริการให้ดีมีคุณภาพ ประชาชนพึงพอใจ อีกทั้งพยายามสร้างสุขภาพเพื่อให้ประชาชนป่วยน้อยลงจะได้ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลมาก
4) สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ มั่นใจที่จะมารับบริการใกล้ๆบ้าน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเดินทางไกลๆ เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ
5) ความต้องการของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ที่ต้องการเห็นโรงพยาบาลที่ตนเองทำงานอยู่เป็น โรงพยาบาลที่ดี มีคุณภาพ เป็นสถานที่ทำงานที่มีความสุข ประชาชนให้ความไว้วางใจโรงพยาบาล
6) นโยบายปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล มีการปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนภาครัฐ เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์ ความคุ้มค่า คุ้มทุน ทำให้โรงพยาบาลต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงโดยการปรับปรุงระบบบริการและบริหารจัดการให้มีคุณภาพ
ปัญหาสำคัญที่โรงพยาบาลกำลังพยายามแก้ไข
การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง โดยเน้นกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นและต้องรับประทานยาประจำ ลดการขาดนัดของผู้ป่วย และลดความแออัดในการให้บริการในโรงพยาบาล โดยการเตรียมความพร้อมของพยาบาลวิชาชีพเวชปฏิบัติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประจำสถานีอนามัยในเรื่องความรู้ จัดทำแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ส่งต่อผู้ป่วยที่สามารถควบคุมน้ำตาลและควบคุมความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติให้รับยาต่อที่สถานีอนามัย และมีระบบส่งกลับเมื่อมีอาการผิดปกติ
1 โครงสร้างกายภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอาคารผู้ป่วยเกิดความทรุดโทรม ฝ้าเพดานชำรุด มีเชื้อรา จากการที่ให้บริการเป็นเวลานาน สถานที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอกับผู้ใช้บริการ ปัจจุบันกำลังต่อเติมอาคารงานผู้ป่วยนอกเพื่อแยกโซนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ คลินิกผู้ป่วยเรื้อรัง และมีแผนปรับปรุงอาคารงานผู้ป่วยนอก ในปี 2554
2 การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่รังสี แก้ไขโดย มีแพทย์ใช้ทุนหมุนเวียนปฏิบัติงานทุก 3 เดือน
งานทันตกรรมเปิดให้บริการในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ เจ้าหน้าที่งานชันสูตรและเจ้าหน้าที่รังสี จ้างลูกจ้างชั่วคราวมาฝึกปฏิบัติให้บริการทดแทน