ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรงพยาบาลพนมสารคาม

Phanom Sarakham Hospital

Logo Thumb preview

ที่อยู่/ติดต่อ
490 ถนน304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี หมู่ 4 ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัด ฉะเชิงเทรา 24120

*ข้อมูลรวบรวมโดย Healthserv.net เพื่ออำนวยความสะดวกเบื้องต้นให้กับผู้ชมที่ต้องการข้อมูลสถานพยาบาล ไม่ใช่เว็บทางการของรพ./สถานพยาบาลแต่อย่างใด แนะนำให้ไปยังเว็บไซต์/เฟซบุ๊ค หรือช่องทางติดต่อของรพ./สถานพยาบาลนั้นๆ โดยตรง

ข้อมูล/ประกาศ/บริการ โรงพยาบาลพนมสารคาม

content image1
  
 แนะนำโรงพยาบาลพนมสารคาม ปี2567 ผ่านคลิปนำเสนอ

 โรงพยาบาลพนมสารคามเป็นโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายขนาด ๑๒๐ เตียง ประจำ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ดูแลผู้ป่วยใน 5 สาขา service plan ได้แก่ สูตินรีเวช ศัลยกรรมทั่วไป อายุรกรรม กุมาร ศัลยกรรมกระดูกและข้อ  ปัจจุบันได้เพิ่มการจัดการสาขาตา เป็นหน่วยการผ่าตัดตาของจังหวัดฉะเชิงเทรา  มีหออภิบาลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยวิกฤต ทั้งผู้ใหญ่และผู้ป่วยเด็กทารกแรกเกิด  ตามแผนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยในเขตและนอกเขต อ.พนมสารคาม ได้รับการบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ  ยังมีการจัดบริการตามบริบทใกล้พื้นที่อุตสาหกรรม ได้แก่ ด้านอาชีวเวชกรรม อนามัย ศูนย์ตรวจสุขภาพครบวงจร ตรวจสุขภาพวัยทำงาน 

content image2
content image3

Facebook โรงพยาบาลพนมสารคาม

content image4
 

 ประวัติโรงพยาบาลพนมสารคาม

โรงพยาบาลพนมสารคาม ตั้งอยู่ที่ 490 หมู่ 4 ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคามจังหวัดฉะเชิงเทราเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2521 โดยได้รับการยกฐานะจากศูนย์การแพทย์และอนามัยพนมสารคาม มีนายแพทย์บรรพต ต้นธีรวงศ์ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรก โรงพยาบาลได้ก่อสร้างบนที่ดินซึ่งได้รับบริจาคจำนวน 25 ไร่ จากคุณประพันธ์ มนูญศิลป์ นายกสมาคมไลอ้อนฉะเชิงเทราในขณะนั้นได้รับงบประมาณในการก่อสร้างจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอขนาด 30 เตียง
 
ปี พ.ศ.2523-2524 ประชาชนอำเภอพนมสารคามได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างตึกพิเศษเพิ่มอีก 1 หลัง จำนวน 22 ห้อง ภายใต้การริเริ่มของนายทิวา พลสมบัติ นายอำเภอพนมสารคามขณะนั้นและได้ทำการเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2524 เป็นผลให้กระทรวงสาธารณสุขยกฐานะเป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาด 60 เตียง
 
ต่อมาในปี พ.ศ.2528 นายแพทย์บรรพต ต้นธีรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมสารคามได้ริเริ่มการสร้างตึกสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยชายขึ้น โดยขอคำปรึกษาและความร่วมมือจากคณะกรรมการอุปการคุณโรงพยาบาลพนมสารคามและคณะสงฆ์ ได้ร่วมกันจัดหาทุนเพื่อก่อสร้างอาคารและใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลสมทบคำก่อสร้างอาคารประมาณ 2,900,000 บาท (สองล้านเก้าแสนบาทถ้วน)
 
วันที่ 2 ธันวาคม 2530 นายเทิดพงษ์ ไชยนันทนั รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดตึกสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยชาย ซึ่งเป็นตึกที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสเฉลิมพระขนมพรรษา ครบ 60 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเตช รัชกาลที่ 9 โดยมีนายแพทย์ธวัชชัย วานิชกร เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล
 
วันที่ 1 กันยายน 2537 โรงพยาบาลพนมสารคามได้ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง
 
ปี พ.ศ.2540 นายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมสารคาม ได้ดำเนินการหาวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาล และได้รับงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างคันดินป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลจำนวน 11,200,000 บาท (สิบเอ็ดล้านสองแสนบาทถ้วน) จนสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ปี พ.ศ.2552 คุณเกรียงศักดิ์ คุณศิริวรรณ อิสสระชัยยศ แจ้งความประสงค์จะบริจาคอาคารไตเทียมและอาคารคลอด-ผู้ป่วยใน 4 ชั้น ในวงเงินประมาณ 60 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างเสร็จผู้บริจาคจึงมอบอาคารไตเทียมพร้อมเครื่องฟอกไต 6 เครื่อง ให้โรงพยาบาลพนมสารคามและเปิดดำเนินการครั้งแรก วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ต่อมาจึงมอบอาคารคลอด-ผู้ป่วยใน 4 ชั้น (อาคารอิสสระชัยยศ) ซึ่งเปิดดำเนินการ วันที่ 18 เมษายน 2557 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 15 กันยายน 2557
 
ปี พ.ศ.2553 โรงพยาบาลพนมสารคามได้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ (ผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ) คสล.5 ชั้น มูลค่า 146,700,000 บาท(หนึ่งร้อยสี่สิบหกล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน) เริ่มก่อสร้าง เมื่อ 2 มีนาคม 2555 แล้วเสร็จ 31 มีนาคม 2558
 
ปี พ.ศ.2555 โรงพยาบาลพนมสารคามได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน 114 เตียง คสล. 5 ชั้น มูลค่า 54,926,400 บาท (ห้าสิบสี่ล้านเก้าแสนสองหมื่นหกพันเก้าร้อยบาทถ้วน) และเริ่มก่อสร้างวันที่ 30 มกราคม 2556 แล้วเสร็จวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557
 
หลังจากการก่อสร้างอาคารทั้งสองแล้วเสร็จแพทย์หญิงอุไร ศิลปกิจโกศล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลและคณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพนมสารคามได้ร่วมกันจัดงานทอดผ้าป่ามหากุศลเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 วัตถุประสงค์เพื่อสมทบทุนในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์และปรับปรุงตึกพิเศษหลังเก่า โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญโญ)เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามรวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคมได้ยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 17,411,999 บาท (สิบเจ็ดล้านสี่แสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน)
 
ทั้งสองอาคารได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ในวโรกาสพระชนมายุครบ60 พรรษา ชื่ออาคารเฉลิมพระเกียรติ (อาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ) และอาคารเฉลิมพระเกียรติ (อาคารหอผู้ป่วยใน) ซึ่งเปิดดำเนินการวันที่ 26 ตุลาคม 2558 และ 11 ธันวาคม 2558 ตามลำดับ
 
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ปรับปรุงตึกพิเศษหลังเก่าซึ่งมีอายุการใช้งานมานานกว่า 35 ปี ด้วยเงินบำรุงและเงินบริจาคของโรงพยาบาลเป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาทหลังปรับปรุงแล้วเสร็จ คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลร่วมกันตั้งชื่อ "อาคารประพันธ์ สุนทรมนูญศิลป์"
 
วันที่ 14 กันยายน 2559 จัดตั้งโรงงานขาเทียมพระราชทานโดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยให้บริการผู้ป่วยที่ขาพิการทั้งคนไทยและต่างด้าวในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง

วันที่ 19 เมษายน 2560 เปิดให้บริการอาคารกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ซึ่งได้ปรับปรุงจากตึกสงฆ์อาพาธเดิมที่มีการใช้งานมากว่า 30 ปี ด้วยเงินบำรุงประมาณกว่า 5 ล้านบาท
 
นอกจากอาคารบริการผู้ป่วย โรงพยาบาลได้ก่อสร้างอาคารแฟลตพักแพทย์ 12 ยูนิต (4 ชั้น) พื้นที่ใช้สอย 1,536 ตารางเมตรมูลค่า 17,800,000 บาทในปี พ.ศ.2560 และอาคารพักเจ้าหน้าที่ 48 ห้อง(4 ชั้น) พื้นที่ใช้สอย 1,823 ตารางเมตร มูลค่า18,900,000 บาท ในปี 2562
 
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "อาคารเฉลิมพระเกียรติ (อาคารผู้ป่วยนอก - อุบัติเหตุ) และอาคารเฉลิมพระเกียรติ (อาคารหอผู้ป่วยใน)" ณ โรงพยาบาลพนมสารคามจังหวัดฉะเชิงเทรา
 
วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เปิดให้บริการศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน (Wellness Center)และศูนย์ฟิตเนสในโรงพยาบาลขึ้น เพื่อให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่มคนวัยทำงาน

 ปัจจุบันโรงพยาบาลพนมสารคามได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย (M2) ขนาด 120 เตียง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ซึ่งมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ครบ 5 สาขาหลัก (สูตินรีเวชกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรมและออร์โธปีดิกส์ รวมทั้งมีหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตทั้งผู้ใหญ่และทารกแรกเกิด) ตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยทั้งในเขตพนมสารคามและอำเภอใกล้เคียง ได้รับบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจลดการส่งต่อ

 
ทำเนียบผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมสารคาม
พ.ศ.2523 -2529 นายแพทย์บรรพต ต้นธีวงศ์
พ.ศ.2529 (3 เดือน) นายแพทย์วิทยา คุณานุกรกุล
พ.ศ.2529 - 2535 นายแพทย์ธวัชชัย วานิชกร
พ.ศ.2535 - 2538 นายแพทย์สำเริง ไตรติลานันท์
พ.ศ.2538 - 2539 นายแพทย์สมคิด วิระเทพสุภรณ์ (รักษาการ)
ทันตแพทย์สมชาย วัฒนากรแก้ว  (รักษาการ)
พ.ศ.2539 - 2554 นายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์
พ.ศ.2554 - ปัจจุบัน แพทย์หญิงอุไร ศิลปกิจโกศล