ประวัติโรงพยาบาลระนอง
โรงพยาบาลระนอง เป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีอายุมากกว่า 80 ปีแล้ว ประวัติของโรงพยาบาลระนองนี้ได้จากคำบอกเล่าและความทรงจำของคนเก่าๆที่เคยอยู่โรงพยาบาลนี้มานาน บุคคลสำคัญที่ให้ประวัติของโรงพยาบาลระนองอย่างมาก ก็คือ นายแพทย์เกษม วนะภูติ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง (ปี 2499-2526) ผู้ซึ่งได้ดินทางมาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 และอยู่รับราชการจนเกษียณอายุเมื่อปี 2526 รวมเวลาที่ท่านทำงานอยู่โรงพยาบาลนี้ถึง 32 ปี อีกท่านหนึ่ง ก็คือ นายแพทย์เสม พริ้มพวงแก้ว แพทย์อาวุโส และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เมื่อคราวที่ท่านเดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลระนองท่านได้ให้ประวัติเพิ่มเติมของโรงพยาบาลระนองไว้มาก
โรงพยาบาลระนองก่อตั้งขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวไว้เมื่อคราวเดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลระนอง ว่าโรงพยาบาลระนองแห่งนี้สร้างขึ้นในราวปลายรัชกาลที่ 5 หรือก่อน พ.ศ.2453 โรงพยาบาลระนองระยะเริ่มแรก ตัวอาคารเป็นเรือนไม้หลังคามุงจาก ตั้งอยู่ที่ถนนชาติเฉลิม ริมคลองสะพานยูง มีเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา
ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป เย็บแผล ผ่าตัดเล็ก หากมีผู้ป่วยหนักหรือผ่าตัดยุ่งยาก ประชาชนจะข้ามไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของพม่าที่เกาะสอง หรือ วิคตอเรียพอยด์ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในการปกครองของอังกฤษ มีความเจริญมากกว่า และมีแพทย์ชาวอังกฤษอยู่ประจำงบประมาณ การดำเนินการโรงพยาบาลระนอง ในสมัยนั้นได้จากการหักเปอร์เซ็นต์ข้าวสาร และน้ำมันก๊าดที่ส่งเข้ามาจังหวัดระนอง
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลระนอง จนถึงปี พ.ศ.2462 ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลระนองไม่ทราบมากนัก โดยเฉพาะก่อนปีพ.ศ.2458-2459 ไม่สามารถค้นประวัติได้ว่าท่านใดได้มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล สำหรับปี พ.ศ.2458-2459 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนองคือ ขุนกำจัดโรคนิกร และปี พ.ศ.2460-2461 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง คือ ขุนโสภณเวชศาสตร์ ท่านทั้งสองรับราชการอยู่ท่านละ 2 ปี จึงได้ลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพส่วนตัว ทำเหมืองแร่
พ.ศ.2462 หลวงอาทร ธุระสุข ได้มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแทนขุนโสภณเวชศาสตร์ การเดินทางในสมัยนั้นทุรกันดารและลำบากมาก เล่ากันว่าตอนที่หลวงอาทรธุระสุข เดินทางมารับราชการที่โรงพยาบาลระนองนั้น ท่านได้เดินทางมาโดยทางเรือ อ้อมแหลมมลายูมาขึ้นบกที่ปากน้ำระนอง และเวลาจะเดินทางไปกรุงเทพก็ต้องนั่งเรือจากปากน้ำระนองไปตำบลทับหลีก่อน จากทับหลีจึงเดินทางโดยทางเท้าตามทางเดินในป่าพักค้างแรมกลางป่า 1 คืน จึงถึงชุมพร แล้วค่อยเดินทางโดยรถไฟเข้ากรุงเทพ การเดินทางภายในจังหวัดระนองนั้น เนื่องจากสภาพทั่วไปนั้นยังเป็นป่า มีเฉพาะทางเดินเท้า ไม่มีถนน ไม่มีสะพาน ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น เสือ หมี งู เป็นต้น จึงนับได้ว่าการคมนาคมในสมัยนั้นยากลำบากทุรกันดาร และอันตรายมาก
หลวงอาทร ธุระสุข ทำงานเป็นแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลระนองเพียงคนเดียว นานถึง 30 ปี และปี พ.ศ.2492 กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ส่ง นายแพทย์กมล สินธวานนท์ (อดีตอธิบดีกรมการแพทย์) มาช่วยงานที่โรงพยาบาลระนอง โรงพยาบาลระนองในขณะนั้นจึงคึกคักขึ้น เริ่มมีการผ่าตัดมากขึ้น เพราะได้แพทย์ที่ขยันและสามารถมาช่วยงานเพิ่มอีกคนหนึ่ง การผ่าตัดในสมัยนั้นแตกต่างจากสมัยนี้มากต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น ดัดแปลงแก้ไข้ใช้แทนอย่างเช่น เครื่องนึ่ง ก็ใช้ของเหลือใช้จากทหารอเมริกัน 2 ตัว เป็นชนิดใช้น้ำมันเบนซินเครื่องมือผ่าตัดบางอย่างก็ใช้ช่างในตลาดระนองช่วยทำขึ้น (ร้านขายทองเสี่ยงติ้น) เตียงผ่าตัดก็เป็นเตียงไม้ธรรมดา ขนาดกว้าง 1½ ฟุต ยาว 5 ฟุต และสูงขนาดเตียงผ่าตัดทั่วไป ซึ่งก็สั่งทำในระนองนี่เอง และเตียงนี้ก็ได้ใช้ติดต่อกันมากอีกหลายปี แสงสว่างที่ใช้ช่วยในการผ่าตัด
ก็ใช้ตะเกียงเจ้าพายุและไฟฉาย
นายแพทย์กมล สินธวานนท์ ได้ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลระนองนี้จนถึงปี พ.ศ.2494 จึงได้ขอย้ายไปโรงพยาบาลหญิง (โรงพยาบาลราชวิถีในปัจจุบัน) ถึงแม้ว่านายแพทย์กมล สินธวานนท์ จะได้ทำงานอยู่โรงพยาบาลระนองเป็นระยะเวลาเพียง 3 ปี แต่ท่านก็ได้สร้างความดีและความประทับใจไว้ที่ระนองมาก ชาวระนองจึงได้จัดเลี้ยงส่ง นับเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของจังหวัดในขณะนั้น
ปี พ.ศ.2494 ที่นายแพทย์กมล สินธวานนท์ ย้ายไปโรงพยาบาลหญิงนั้น กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ส่งแพทย์ช่วยงานที่โรงพยาบาลระนอง 2 ท่าน คือ นายแพทย์เกษม วนะภูติ และ แพทย์หญิงอาณา วนะภูติ ในขณะนั้นการเดินทางมาจังหวัดระนอง ก็ยังไม่นับว่ายากลำบากและทุรกันดารอยู่มากเช่นกัน นายแพทย์เกษม วนะภูติ ท่านเล่าว่าตัวท่านพร้อมด้วยแพทย์หญิงอาณา วนะภูติ ภรรยาออกเดินทางจากกรุงเทพโดยรถไฟ มาลงที่ชุมพร จากนั้นอาศัยนั่งรถบรรทุก 6 ล้อ มาที่กระบุรี จากกระบุรีก็ลงเรือมาขึ้นที่ปากน้ำระนองและนั่งเรือแจวต่อมาที่ด่าน จากนั้นจึงนั่งรถสองแถวมาตัวจังหวัดระนอง ท่านออกเดินทางจากกรุงเทพ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2494 และมาถึงจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เวลา 20.00 น. เศษ
สภาพของโรงพยาบาลระนอง เมื่อปี พ.ศ.2494 โรงพยาบาลเป็นเรือนไม้ หลังคามุงกระเบื้องประกอบด้วยอาคารต่างๆ ดังนี้
- ตึกตรวจโรค เป็นตึกชั้นเดียว ขนาด 6 x 6 เมตร ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร ใช้เป็นห้องตรวจโรค ห้องจ่ายยา ห้องผ่าตัด และห้องนึ่ง
- เรือนคนไข้ 1 สร้างประมาณปี พ.ศ.2480 เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงมีหน้ามุข และระเบียงด้านหน้า ภายในเป็นห้องโถงจุคนไข้ประมาณ 10 เตียง
- เรือนคนไข้ 2,3 สร้างประมาณปี พ.ศ.2470 เศษ เป็นเรือนแถวชั้นเดียว ใต้ถุนสูงแต่ละเรือนมีห้องพักคนไข้ 6 ห้อง ด้านหน้ามีระเบียงยาวเชื่อมต่อกัน มีทางขึ้นด้านหน้าทางเดียว
- เรือนทันตกรรม สร้างปี พ.ศ.2480 เศษ เป็นเรือนไม้เตี้ย ใช้เป็นที่บริการทางด้านทันตกรรม
- โรงครัว เป็นเรือนไม้หลังคามุงจาก พื้นเป็นดิน
- เรือนพักแพทย์ 1 หลัง
- เรือนพักพยาบาล 1 หลัง
สภาพของอาคารต่างๆ ในเวลานั้นเก่าและทรุดโทรมมาก ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเพียง 13 คน ประกอบด้วยแพทย์ 3 คน (หลวงอาทร-ธุระสุข,นายแพทย์เกษม วนะภูติ และแพทย์หญิงอาณา วนะภูติ) พยาบาล 1 คน (นางสมทรง ทองใบ) นอกนั้นเป็นเพียงพนักงานผู้ช่วยและคนงาน
สถานที่ตั้งของโรงพยาบาลระนอง ที่ถนนชาติเฉลิมนี้ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 15 ไร่เศษ ดูค่อนข้างจะคับแคบไป สำหรับการขยายงานในอนาคตอาคารเรือนต่างๆ ก็สร้างมานาน อยู่ในสภาพทรุดโทรมมากแล้วประกอบกับสถานที่ตั้งโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ต่ำ ในหน้าฝนน้ำมักจะท่วมเสมอบางครั้งท่วมถึง 1 เมตรเศษ ทำให้เป็นที่ลำบากแก่คนไข้ บางครั้งโรงพยาบาลต้องหยุดตรวจผู้ป่วยนอก หลวงอาทร ธุระสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนองขณะนั้นมีความคิดว่าน่าจะขยับขยายหาที่ตั้งโรงพยาบาลแห่งใหม่จึงได้เริ่มคิดที่จะมีโครงการย้ายโรงพยาบาลระนองไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ได้มองหาที่ดิน และมาได้ที่ดินที่ถนนกำลังทรัพย์ (ที่ตั้งของโรงพยาบาลระนองปัจจุบัน) เป็นที่ดินประทานบัตรเหมืองแร่หมดอายุแล้วน้ำไม่ท่วมและสามารถขยายต่อไปในอนาคตได้
โครงการย้ายโรงพยาบาลระนอง มีตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2494 ได้มีการดำเนินการเรื่อยมา
ปี 2495 สร้างตึกผ่าตัด ตามแบบกรมโยธา (ปัจจุบันรื้อแล้ว เพื่อสร้างตึกอำนวยการใหม่ ปี 2519)
ปี 2497 สร้างตึกเอ็กซเรย์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นตึกพยาธิวิทยา (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อสร้างเป็นอาคารชันสูตร4ชั้น)
บ้านพักชั้นโท 1 หลัง (บ้านพักผู้อำนวยการปัจจุบัน)
บ้านพักชั้นตรี 1 หลัง (บ้านพักแพทย์ใช้ทุน)ปัจจุบันปัจจุบันรื้อถอนเพื่อสร้างศูนย์ส่งเสริมสุขภาพธารน้ำแร่
เรือนแถวพยาบาล 6 ห้อง 1 หลัง ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อก่อสร้างอาคารซ่อมบำรุง 2 ชั้น
โรงครัว 1 หลัง (รื้อแล้ว)
โรงเก็บศพ 1 หลัง (รื้อแล้ว)
ตึกอำนวยการ 1 หลัง (รุ่น 15 จังหวัด) (รื้อแล้ว เพื่อสร้างตึกอำนวยการใหม่ ปี 2519)
ปี 2498 สร้างตึกคนไข้ 1 หลัง (ตึก ศัลยกรรมชายเก่า) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคลินิกพิเศษ
เมื่อปี พ.ศ.2498 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมจังหวัดระนอง ตามกำหนดการจะไปตรวจเยี่ยมที่ปากน้ำระนอง ซึ่งจะต้องผ่านหน้าโรงพยาบาลระนอง แต่มิได้มีกำหนดการจะแวะเยี่ยมโรงพยาบาลระนองด้วย หลวงอาทร ธุระสุข จึงให้ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลระนองเข้าแถวรอรับที่หน้าโรงพยาบาล เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับผ่านมาถึงหน้าโรงพยาบาลระนอง จึงได้อนุมัติสั่งจ่ายเงินกองสลากกินแบ่งให้จำนวน 3 แสนบาท เพื่อไว้ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยให้โรงพยาบาล แต่เงินจำนวนดังกล่าวยังไม่พอ นางระพีพรรณ พรหมวีระ ผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ได้ช่วยวิ่งของบประมาณจากกองสลากกินแบ่งเพิ่มมาให้อีก 115,000 บาท จึงทำให้งานก่อสร้างตึกผู้ป่วยโรงพยาบาล (ตึก 1คลินิกพิเศษปัจจุบัน) สามารถทำสำเร็จเรียบร้อยลงได้
ปลายปี พ.ศ.2499 อาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นแล้วเสร็จและพร้อมที่จะเปิดดำเนินการได้ ขาดแต่เพียงรั้ว และจะต้องถมที่บางส่วนของโรงพยาบาลที่ตั้งเท่านั้น ไฟฟ้าก็ใช้ของเทศบาลเมืองระนอง ประปาก็ขุดท่อ ตั้งห้องถังน้ำเสาไม้ สูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้ แล้วปล่อยไปตามท่อจ่ายไปที่ต่าง ๆ ในโรงพยาบาล ได้เริ่มดำเนินการขนย้ายของต่าง ๆ มายังโรงพยาบาลแห่งใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม 2499 และเปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2500
สถานที่ตั้งโรงพยาบาลระนองแห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่เลขที่ 11 ถนนกำลังทรัพย์ ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีเนื้อที่ 3 แปลง คือ
- แปลงที่ 1 เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา เป็นที่ดินประทานบัตรเหมืองแร่หมดอายุ และขุนนิคม-ประศาสน์ บริจาคให้ 12 ไร่
- แปลงที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ 97 ตารางวา ขุนนิคม-ประศาสน์ บริจาคให้
- แปลงที่ 3 เนื้อที่ 19 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา เป็นที่ดินประทานบัตรเหมืองแร่หมดอายุ
ที่ดินแปลง 1,2 อยู่ติดกันเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารปฏิบัติการรักษาพยาบาล ตึกผู้ป่วย และเป็นที่พักบางส่วน ที่ดินแปลงที่ 3 ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโดยมีถนนกำลังทรัพย์กั้นกลาง เป็นที่ตั้งของอาคารที่พักอาศัย, โรงซ่อมบำรุง โรงไฟฟ้า และถังเก็บน้ำ ด้านหลังอยู่ติดกับคลองหาดส้มแป้น
โรงพยาบาลระนอง ได้เจริญก้าวหน้ามาเรื่อย มีจำนวนผู้ป่วยมารักษาพยาบาลมากขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจรักษาทันสมัยขึ้น มีการก่อสร้างอาคารใหม่ ๆ อีกหลายหลัง และมีจำนวนแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันปี พ.ศ.2553 โรงพยาบาลระนอง จัดเป็นโรงพยาบาลทั่วไป มีขนาด 324 เตียง มีอาคารสำหรับปฏิบัติงานให้การรักษาพยาบาล จำนวน 14 อาคาร อาคารที่พักอาศัย 8 อาคาร และมีจำนวนบุคลากร ทั้งหมด 714 คน (เดือนมิถุนายน 2553) อาคารที่ทำการของโรงพยาบาลระนอง
- ตึกพยาธิวิทยา (ตึกเอ็กซเรย์เก่า) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2497 ราคา 350,000 บาท(ปัจจุบันถูกรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารชันสูตร 4 ชั้น)
- ตึกศัลยกรรมชาย (ตึก 1) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2498 ราคา 415,000 บาท(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคลินิกพิเศษ)
- ตึกอายุรกรรมหญิง (ตึก 2) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2506 ราคา 618,000 บาท (งบประมาณ 3 แสนบาท ส่วนเกินเป็นเงินบริจาค)(ปัจจุบันถูกรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม และผู้ป่วยพิเศษ)
- อาคารหน่วยพัสดุ ครุภัณฑ์ คลังยา และหน่วยผลิตยา (โรงซักฟอกเก่า) เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2507 ราคา 100,000 บาท (ปัจจุบันรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารเวชกรรม 6 ชั้น)
- โรงเก็บศพ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2507 ราคา 58,587 บาท
- ตึกสูติกรรม (ตึก 3) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2510 ราคา 759,000 บาท (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษ 60 ห้อง)
- ตึกกุมารเวชกรรม (ตึก 4) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2514 ราคา 520,000 บาท (ปัจจุบันถูกรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารชันสูตร 4 ชั้น)
- ตึกผ่าตัด อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2519 ราคา 750,000 บาท (ปัจจุบันเป็นกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู)
- ตึกจ่ายกลาง อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2519 ราคา 366,800 บาท (เงินบริจาค) (ปัจจุบันเป็นอาคารผลิตน้ำแร่ น้ำดื่ม)
- โรงอาหาร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2520 (ปัจจุบันเป็นแผนกงานยานพาหนะ)
- ตึกอำนวยการ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2520 ราคา 2,000,000 บาท แต่ต่อเติมครึ่งหลังในปี 2526 ราคา 2,280,000 บาท (ตึกอำนวยการปัจจุบัน)
- ตึกอายุรกรรมชาย (ตึก 5) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2520 ราคา 1,000,000 บาท( ปัจจุบันเป็นร้านค้าสวัสดิการและชั้นบนเป็นห้องประชุมอินทนิล)
- ตึก 6 อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2531 ราคา 2,000,000 บาท
- ตึกเอ็กซเรย์ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2521 ราคา 1,500,300 บาท
- โรงซักฟอกอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2521 ราคา 450,00 บาท
- โรงกำจัดน้ำเสีย อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ราคา 1,500,000 บาท
- ตึกอุบัติเหตุ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวราคา 5,000,000 บาท สร้าง 9 กรกฎาคม พ.ศ.2527-5พฤษภาคม พ.ศ.2528
- ตึกพร้อย สุวรรณสิงห์ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อปี 2528 มูลค่า 1,000,000 บาทเศษ(ปัจจุบันถูกรื้อถอนเพื่อสร้างอาคารชันสูตร 4 ชั้น)
- ศาลาพักญาติ สร้างปี พ.ศ.2533 ราคา 420,000 บาท ด้วยเงินงบประมาณในโครงการพัฒนาชนบทตามข้อเสนอของ ส.ส.นายทองหยด จิตตวีระ (ปัจจุบันเป็นหน่วยผลิตสมุนไพร)
- ตึกธนาชีวิต สร้างปี 2533 บริจาคโดย บริษัทสยามชัยอาหารสากล จำกัด งบประประมาณ 6,000,000บาท (หกล้านบาทถ้วน)
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบพระคุณ นายแพทย์เกษม วนะภูติ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง ที่ได้กรุณาเล่ารายละเอียดประวัติโรงพยาบาลระนอง และได้กรุณาตรวจทานบทความนี้