ประวัติโรงพยาบาลบ่อเกลือ
ปี พ.ศ. 2533 เริ่มก่อสร้าง เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 10 เตียง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา พื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่ สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ระยะทางห่างจากอำเภอปัว จังหวัดน่าน 48 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมืองน่าน 113 กิโลเมตร เปิดให้บริการตรวจเฉพาะผู้ป่วยนอก โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลแม่ข่าย (รพร.ปัว) ออกตรวจ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ปี พ.ศ. 2535 มีการเปิดให้บริการจริง ขนาด 10 เตียง ให้บริการจริง 20 เตียง
ปี พ.ศ. 2551 ได้ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินเพื่อรอบรับการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น
ปีพ.ศ. 2552 ได้ก่อสร้างอาคารนครินทรารักษ์ เพื่อเปิดให้บริการอาคารห้องพิเศษเดี่ยวจำนวน 4 ห้อง แบ่งเป็นห้องพิเศษเดี่ยว (VIP) จำนวน 2 ห้อง และห้องพิเศษเดี่ยว จำนวน 2 ห้อง
ปี พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารนครินทรารักษ์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับภูเขา ตลอดจนมีที่ราบไหล่เขา ทิศเหนือติดกับอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ทิศใต้ติดกับอำเภอสันติสุขและอำเภอแม่จริม ทิศตะวันออกติดกับประเทศลาว ทิศตะวันตกติดกับอำเภอปัว จังหวัดน่าน มีต้นกำเนิดแม่น้ำน่านที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญของจังหวัดน่าน สภาพภูมิอากาศมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน ส่วนใหญ่จะมีอากาศหนาวเย็นมากที่สุด ในช่วงเดือนตุลาคม – เดือนมีนาคม
สภาพทางศาสนาและสังคม
ประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอบ่อเกลือ นับถือศาสนาพุทธ และมีจำนวนน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ มีวัด 8 แห่ง มีโบสถ์ 4 แห่ง ด้านภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยกลาง ภาษาท้องถิ่นพื้นเมือง ภาษาลั๊วะ และภาษาม้ง มีสถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ทั้งสิ้น23 แห่ง มีแหล่งส่งเสริมความรู้อื่นๆ เช่นที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน หอกระจายข่าว เป็นต้น สำหรับการบริการด้านพื้นฐานของชุมชน มีการคมนาคมขนส่งค่อนข้างลำบาก มีบางพื้นที่เข้าถึงลำบาก เนื่องจากสภาพที่อยู่เป็นหมู่บ้านในหุบเขา
สภาพทางเศรษฐกิจ
ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร อาชีพหลัก คือ การทำนา รองลงมาเป็นการทำข้าวไร่ การเลี้ยงสัตว์ และการประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การหาของป่า การค้าขาย รับจ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการออกไปรับจ้างในเขตเมืองต่าง ๆ กลุ่มชนพื้นเมืองส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขาย โดยนำสินค้าจากต่างอำเภอเข้ามาค้าขายให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น (ลั๊วะ) และม้งในพื้นที่ รวมถึงการนำสินค้าหัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นไปขายยังต่างอำเภอ ทำให้ชนพื้นเมืองเป็นผู้ที่ควบคุมกลไกการตลาดและระบบเศรษฐกิจของอำเภอไว้ทั้งหมด
สภาพทางการเมืองการปกครอง
แบ่งเป็น 4 ตำบล 39 หมู่บ้าน มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 3 แห่ง คือ ตำบลบ่อเกลือเหนือ ตำบลภูฟ้า และตำบลดงพญา เทศบาล 1 แห่ง คือ เทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้ โดยภาพรวมผู้นำท้องถิ่น มีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่นมาก ทั้งนี้ผู้นำท้องถิ่นมีการสนับสนุน การเข้าใจในบทบาทหน้าที่การบริหารการจัดการ และการพัฒนาด้านสาธารณสุขค่อนข้างน้อย
ประชากร
ประชากร (2562) รวมทั้งสิ้น 15,182 คน มีจำนวนครัวเรือน 4,543 ครัวเรือน