ประวัติโรงพยาบาลบางมูลนาก
โรงพยาบาลบางมูลนาก เป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียง ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 2 หมู่ 9 ถนนสายบางมูลนาก – โพทะเล อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร อยู่ห่างจากตลาดอำเภอบางมูลนาก มาทางทิศตะวันตกประมาณ 4 กิโลเมตร
สถานที่ตั้งโรงพยาบาลบางมูลนาก เดิมเป็นที่ดินของ นายธีระ โชติมงคล คหบดี ชาวอำเภอ บางมูลนาก ซึ่งบริจาคที่ดินรวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 44 ไร่ 39 ตารางวา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,200,000 บาท (สองล้านสองแสนบาท) มอบให้เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยมีร้อยตรีทวี ไทศรีวิชัย นายอำเภอบางมูลนากในขณะนั้นเป็นผู้รับมอบ และในงบประมาณ 2527 โรงพยาบาลได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล และอาคารอื่นๆ ประกอบรวม 7 รายการในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 10,210,000.00 บาท (สิบล้านสองแสนหนึ่งหมื่นบาท) และระบบไฟฟ้าในวงเงิน 385,007.00 บาท (สามแสนแปดหมื่นห้าพันเจ็ดบาท) โดยเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2527 และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2528 ต่อมาได้รับงบประมาณ เพิ่มเติมเป็นค่าก่อสร้างติดตั้งระบบประปาอีก จำนวน 1,170,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาท) และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2529
เมื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ย้ายมาเปิดทำการ ณ สถานที่แห่งใหม่นี้ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2529 โดยมีนายแพทย์พยุง กลั่นทกพันธุ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลบางมูลนากจนครบเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2529 ต่อจากนั้น นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางมูลนากแห่งนี้จนถึงปี พ.ศ. 2535 และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2530 โดยมีนายพิชัย รัตตกุล ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นให้เกียรติมาเป็น ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล
ต่อมาผู้มีจิตศรัทธาชาวอำเภอบางมูลนาก ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษ “อุลิต” ตามแบบแปลนของกองแบบแผน สำนักงานปลัดกระทรวง เลขที่ 4684 ให้แก่โรงพยาบาล เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระบรมราชวโรกาสทรงพระเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 เป็นเงินประมาณ 3,000,000 บาท (สามล้านบาท) และจัดซื้อครุภัณฑ์ประจำตึกเป็นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) และได้ทำพิธีเปิดอาคารในวันที่ 14 เมษายน 2533 โดยนายมารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น และได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนในเวลาต่อมา
ในปีงบประมาณ 2535 โรงพยาบาลบางมูลนาก ได้รับการยกฐานะจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง และได้รับงบประมาณเป็นครุภัณฑ์สำหรับโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ในปีงบประมาณ 2536 เป็นเงิน 1,430,200 บาท (หนึ่งล้านสี่แสนสามหมื่นสองร้อยบาท) ในขณะนั้นนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ และได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2535 ต่อจากนั้นนายแพทย์วันชัย ศิริกุล ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางมูลนาก จนถึงปี พ.ศ. 2549
เนื่องจากโรงพยาบาลบางมูลนาก เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาในการรักษาพยาบาล ทำให้ผู้รับบริการมีจำนวนมากขึ้น จนทำให้สถานที่จำนวนเตียงไม่เพียงพอ เกิดความแออัดในการนอนพักรักษาตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กจะไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร คุณอุลิต ตันติวงษ์ มีจิตเมตตา อันประเสริฐ เกิดความสงสารผู้ป่วยเหล่านั้น จึงมีดำริสร้างอาคารผู้ป่วยขนาด 30 เตียงเพิ่มขึ้นอีกหลังหนึ่ง ตามแบบมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข แบบเลขที่ 2731 ซึ่งได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ใน วันที่ 1 มีนาคม 2544 ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ รวมมูลค่า การก่อสร้างทั้งสิ้น 3,250,000 บาท (สามล้านสองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และได้ใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า “อาคารอุลิต 2” นอกจากนี้ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย เป็นจำนวนเงินประมาณ 1 ล้านบาท และได้มีพิธีเปิดอาคารใน วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2545
และเนื่องจากพื้นที่อำเภอบางมูลนากและอำเภอใกล้เคียงเป็นที่ลุ่มน้ำประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากการตรากตรำทำงานหนัก จากสภาพความเป็นอยู่ต่างๆ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีปัญหากล้ามเนื้อและกระดูกค่อนข้างมาก ทำให้มีการใช้บริการด้านกายภาพบำบัดและการแพทย์แผนไทยมากขึ้น ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ประยุกต์ใช้ห้องพิเศษเป็นสถานที่ให้บริการ ทำให้เกิดความแออัด จึงมีผู้มีจิตศรัทธา คือ คุณทา ภู่สวรรค์ และคุณสุธี ภู่สวรรค์ พร้อมทั้งครอบครัว มีความประสงค์บริจาคอาคารเวชกรรมฟื้นฟูขึ้นอีก 1 หลัง ตามแบบมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 9728 ซึ่งได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันเดียวกับพิธีเปิด “ตึกอุลิต 2” การก่อสร้างได้ดำเนินจนแล้วเสร็จ รวมมูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น 2,500,000 บาท (สองล้าน ห้าแสนบาทถ้วน) และใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า “อาคาร ภู่สวรรค์” นอกจากนี้ได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินจัดซื้อครุภัณฑ์ และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลด้านกายภาพบำบัดและการแพทย์ แผนไทยเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 181,800 บาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยบาทถ้วน) และได้มีพิธีเปิดอาคารในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2546 ต่อมา ปี พ.ศ. 2547 เปิดอาคารโรงครัว 2 ชั้น และอาคารห้องประชุมราชาวดี เพื่อรองรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้น ปีพ.ศ. 2548 เปิดบริการล้างไต ร่วมกับเอกชน
ในปี พ.ศ. 2549 นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น ได้ย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ งานบริการผู้ป่วยนอกมีผู้รับบริการจำนวนมากทำให้เกิดความแออัด สถานที่คับแคบโดยเฉพาะวันที่ มีคลินิกพิเศษ ผู้อำนวยการจึงได้มีดำริให้ปรับปรุงห้องแยกโรคผู้ป่วยแพร่เชื้อ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2550 ใช้เงินงบประมาณในการปรับปรุงเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 198,498 บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นแปดพันสี่ร้อยเก้าสิบแปดบาท) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ได้มีการก่อสร้างอาคารซัก อบแห้ง เป็นเงิน 494,900 บาท (สี่แสนเก้าหมื่นสี่พันเก้าร้อยบาท) ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการต่อเติมอาคารผู้ป่วยใน 1 - 2 อาคารจอดรถยนต์ และอาคารศูนย์ไตเทียม ด้วยเงินบำรุงและงบ UC เป็นจำนวนเงิน2,185,000 บาท (สองล้านหนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันบาท) และในปี พ.ศ. 2553 ได้สร้างอาคารอุบัติเหตุ และฉุกเฉินขึ้นใหม่ ด้วยเงินงบประมาณเป็นเงิน 27,990,000 บาท (ยี่สิบเจ็ดล้านเก้าแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) พร้อมได้มีการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและปรับประตูทางเข้าออกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ อีกทั้งในปี 2556 ได้มีการสร้างตึกผู้ป่วยในพิเศษ 2 ชั้น 10 ห้อง และยังผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลคุณธรรม
ในปี พ.ศ.2557 นายแพทย์วิศิษฏ์ อภิสิทธิ์วิทยา ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลและได้สานต่องานโรงพยาบาลคุณธรรมจนได้รับความชื่นชมจากองค์กรภายนอกมากมายอีกทั้งในปี 2558 ได้รับอนุมัติตึกผู้ป่วยนอก 4 ชั้น แฟลตพยาบาล 20 ห้อง และระบบน้ำประปาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น