ประวัติโรงพยาบาลพุทธโสธร
ชื่อเดิมคือ โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของเม่น้ำบางปะกง ติดกับถนนมรุพงษ์ ห่างจากศาลากลางปัจจุบัน ประมาณ 1 กิโลเมตร เริ่มสร้างบนเนื้อที่ประมาณ 27 ไร่ แต่เดิมมีฐานะเป็นสุขศาลาชั้นหนึ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ.2478 ในสมัยที่พระยาพิพัทธ์ภูมิเศษเป็นนายกเทศมนตรี โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการจังหวัด และกรรมการอำเภอ พร้อมใจกันชักชวนคหบดี และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายร่วมใจกันบริจาคทรัพย์ก่อสร้างขึ้นเป็นสุขศาลาชั้นหนึ่ง สังกัดอยู่กับเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา พ.ศ.2482 เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา สังกัดเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ต่อมาปี พ.ศ.2493 กรมการแพทย์ได้รับโอนกิจการของโรงพยาบาลแห่งนี้มาดำเนินการเอง และในปี พ.ศ. 2517 ก็ได้โอนมาสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
โดยแรกเริ่ม มีเรือนคนไข้ 2 หลัง เป็นเรือนไม้ คือ เรือนคนไข้ใน และเรือนคนไข้นอก ภายในมีห้องเอกซเรย์และห้องผ่าตัดใหญ่รวมอยู่ด้วยทั้งหมด รับผู้ป่วยได้ 25 เตียง ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพุทธโสธร” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554 เพื่อเป็นการเชิดชูองค์หลวงพ่อพุทธโสธร ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา
มีเนื้อที่ปัจจุบันประมาณ 32 ไร่ ขนาดจำนวน 561 เตียง (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550) เป็นสถานบริการตติยภูมิ ระดับ 3.1 ผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล จาก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) : สรพ. [The Healthcare Accreditation Institute (Public Organization) : HAI]
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2557 และผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล RE-Accreditation ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2561
วิสัยทัศน์โรงพยาบาล : เป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำที่มีมาตรฐานและความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคภายในปี 2565
พันธกิจ :
1.เป็นโรงพยาบาลที่บริการแบบองค์รวมที่ครอบคลุมด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรครักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพ
2.จัดบริการทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพเชื่อโยงทั้งเครือข่าย
3.เป็นแหล่งผลิต ร่วมผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข