ประวัติโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 600 เตียง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่เลขที่ 212 ถนนแจ้งสนิท อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ 390 ไร่ 98 ตารางวา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลโรคจิต และพันโทนายแพทย์นิตย์ เวชชวิศิษฐ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์สมัยนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าภาคอีสานมีอาณาเขตกว้างขวาง มีจำนวนประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ยังขาดบริการทางด้านสุขภาพจิต จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลโรคจิตขึ้น และเปิดบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางจิตเวช ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม 2490 เรียกชื่อว่า "โรงพยาบาลโรคจิตต์ ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี" สังกัดกองโรงพยาบาลโรคจิต (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกองสุขภาพจิต) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
เรือนผู้ป่วยสมัยก่อนศาลาเยี่ยม
ระยะแรกใช้เรือนไม้ชั้นเดียวเป็นศาลาคนไข้นอก ต่อมาสถานที่เริ่มคับแคบ ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติงาน
จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2493 และมีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2493 ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 21 เป็นวันกำเนิด โรงพยาบาลเพื่อให้เป็นมงคลนามและสอดคล้องกับต้นโพธิ์ที่นำมาจากประเทศศรีลังกา มาปลูกไว้ที่วัดสุปัฏวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์" ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 จนถึงปัจจุบัน
ป้ายโรงพยาบาลสมัยก่อนรถโรงพยาบาลสมัยก่อน
ต่อมาปี 2535 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2535 ให้โอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วน ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ไปเป็นของสถาบันสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 45 วันที่ 9 เมษายน 2535 และกำหนดให้โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ สังกัดศูนย์สุขภาพจิต 3 สถาบันสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 110 ตอนที่ 22 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536
สภาพแวดล้อมปัจจุบัน ภายในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
ปี 2537 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) 2537 ให้โอนอำนาจหน้าที่และ
กิจการบริหารของสถาบัน สุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่มที่ 11 ตอนที่ 53 ก. ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2537 มีหน้าที่หลักในการพัฒนาวิชาการด้านสุขภาพจิตและปัญญาอ่อนโดยครบวงจร เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของประเทศ