ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

Buddhachinaraj Hospital

Logo Thumb preview

ที่อยู่/ติดต่อ
90 ถนน ศรีธรรมไตรปิฎก อำเภอ เมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก 65000

*ข้อมูลรวบรวมโดย Healthserv.net เพื่ออำนวยความสะดวกเบื้องต้นให้กับผู้ชมที่ต้องการข้อมูลสถานพยาบาล ไม่ใช่เว็บทางการของรพ./สถานพยาบาลแต่อย่างใด แนะนำให้ไปยังเว็บไซต์/เฟซบุ๊ค หรือช่องทางติดต่อของรพ./สถานพยาบาลนั้นๆ โดยตรง

ข้อมูล/ประกาศ/บริการ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

 

Facebook โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

 
ประวัติโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พ.อ. หลวงยุทธสารประสิทธ์ (เมี้ยน โรหิตเสรณี) ข้าหลวงประจำจังหวัดพิษณุโลกร่วมกับพระยาสุราษฎร์ธานีศรีเกษตรนิคม และนายแพทย์เกิด ธนะชาติ ร่วมดำริจะสร้างโรงพยาบาลขึ้นในจังหวัดโดยติดต่อกรมสาธารณสุขซึ่งขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยของบประมาณสร้างโรงพยาบาล ประมูลทำสัญญาก่อสร้างในสมัยที่ พ.อ.พระศรีสงคราม (ศรี สุขะวาที) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ซึ่งถือเป็นวันเกิดโรงพยาบาล) บริเวณโรงเรียนครูมูลกสิกรรมเดิม ณ ฝั่งตะวันออกของลำน้ำน่าน ที่เรียกว่าสระแก้ว (บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งชุมชนไพร่พลของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งศรีสัตนาคนหุต เมื่อครั้งเสด็จมาตีเมืองพิษณุโลก) ขณะดำเนินการก่อสร้างทางจังหวัดได้ติดต่อนายแพทย์เบนทูล บุญอิต อดีตอาจารย์ ศัลยศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชลล์แมนมาเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญา (วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔) เนื่องจากปัญหาผลกระทบกรณีพิพาทระหว่างไทย อินโดจีน ฝรั่งเศส นายแพทย์เบนทูล บุญอิตจึงได้ติดต่อขอเช่าสถานที่พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ของโรงพยาบาลเชลล์แมน (ซึ่งปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากขาดแพทย์) เปิดรักษาผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๘๔ ในราคาเดือนละ ๑๐๐ บาท เริ่มแรกมีข้าราชการสามัญ ๙ คน วิสามัญ ๑๖ คน (แพทย์ ๒ คน พยาบาล ๕ คน)
 
เมื่อโรงพยาบาลพุทธชินราชก่อสร้างเสร็จ ส่งมอบให้จังหวัดเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นายแพทย์เบนทูล บุญอิต พร้อมเจ้าหน้าที่กลับมาดำเนินการที่โรงพยาบาลของจังหวัด โดยเปิดดำเนินการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ และมีนางผกา บุญอิตเป็นหัวหน้าพยาบาล มีเนื้อที่ ๑๖๔ ไร่ ๑ งาน ๒๕ ตารางวา ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๙๐ ถนนศรีธรรมไตรปิฎก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก อาคารโรงพยาบาลที่ก่อสร้างรุ่นแรกมี ๙ หลัง คือ ตึกอำนวยการรับตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งมีที่นั่งรอตรวจประมาณ ๕๐ คน (รื้อถอนในปี พ.ศ. ๒๕๒๓), เรือนคนไข้ชาย ๒๕ เตียง, เรือนคนไข้หญิง ๒๕ เตียง, ตึก ผ่าตัดอานันทมหิดล ๑ เตียง (รื้อถอนในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อก่อสร้างอาคารรังสีและผ่าตัด), โรงซักฟอก, โรงครัว, โรงเก็บศพ, เรือนแถวสิบห้องสำหรับเจ้าหน้าที่พัก และบ้านพักผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง (รื้อถอนเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๘) งบประมาณค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๖๔,๐๐๐ บาท (เงินงบประมาณ ๕๔,๐๐๐ บาท และเงินพระราชทาน ๑๐,๐๐๐ บาท) บ้านพักครูเก่าใช้เป็นที่พักของแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ
 
โรงพยาบาลแต่เดิมชื่อโรงพยาบาลพิษณุโลก แต่ พ.อ.หลวงยุทธสารประสิทธ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดคนเดิมที่ดำริให้จัดตั้งโรงพยาบาลได้ขอให้เพิ่มคำว่า "พุทธชินราช" ขึ้นนำหน้าเพื่อเป็นสิริมงคล ดังนั้น โรงพยาบาลแห่งนี้จึงมีชื่อเป็นทางการว่า "โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก" อักษรย่อของโรงพยาบาลจึงเป็น พ.พ. และได้เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ โดย พ.ต. นายแพทย์นิตย์ เวชชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด
 
 
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ นายแพทย์เบนทูล บุญอิต กับคุณผกา บุญอิต ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนพยาบาลพุทธชินราชได้สำเร็จภายใต้การสนับสนุนของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกที่เกิดขึ้นในส่วนภูมิภาค
 
ปัจจุบันโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เป็นโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลมหาราชแห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้บริการด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทุกสาขาวิชาแพทย์ในระดับตติยภูมิ รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพ ส่งเสริมสุขภาพและการควบคุม ป้องกันโรค ทั้งยังเป็นโรงพยาบาลในโครงการโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรทางด้านสาธารณสุขต่าง ๆ ของกระทรวง สาธารณสุขและของสถาบันระดับอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนรับนักศึกษาแพทย์จากต่างประเทศที่สนใจเข้าอบรมอีกด้วย
 
นอกจากนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ และวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ กำหนดให้โรงพยาบาลพุทธชินราชซึ่งสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษาแพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โดยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งได้จัดตั้งขึ้นด้วยมติคณะรัฐมนตรีครั้งเดียวกันด้วยข้อตกลงเรื่องความร่วมมือในการผลิตแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและทบวงมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ โรงพยาบาลพุทธชินราชจึงได้เริ่มรับนิสิตแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นรุ่นแรก ณ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ มีบัณฑิตแพทย์สำเร็จการศึกษาแล้ว ๑๑ รุ่น จำนวน ๕๘๕ คน