ประวัติความเป็นมา
“โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร” มีจุดเริ่มต้นจาก “ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ" เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งถือกำเนิดณวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๗ ต่อมา ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ” และเริ่มให้บริการการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนใน พ.ศ. ๒๕๔๕
ด้วยเหตุที่เป็นสถาบันให้บริการและวิจัยด้านสุขภาพ สถาบันฯ จึงสร้างและประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงเป็น “บิดาแห่งการแพทย์ไทย” และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ผู้ทรงมีคุณูปการต่อการพยาบาลและสาธารณสุขของไทย ณ ด้านหน้าอาคารสถาบันฯ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๖ ทั้งนี้ นับเป็นสิริมงคลแก่ชาวสถาบัน และมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับพระเมตตาคุณจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ พระราชานุสาวรีย์
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารฯ ว่า “อาคารสิริธร” พร้อมพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “ส.ธ.” กำกับ ทั้งเสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารและเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
ในพ.ศ. ๒๕๔๘ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร" เพื่อดำเนินพันธกิจอย่างสมบูรณ์ ในการให้บริการสุขภาพแก่นิสิต ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และประชาชน ในเขตภาคเหนือตอนล่าง
ก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งคือ การรวม "โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร" ให้อยู่ในความดูแลของคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบการเรียนการสอนนิสิตแพทย์และการให้บริการสุขภาพ สอดคล้องและสนับสนุนกัน ทั้งทำให้สามารถใช้โรงพยาบาลเป็นศูนย์แพทย์หลัก สำหรับการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ ระดับชั้นคลินิกได้อย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ ดังได้ดำเนินการมาถึงปัจจุบัน